สะท้อนบทบาทสื่อมีอิทธิพลทางความคิด ต่อการกำหนดนโยบาย สร้างสังคมที่โอบรับความแตกต่างหลากหลาย
วันนี้ (13 ธ.ค. 67) สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (RSAT) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม จัดพิธีมอบรางวัล “อรรธนารีศวร” ณ กระทรวงยุติธรรม โดยรางวัลนี้มุ่งหมายเพื่อยกย่องบุคคล หน่วยงาน และองค์กร ที่สนับสนุนและส่งเสริมการทำงานด้านความหลากหลายทางเพศในมิติต่าง ๆ ซึ่งรางวัลนี้เริ่มต้นจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2560 และเป็นรางวัลแรกในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว
โดยผู้ได้รับรางวัล “อรรธนารีศวร” ครั้งที่ 6 มีทั้งหมด 15 รางวัล ใน 8 ประเภท ได้แก่
รางวัล International Ardhanareeswara Award 2024
- ประเภทบุคคล: Ymania Brown (Executive Director of Transgender Europe (TGEU) และ Co-President of InterPride)
- ประเภทหน่วยงาน: Blue Diamond Society (BDS) ประเทศเนปาล
รางวัลด้านสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนหลากหลายทางเพศ
- ประเภทบุคคล: นายแพทย์ฐิติสันต์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา (ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี)
- ประเภทหน่วยงาน: โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
รางวัลด้านส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของชุมชนหลากหลายทางเพศ
- ประเภทบุคคล: ณชเล บุญญาภิสมภาร (รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และประธานมูลนิธิซิสเตอร์)
- ประเภทหน่วยงานภาคธุรกิจ: บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
รางวัลด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งและศักยภาพของชุมชนหลากหลายทางเพศ
- ประเภทบุคคล: สุรางค์ จันทร์แย้ม (ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ)
- ประเภทหน่วยงาน: กลุ่มหอแก้วสีรุ้ง จังหวัดมุกดาหาร
รางวัลด้านสื่อสร้างสรรค์
- ประเภทสื่อชุมชน: Mr. Gay World Thailand
- ประเภทสื่อสังคมออนไลน์: The Active (Thai PBS)
- ประเภทสื่อสารมวลชน: รายการพุธทอล์ค พุธโทร (สถานีวิทยุ EFM 94)
รางวัลแห่งความมุ่งมั่น (Effort Recognition Award)
- สิบเอกเชาว์พิชาญ เตโช (นักจิตวิทยาชำนาญการ ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย)
รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Award)
- ประเภทบุคคล: ประเชิญ บุญสูงเนิน (เจินเจิน บุญสูงเนิน)
- ประเภทหน่วยงาน: มูลนิธิแคร์แมท จังหวัดเชียงใหม่
รางวัลมิตรภาพ (Friendship Award)
- ดร.พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ (ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย
ขณะที่ รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า Transmedia Journalism The Active เป็นตัวแทนรับรางวัล ระบุว่า เมื่อก่อนถ้าพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสื่อ อาจจะถูกตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ทำเรื่องปากท้องก่อน เรื่องการเมืองก่อน แต่จากประสบการณ์ในการทำงานเรื่องนี้ ถูกกดทับ ถูกเลือกปฏิบัติด้วยมิติทางเพศทั้งสิ้น เราจึงไม่ใช่แค่เสนอด้านที่สวยงามเท่านั้น แต่ทุกเสียงจะมีความหมาย และส่วนร่วมในการเสนอนโยบายภาคประชาชน ตามเป้าหมายของ The Active และอาจจะรวมถึงสื่อออนไลน์อื่น ๆ ด้วย
“ถือเป็นเรื่องดี ที่ทุกวันนี้สื่อเปิดกว้างมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เรายังต้องทำงานกันอีก ไม่ว่า พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ, ยกเลิก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี 2539, พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ, รวมไปถึงการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด เข้าถึงการทำแท้งปลอดภัย ดังนั้นเสียงของทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเพศใด ๆ หวังว่าจะได้ร่วมงานกันอีกครั้งในปีต่อๆ ไปครับ”
รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า
ในงานวันนี้ยังได้จัดประชุมเสวนาอรรธนารีศวร (Ardhanareeswara Forum) ขึ้นในประเด็น สิทธิในการรับรองเพศสภาพและการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของบุคคลข้ามเพศ ในเอเชียแปซิฟิก และบทบาทของ ไพรด์ รัฐ เอกชน พันธมิตรเพื่อความเท่าเทียมทางเพศอย่างยั่งยืน โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชน รัฐ เอกชน และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้าร่วม