เวทีระดมความเห็น ‘ข้ามเพศมีสุข’ ครั้งที่ 2 พบคนข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติสูงสุด 25% สปสช. ชี้ ‘ฮอร์โมน’ ครอบคลุมบัตรทอง ก้าวแรกก่อนขยายสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาวะ เพื่อความเท่าเทียมด้านสุขภาพ
วันนี้ (31 มี.ค. 68) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ 29 องค์กร จัดงานประชุมระดับชาติ สุขภาวะของคนข้ามเพศ (ข้ามเพศมีสุข) ครั้งที่ 2 เพื่อเปิดพื้นที่ให้ชุมชนคนข้ามเพศ นักกิจกรรม บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่สนใจ เข้าร่วมกว่า 400 คน ได้สะท้อนปัญหา ความต้องการของชุมชนคนข้ามเพศ และสร้างความเข้มแข็งให้คนข้ามเพศมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายด้านสุขภาวะที่ดีรอบด้าน

ณชเล บุญญาภิสมภาร ตัวแทนคณะทำงานจัดงานประชุมสุขภาวะของคนข้ามเพศ กล่าวว่า การประชุมระดับชาติข้ามเพศมีสุข ครั้งที่ 2 คือ ผลสำเร็จจากการทำงานหนักของทุกภาคส่วนที่ทำให้สังคมไทยมีความปลอดภัยกับคนข้ามเพศมากขึ้น โดยเป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเสียงของคนในชุมชนคนข้ามเพศ ภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม ภาครัฐและผู้ให้บริการสุขภาพกับคนข้ามเพศ ได้เรียนรู้และถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรง เพื่อนำไปพัฒนาบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศ และลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการเหล่านั้นให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในประเทศไทย จุดสำคัญของงานประชุมข้ามเพศมีสุขคือ การฉายภาพความร่วมมือจากภาคีที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อหนุนเสริมบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศให้เป็นบริการที่เข้าถึงได้ง่าย มีคุณภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ และครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย
“หากเราจะต้องสู้กับความอยุติธรรม หากเราจะต้องอยู่กับความเกลียดชัง เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวของเราเอง เราต้องทำงานร่วมกัน ที่สำคัญเราต้องทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน”
ณชเล บุญญาภิสมภาร

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. บอกว่า ภาพรวมเหมือนว่าสังคมไทยเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่บางส่วนยังคงต้องเผชิญกับการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เห็นชัดจากผลการศึกษาดัชนีการตรีตราผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี ในประเทศไทย ปี 2566 ของมูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี พบว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการเคยผ่านประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ 16% ซึ่งกลุ่มบุคคลข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติสูงสุด 25% รองลงมาคือพนักงานบริการทางเพศ 23% และผู้ใช้สารเสพติด 19% รวมทั้งในกลุ่มคนข้ามเพศมีความต้องการเปลี่ยนแปลงร่างกาย เพื่อให้เป็นเพศที่ตรงกับอัตลักษณ์ของตนเองโดยการใช้ฮอร์โมน ทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ฮอร์โมนเกินขนาด ใช้ผิดประเภท และใช้อย่างผิดวิธี โดยเฉพาะจากการซื้อหาตามท้องตลาด โดยไม่มีแพทย์แนะนำ
สสส. ยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย รับฟังเสียงและสะท้อนปัญหาความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม การถูกเลือกปฏิบัติ การมีสิทธิในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหนุนเสริมการทำงานของชุมชนคนข้ามเพศ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม ส่งผลให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. จัดสรรงบบัตรทองในปี 2568 เพื่อรองรับบริการด้านสุขภาพที่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ยาฮอร์โมนสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศได้สำเร็จ ซึ่งการประชุมสุขภาวะของคนข้ามเพศ ครั้งที่ 2 เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชนคนข้ามเพศ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายด้านสุขภาวะ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงบริการสุขภาพของตนเอง

เช่นเดียวกับ นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ย้ำว่า การดำเนินงานของ สปสช. มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อนำความเห็นต่าง ๆ มาขับเคลื่อนในระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งในรูปแบบของการให้ความรู้คุ้มครองสิทธิ์ ช่วยให้เข้าถึงสิทธิ์ และไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ์ โดยมี สสส. และภาคีเครือข่ายความหลากหลายทางเพศที่ขับเคลื่อนและรวบรวมความเห็นในแง่มุมสุขภาพและบริการ ให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนำมาเสนอเป็นสิทธิประโยชน์
“การมีสิทธิประโยชน์ครอบคลุมยาฮอร์โมนสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศที่กำลังดำเนินการอยู่ ไม่เพียงแต่ช่วยให้กลุ่มคนข้ามเพศสามารถเข้าถึงบริการยาฮอร์โมนได้อย่างปลอดภัย แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของผู้รับบริการด้านความรู้สึกภายใน ที่เกิดความเท่าเทียมด้านสุขภาพ และการเข้าถึงบริการที่ครอบคลุมสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม”
นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง

ขณะที่ นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า สช. เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ในมิติสร้างนำซ่อม โดยสิทธิด้านสุขภาพของคนข้ามเพศและเพศหลากหลาย เป็นส่วนหนึ่งของความเสมอภาคในระบบสาธารณสุขไทย จึงได้ขับเคลื่อนงานด้านบริการสุขภาวะคนข้ามเพศมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับ สสส. และภาคีส่งเสริมสุขภาวะคนข้ามเพศ จนเกิดข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย 3 ข้อ ได้แก่
- พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์การจัดบริการสำหรับคนข้ามเพศ
- สร้างมาตรฐานคุณภาพของบริการเพื่อสุขภาวะคนข้ามเพศ
- พัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้จัดบริการ ให้มีความละเอียดอ่อน เป็นมิตรสำหรับคนข้ามเพศ

งานประชุมระดับชาติ สุขภาวะของคนข้ามเพศ (ข้ามเพศมีสุข) ครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมพลัง และสนับสนุนความเข้มแข็งสำหรับกลุ่มประชากรข้ามเพศ ให้มีพื้นที่สะท้อนสถานการณ์ ความต้องการ ช่องว่างทางสังคมและนโยบายต่อการมีสุขภาวะของคนข้ามเพศ สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ และแนวทางการขับเคลื่อนงาน องค์ความรู้ เครื่องมือต่าง ๆ ระหว่างประชากรข้ามเพศ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้จัดบริการ ภาคนโยบาย ตลอดจนหน่วยงานระดับสากล สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการติดตามความก้าวหน้าทางนโยบายด้านบริการสุขภาพและสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการมีสุขภาวะของคนข้ามเพศ และสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณะในความสำคัญและจำเป็นของการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการเพื่อการมีสุขภาวะของคนข้ามเพศในประเทศไทย