ไม่ควรมีใคร ‘ถูกสังหาร’ เพราะเป็น ‘คนข้ามเพศ’

หลังเกิดกรณี ‘หญิงข้ามเพศ’ ถูกฆาตกรรมอย่างทารุณที่พัทยา นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตการก่อเหตุ โดยในปี 2023 พบ ทั่วโลกมี ‘คนข้ามเพศ’ ถูกสังหาร 320 คน ขณะเดียวกันมีข้อมูลระบุด้วยว่า ‘หญิงข้ามเพศ’ เสี่ยงถูกกระทำความรุนแรงสูงกว่าคนทั่วไป 3 เท่า ‘ฟ้าสีรุ้งฯ’​ ทวงถาม ถึงเวลาไทยออก กม.ป้องกันอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) แล้วหรือยัง ?

จากกรณีพบศพหญิงข้ามเพศวัย 25 ปี เสียชีวิตในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งที่พัทยากลาง ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ในสภาพถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้ายทารุณ ภายหลังตำรวจแกะรอยจนทราบว่าผู้ก่อเหตุเป็นชายชาวจีนที่มาเปิดห้องพัก โดยผู้ต้องหารายนี้ยอมให้การรับสารภาพ เพราะจำนนต่อหลักฐาน

ตร.ยืนยันเหตุ “ฆ่า-ตัดอวัยวะ” ไม่เกี่ยวขบวนการค้ามนุษย์

สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย องค์กรที่ขับเคลื่อนงานเพื่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ให้ได้รับการปกป้อง คุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน เข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของรัฐอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม ออกแถลงการณ์เรียกร้องความยุติธรรมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

‘ฟ้าสีรุ้ง’ จี้รัฐ ป้องกัน ‘อาชญากรรมจากความเกลียดชัง’

โดยระบุว่า สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของหญิงข้ามเพศในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ผู้ถูกกระทำอย่างโหดร้ายจากความเกลียดชังและความรุนแรงที่ยังคงฝังรากลึกในสังคม 

ภาพ : Thai PBS News

“เหตุการณ์สะเทือนใจครั้งนี้ไม่ใช่เพียงโศกนาฏกรรมของบุคคลหนึ่ง แต่สะท้อนความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่คนข้ามเพศยังคงเผชิญอยู่ในทุกมิติของชีวิต แม้ประเทศไทยจะได้รับการยกย่องว่าเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ แต่ในความเป็นจริง เรายังขาดกฎหมายเฉพาะที่คุ้มครองคนข้ามเพศจากการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และอาชญากรรมจากความเกลียดชัง”

ทั้งนี้ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ยังเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้ภาครัฐดำเนินการดังต่อไปนี้

  • ออกกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยจากความเกลียดชังในประเทศไทย

  • พัฒนามาตรการป้องกันอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) ต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศอย่างจริงจัง

  • สร้างระบบการเข้าถึงความยุติธรรมที่ปลอดภัย เป็นมิตร และเท่าเทียมสำหรับผู้รอดชีวิตจากความรุนแรง

  • สนับสนุนการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติทางสังคมเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอย่างต่อเนื่อง

พร้อมย้ำว่า ชีวิตของคนข้ามเพศมีคุณค่า ศักดิ์ศรี และสิทธิที่เท่าเทียมกับทุกคนในสังคม ไม่มีใครควรถูกทำร้ายหรือพรากชีวิตเพียงเพราะตัวตนของพวกเขา และจะร่วมต่อสู้เพื่อโลกที่เท่าเทียม ปลอดภัย และเป็นธรรมสำหรับทุกชีวิต

ทั้งนี้ในแต่ละปี คนข้ามเพศนับร้อยชีวิตทั่วโลกยังคงต้องจบลงท่ามกลางความรุนแรงจากความเกลียดชังและการเลือกปฏิบัติที่ฝังรากลึกในโครงสร้างของสังคม ไม่ใช่แค่เหตุการณ์เฉพาะราย แต่เป็นผลลัพธ์ของระบบที่ผลักให้คนข้ามเพศให้ออกจากโอกาสในการศึกษา การจ้างงาน และการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ปลอดภัย ส่งผลให้ชีวิตของพวกเขาเปราะบางและถูกมองข้ามจากสังคมอย่างเงียบงัน

ล่าสุดจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นกับหญิงข้ามเพศในพัทยา เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ได้จัดทำ (ร่าง) หนังสือร้องเรียนและขอความเป็นธรรมจากสังคม เพื่อเสนอแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพิ่มโทษในคดีอาญาฐานความผิดต่อชีวิต ในกรณีที่มีแรงจูงใจกรณีอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crime) พร้อมเชิญชวนภาคีเครือข่ายที่เห็นร่วมกับข้อเสนอดังกล่าว ร่วมลงชื่อสนับสนุนเพื่อส่งต่อให้กับคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ต่อไป

ระบุ ปี 2023 ‘บุคคลข้ามเพศ’ ถูกสังหาร 320 คน ส่วนใหญ่เป็น ‘หญิงข้ามเพศ’

