ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา ซัด กลุ่ม สส.โหวต “สวนมติ” ลงโทษ “ไชยามพวาน” มีวิธีคิดแบบเดิม ดึงมาตรฐานพรรคต่ำ ไม่แฟร์ต่อเหยื่อ-สังคม จี้ทุกพรรคการเมือง องค์กรต่าง ๆ ออกข้อกำหนดชัดเจนจัดการกลุ่มคนคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
วันนี้ (4 พ.ย.66) วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา เปิดเผยกับ The Active ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณี สส.พรรคก้าวไกล คุกคามทางเพศ โดยมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนบรรทัดฐานของสังคมที่มีต่อเรื่องเพศ 2 ชุดความคิด ได้แก่ วิธีคิดแบบเดิม คือ สังคมชายเป็นใหญ่ ผู้ชายมีเสรีภาพทางเพศ ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายระมัดระวังตัวเอง วิธีคิดแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศมานาน
แต่ตอนนี้สังคมโลก สังคมไทยเปลี่ยนไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่นำไปสู่อีกชุดความคิด คือ การสำนึกว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ต้องเคารพสิทธิส่วนบุคคล เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย มองเป็นความรุนแรง นั่นทำให้เมื่อผู้ถูกกระทำเจอกรณีการคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศ กล้าออกมาเผชิญหน้าเพื่อความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อผู้เสียหายออกมาพูด ก็อาจถูกตีตรา แต่ในยุคสมัยนี้ก็มีคนออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกกระทำคุกคามทางเพศมากขึ้น คนจำนวนมากเริ่มเห็นสำนึกแบบใหม่เกิดขึ้น
“เราอยู่ในช่วงรอยต่อความคิดแบบเก่าก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ และก็มีคนที่มีสำนึกแบบใหม่เช่นกัน ทำให้การเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายมีเพิ่มขึ้น เลยทำให้ประเด็นคุกคามทางเพศถูกพูดถึงมากขึ้นในตอนนี้”
วราภรณ์ แช่มสนิท
พรรคการเมือง ภาพสะท้อนสังคมเรื่องเพศ
สำหรับกรณีการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในภาคการเมืองนั้น ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศฯ ยอมรับว่า เป็นตัวสะท้อนสังคมได้เป็นอย่างดี อาจไม่ใช่แค่พรรคการเมือง เพราะทุกองค์กร ทุกวงการ ทุกอาชีพ ก็มีเรื่องการคุกคามทางเพศเพียงแต่ไม่เป็นข่าว ขณะเดียวกันถ้ามาโฟกัสเฉพาะกรณีพรรคก้าวไกล ซึ่งประกาศตัวเป็นพรรคที่เน้นอุดมการณ์ใหม่ หวังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเชิงโครงสร้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า สส.พรรคนี้มาจากกลุ่มคนที่หลากหลาย จึงไม่ต่างกับภาพสะท้อนสังคมที่มีทั้งหลักคิดแบบเก่า และคนที่มีสำนึกในบรรทัดฐานเรื่องเพศแบบใหม่ เคารพ สิทธิเนื้อตัวร่างกายคนอื่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพรรคก้าวไกลจึงเป็นภาพสะท้อนสังคมได้ดี
ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าพรรคก้าวไกลมีความพยายามดำเนินการจัดการปัญหา แม้ว่าช่วงแรกอาจล่าช้า ตั้งหลักไม่ได้ ไม่มีแนวปฏิบัติจัดการคุกคามทางเพศโดยเฉพาะ แต่พอตั้งหลักได้ ก็มีกระบวนการสอบสวนวินัย ที่ดำเนินการได้เป็นมาตรฐาน ยอมรับได้ ทั้งกระบวนการไต่สวน หาพยานหลักฐาน ดูแลคุ้มครองผู้เสียหาย พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับการกระทบกระเทือน จนถึงขั้นมีมติ มีคำตัดสินออกมาลงโทษ สส.ผู้ถูกกล่าวหา ถ้าไม่ใช่พรรคการเมือง เป็นองค์กรอื่น ๆ หากมีคำตัดสินของคณะกรรมการวินัย ไปจนถึง คณะกรรมการบริหาร เรื่องก็ต้องเป็นที่ยุติ ถ้าผิดจริง ถูกลงโทษ ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ ก็ต้องทำตามนั้น เพียงแต่ว่า พอเป็นพรรคการเมือง มีหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดอีกชั้น ทำให้การจะขับ สส.ที่ตรวจพบว่ากระทบผิด จนต้องขับออกจากพรรค จึงกลายมาต้องอาศัยผลโหวตเสียงจาก สส.ของพรรค 3 ใน 4 เป็นเงื่อนไขที่เพิ่มเข้ามา ปรากฏว่าผลโหวตสวนทางกับผลการตัดสินของกรรมการวินัย และกรรมการบริหารพรรค ก็เลยถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างมาก
สส.ก้าวไกล โหวตสวนบทลงโทษ ย้ำชัดยอมรับพฤติกรรมคุกคามทางเพศ
“คณะกรรมการวินัยสอบแล้ว ยื่นต่อคณะกรรมการบริหารพรรคตัดสินใจแล้ว จริง ๆ ถ้าจะให้ สส.โหวต ก็เพียงแค่รับรองมติกรรมการบริหารเท่านั้น แต่เมื่อต้องโหวตตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต่างจากการมาเริ่มต้นพิจารณาเรื่องราวกันใหม่ เพื่อตัดสินความผิดอีกรอบหนึ่ง ถ้าเราเป็น สส.ก้าวไกล กรรมการวินัย กรรมการบริหาร มั่นใจในข้อมูล พยาน หลักฐานจนมีคำตัดสินออกมาแล้ว ถ้าเชื่อได้ ก็น่าจะยืนตามเสียงตัดสิน จะไม่ฉีกออกไป พอเป็นเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ก็มีเสียงซ้อนเข้าไปอีก เพราะไม่มีใครรู้เลยว่า สส.ที่โหวตมีทัศนคติต่อเรื่องเพศแบบไหน หรือ มีเรื่องพวกพ้องด้วยหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ พอผลโหวตออกมาจนไม่มีมติให้ขับ สส.ที่ถูกกล่าวหาให้ออกจากพรรค จึงเป็นข้อถกเถียง เพราะรู้สึกว่าผลโหวตที่เกิดขึ้นไม่แฟร์กับผู้เสียหาย ไม่แฟร์กับพรรคตัวเอง และไม่แฟร์กับสังคม”
“การตัดสินใจตรงข้ามจากมติพรรค ไม่ขับออก เท่ากับ กำลังสนับสนุน รับรองทัศนคติเรื่องคุกคามทางเพศ เพราะข้อมูลภายหลังอาจไม่ใช่แค่คุกคาม แต่คือการล่วงละเมิดทางเพศด้วย การที่ สส.กลุ่มดังกล่าวตัดสินว่าโทษไม่ร้ายแรงและโหวตให้ไม่ต้องลงโทษขับออกจากพรรค กำลังยืนยัน และยอมรับพฤติกรรมคุกคามทางเพศว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ซึ่งส่งผลต่อสังคมอย่างมาก ในเมื่อกระบวนการสอบสวนของพรรคก้าวไกล พยายามตรึงมาตรฐานสังคมเรื่องเพศเอาไว้ แต่ทำไม สส.บางกลุ่ม ต้องดึงมาตรฐานที่พรรคพยายามทำให้ต่ำลงมาอีก”
วราภรณ์ แช่มสนิท
จี้งัดแนวปฏิบัติเข้มจัดการปัญหาคุกคามทางเพศในพรรคการเมือง-องค์กร
ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศฯ จึงเสนอว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้อีกพรรคการเมือง หรือ องค์กรใด ๆ ก็ตาม อาจจำเป็นต้องดำเนินการทั้ง งานเชิงแก้ไข เมื่อเกิดปัญหา อย่างกรณีก้าวไกล เป็นบทเรียนว่า เรื่องการคุกคามทางเพศที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน มีเป็นโอกาสปะทุขึ้นมาได้ทุกเมื่อ ทางที่ดีควรกำหนดแนวปฏิบัติเฉพาะเรื่องเมื่อเกิดปัญหาการคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน ต้องมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน
