คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และภาคีเครือข่าย เดินขบวนเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ต่อต้านการละเมิดสิทธิทางเพศในที่ทำงาน และข้อเสนอเพื่อคุณภาพชีวิตแรงงานที่ดีขึ้น
วันนี้ (8 มี.ค. 65) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และภาคีเครือข่าย ตัวแทนแรงงานจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสภาพแรงงานประเภทต่างๆ ประกาศ คำขวัญวันสตรีสากล 2565 “ผู้หญิงต้องข้ามผ่านทุกวิกฤต ต้องเข้าถึงสิทธิ์ เพื่อความมั่นคง” ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาหลายประการของสตรีที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
โดยรวมตัวกันเคลื่อนขบวน จากจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานการละเมิดสิทธิและความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง พร้อมข้อเสนอและข้อเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม รวม 9 ข้อ คือ
- รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา
- รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตร
ได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามที่จ่ายจริง 100% และให้เร่งรัดการจ่ายค่าจ้างวันลาคลอด 98 วันตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ครบถ้วน - รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน โดยเฉพาะการเลิกจ้างหญิงตั้งครรภ์และการล่วงละเมิดทางเพศให้เป็น คดีอาญา ที่ยอมความไม่ได้
- รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและไม่ถูกละเมิดสิทธิคนทำงานทุกรูปแบบ และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน เพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัดและค่าจ้างที่เป็นธรรม
- รัฐต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบ รวมถึงหามาตรการปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานและเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมให้เป็นไปตามหลักการ การดำเนิน “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” (UNGP) ที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบัน แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
- รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท
- รัฐต้องกำหนดสัดส่วนที่เท่ากันระหว่าง หญิง-ชาย และเพศสภาพในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม
- รัฐต้องกำหนดให้ วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันหยุดตามประเพณี
- รัฐต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เป็นไปตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือ ราว 492 บาท
โดย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รองอธิบดีกรมกิจการสตรี เป็นตัวแทนนายกฯ เดินทางมารับหนังสือกับ ภาคีเครือข่าย และกล่าวว่าจะรับไปดำเนินการต่อไป
นอกจากข้อเรียกร้องด้านสิทธิแรงงานแล้ว ยังมีข้อเรียกร้องในมิติอื่นๆ ด้วย เช่น เครือข่ายอากาศสะอาด ได้ตอกย้ำถึงปัญหามลพิษทางอากาศที่ทำร้ายผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแท้งบุตร มะเร็งเต้านม และมะเร็งนรีเวช พร้อมย้ำถึงการเดินหน้าผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่รอการพิจารณาจากนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ด้วย