รายงาน Trans Murder Monitoring 2023 โดย Transgender Europe เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา มีการบันทึกการสังหารบุคคลข้ามเพศอย่างน้อย 320 คนใน 30 ประเทศทั่วโลก ผู้เสียชีวิตกว่า 96% เป็นหญิงข้ามเพศ หรือบุคคลหญิงข้ามเพศ โดยเฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศที่เป็นคนผิวสี ชนพื้นเมือง และชนชั้นแรงงาน ซึ่งต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติซ้อนทับหลายรูปแบบ ประเทศที่มีตัวเลขการสังหารสูงที่สุด ได้แก่ บราซิล เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสะท้อนว่าการเคลื่อนไหวทางสิทธิที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถลบล้างโครงสร้างความรุนแรงในสังคมได้อย่างแท้จริง

‘หญิงข้ามเพศ’ เสี่ยงถูกกระทำความรุนแรงสูงกว่าคนทั่วไป 3 เท่า

ส่วนประเทศไทย การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงต่อคนข้ามเพศยังขาดการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ หลายกรณีไม่ได้รับการสืบสวนอย่างจริงจัง และผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อยถูกระบุผิดเพศสภาพในเอกสารทางราชการ  แต่ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า มีผู้หญิง เด็ก และหญิงข้ามเพศถูกกระทำความรุนแรงมากกว่า 30,000 คนต่อปี โดยหญิงข้ามเพศมีความเสี่ยงถูกกระทำความรุนแรงสูงกว่าประชากรทั่วไปถึง 3 เท่า

นอกจากนี้การศึกษาของโครงการ Out BKK ปี 2020 พบว่า กว่า 54% ของคนข้ามเพศเคยถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน 49% ประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และ 59% ไม่สามารถใช้คำนำหน้าชื่อตามอัตลักษณ์ทางเพศในเอกสารราชการได้ และยังขาดกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และขาดกฎหมายเฉพาะที่คุ้มครองบุคคลจากอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าคนข้ามเพศในไทยยังไม่ได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่จากโครงสร้างของรัฐ

‘ครูธัญ’ ตั้งข้อสังเกต ฆาตกรรมคนข้ามเพศ
อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง หรือ อาชญากรรมเชิงวัฒนธรรม

ขณะที่ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตจากการสอบสวนเบื้องต้น ตงหยวน ฟู่ ที่ยอมรับสารภาพผ่านล่ามว่าได้พบผู้เสียชีวิตที่ชายหาดพัทยาใต้ แลกเปลี่ยนการติดต่อทางวีแชท โดยเข้าใจว่าผู้ตายเป็นผู้หญิง จนกระทั่งนัดหมายเข้าห้องพักช่วงกลางคืน พร้อมตกลงค่าบริการ 8,000 บาท แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งเรื่องการคืนเงินจนมีการต่อสู้กัน นำไปสู่การฆาตกรรม

การเผยแพร่ข่าวดังกล่าวตลอดช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างกระแสสะเทือนขวัญในสังคม มีการแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ในประเด็นการค้าอวัยวะ หรือการกินอวัยวะมนุษย์ ซึ่งสะท้อนถึงความโหดเหี้ยมที่คล้ายกับคดีซีอุยในอดีต นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศ ยังได้หยิบยกประเด็นนี้ในฐานะที่อาจเข้าข่ายอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังด้วยเหตุแห่งเพศ

โดยนิยาม อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง ตามความหมายสากล เช่น FBI (Federal Bureau of Investigation, USA) และหน่วยงานสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (UN OHCHR) หมายถึง การกระทำผิดกฎหมายที่มีแรงจูงใจจากอคติหรือความเกลียดชังต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เนื่องจากคุณลักษณะเฉพาะ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ รสนิยมทางเพศ หรือความพิการ

การพิจารณาว่าเป็นอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังหรือไม่ ต้องมีเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่

  •  มีการกระทำผิดกฎหมาย (เช่น ฆาตกรรม ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่)

  • มีแรงจูงใจจากอคติต่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ

ธัญวัจน์ ยังย้ำว่า เบื้องต้นในคดีนี้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด ต้องรอผลการสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อยืนยันแรงจูงใจที่แท้จริง อีกทั้งยังมีหลายประเด็นที่ต้องสืบสวนต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง อาชญากรรมเชิงจิตวิปริต หรือความเชื่อผิด ๆ ทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการกินอวัยวะมนุษย์ สิ่งสำคัญที่สุดคือการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างรัดกุม การวิเคราะห์แรงจูงใจอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้เสียชีวิต

ในสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนและสะเทือนขวัญเช่นนี้ การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทีมสืบสวนถือว่ามีความท้าทายอย่างยิ่ง ขอส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อค้นหาความจริงและโทษตามกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่ว่าเหตุผลใด คนข้ามเพศ ก็ไม่ควรต้องตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : รู้ยัง! ตำรวจ สั่งปรับ Sex Worker ไม่ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active