ทุกองค์กรควรมีแนวปฏิบัติที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ออกเป็นนโยบายชัด ๆ แค่ประกาศเพียงจุดยืนไม่พอ แต่ต้องเขียนแนวปฏิบัติมีทั้งกลไก การตรวจสอบควรต้องเป็นใคร มีขอบเขตอำนาจหน้าที่แค่ไหน เพื่อจัดการปัญหาข้อร้องเรียนต่าง ๆ มีขอบเขตกำหนดบทลงโทษเลยหรือไม่ เพราะความผิดการคุกคามทางเพศมีหลายรูปแบบ บางกรณี ผู้เสียหายอาจต้องการให้ถึงขั้นดำเนินคดี แต่บางกรณีผู้เสียหายอาจขอแค่ให้ผู้ถูกกล่าวหา ยอมรับ หรือ แค่ขอโทษ ไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ถ้าพบว่ามีความผิดก็ต้องยอมรับผิดอย่างจริงใจ จนกว่าผู้เสียหายจะพอใจตามความประสงค์ ถ้าเป็นระดับที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมรับ ก็ต้องสอบหาหลักฐานเพิ่มเติม ก็จำเป็นต้องกำหนดกรอบขั้นตอนเพิ่มเติม ที่สำคัญ คือ ต้องกำหนดกรอบระยะเวลา เพราะเรื่องแบบนี้ ถ้าไปอยู่ในองค์กรที่ไม่เห็นความสำคัญ อาจเพียงแค่รับเรื่องไว้ ปล่อยให้ล่าช้า ก็ยิ่งไม่เป็นธรรมกับผู้เสีย
สำหรับพรรคการเมือง ที่มีเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นพรรคเองต้องวางมาตรการจัดการที่เข้มงวดกว่าองค์กรอื่น ๆ เช่น มีข้อตกลงว่าหากการพิจารณากรณีคุกคามทางเพศ กรรมการสอบแล้ว มีผล มีมติผ่านกรรมการบริหาร แล้ว คนเป็น สส. ก็ต้องมีเงื่อนไขที่จะออกเสียงผูกพันตามมติกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น เป็นมาตรการที่ต้องทำข้อตกลงกันในพรรค หรือดูว่าการตีความตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ มีข้อยกเว้นกรณีคุกคามทางเพศ หรือ การคอร์รัปชันหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องเขียนไว้ในข้อปฏิบัติต้องทำตามข้อตกลง ให้เคารพผลการตัดสินของคณะกรรมการบริหารเป็นการเฉพาะเพื่อโหวตตามมติที่ออกมาแล้ว
“เบญจา” มอง “ไชยามพวาน” ยังไร้สามัญสำนึก แนะควรลาออก สส.
ขณะที่ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมการวินัย แสดงความเห็นถึงการแถลงข่าวของ ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.จอมทอง พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนนั้น แม้เป็นการแถลงขอโทษทุกคนผู้เสียหาย เพื่อน สส. พรรค ประชาชน และน้อมรับมติพรรค ตามหนังสือที่พรรคได้แจ้งการลงโทษเรื่องกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ปมคุกคามทางเพศ แต่ยังไม่เห็นท่าทีสำนึกรับผิด ยอมรับว่า เป็นความผิด และขอโทษต่อผู้เสียหายอย่างจริงใจ
“เรามีความห่วงใย และกังวลต่อท่าทีเช่นนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งในเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน โดยไม่ยอมรับและไม่รับผิดชอบในผลการกระทำ ทำให้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสาธารณชน และต่อการรับรู้ของผู้เสียหาย ความเห็นส่วนตัวรู้สึกว่ายังไม่มีสามัญสำนึก ยังไร้ความเข้าใจต่อความละเอียดอ่อนกรณีความรุนแรงทางเพศ เพราะหากมีความตระหนักเรื่องนี้ และน้อมรับมติพรรค ต้องรู้สึกรับผิดชอบทางการเมือง โดยไม่ต้องรอให้การสอบยุติ หากมีความสำนึกทางการเมืองควรแถลงลาออกจาก สส.“
เบญจา แสงจันทร์
เบญจา บอกด้วยว่า ขณะนี้ ยังไม่ได้นัดประชุมกรรมการบริหารพรรค คาดว่าในช่วงวันที่ 6-8 พฤศจิกายนนี้ จะประชุม สส.ของพรรคอยู่แล้ว อาจเป็นไปได้ที่จะใช้โอกาสนี้ ประชุมเพื่อพิจารณาขับไชยามพวานออกจากพรรค แต่ตอนนี้ยังไม่มีมติจากกรรมการบริหารพรรค