อะไรซ่อนอยู่ในซอย #สุขุมวิท11

ชวนมองกรณี #กะเทย ไทย-ฟิลิปปินส์ ภายใต้ความรุนแรง ยังมีอีกหลายเรื่องให้ค้นหา นักนิเทศศาสตร์ ห่วงสร้าง Content ขายขำมากเกินไป ลดทอนคุณค่า ความเสมอภาค เท่าเทียมทางเพศ #กะเทย ถูกตีตรา มองเชิงลบ หวั่นใช้ Hate speech ยิ่งสร้างความเกลียดชัง

กรณีเหตุวิวาทระหว่างกลุ่ม #กะเทย ชาวไทย กับ ฟิลิปปินส์ บริเวณหน้าโรงแรมแห่งหนึ่งในซอยสุขุมวิท 11/1 ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา (4 มี.ค. 67) เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์  

The Active รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลผ่านเครื่องมือ Zocial Eye ในช่วงวันที่ 4 – 5 มี.ค. 67 พบว่า #สุขุมวิท11 ถูกพูดถึงทั้งหมด 16,136 ข้อความ รวม 6,004,956 Engagement

สำหรับประเด็นที่ถูกพูดถึง (เรียงจากมากไปน้อย) คือ

  • กะเทย / LGBTQ+ (3.54 ล้าน Engagement)
    • มีการใช้คำว่า กะเทย / เทย เป็นคำหลักในการพูดถึง-อธิบายผู้ก่อเหตุและคู่กรณีของเหตุการณ์นี้

  • ชาวต่างชาติ (2.20 ล้าน Engagement)
    • พูดถึง ชาวฟิลิปปินส์ ชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นคู่กรณีหลักของเหตุการณ์นี้
    • พูดถึงการโดนชาวต่างชาติทำร้ายร่างกาย ลักลอบเข้ามาทำงานผิดกฎหมาย
    • เทียบโยงกับกรณี #ฝรั่งเตะหมอ ที่ภูเก็ต คล้ายกันในกรณีคนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจสีเทาในไทย และข้อกังขาในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

  • ตลก-มีม-คอนเทนต์ (1.18 ล้าน Engagement)
    • ข้อความในเชิงขำขัน เกี่ยวกับเหตุการณ์
    • ภาพตลก-ภาพมีม จากเหตุการณ์จริง

  • ความรุนแรง (1.01 ล้าน Engagement)
    • เล่าถึง-อธิบายเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น นัดตบ 
    • “ไม่ได้ชอบความรุนแรง แต่ต้องดูถึงระบบยุติธรรมด้วย”
    • พ่วงประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือประเด็นความรุนแรง เช่น การลักลอบทำงานผิดกฎหมาย การทำร้ายคนในประเทศก่อน

  • ตำรวจ / เจ้าหน้าที่ (0.95 ล้าน Engagement)
    • ข้อความในเชิงขำขันจากเหตุการณ์ระหว่างผู้มาชุมนุมและตำรวจ
      • การพูดอธิบายการมาชุมนุม
      • การพูดในเชิงชู้สาว
      • การพูดหยอกล้อ
      • การพูดหยอกล้อ
      • การช่วยตำรวจอธิบายสถานการณ์
    • ความไม่พอใจ จากการเปรียบเทียบการช่วยเหลือของตำรวจ กรณีคนไทยถูกทำร้ายในตอนแรกไม่มีตำรวจมาช่วย แต่พอมีกระแสตีกลับก็เข้ามาปกป้อง

  • รายงาน-สรุป สถานการณ์ (0.47 ล้าน Engagement)
    • สรุปและรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ เช่น ที่มาที่ไปของเหตุการณ์ พฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ 

  • แรงงานผิดกฎหมาย (0.27 ล้าน Engagement)
    • ความไม่พอใจที่ชาวต่างชาติลักลอบเข้ามาทำงานในไทย / ใช้วีซ่าท่องเที่ยว / การตั้งกลุ่มเป็นมาเฟีย
    • พ่วงกับเรื่องพฤติกรรม และเรื่องตำรวจ

  • ความยุติธรรม (0.26 ล้าน Engagement)
    • ความรุนแรงสะท้อนถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม
    • ถ้าระบบยุติธรรมดี จะไม่มีศาลเตี้ย

  • sex worker (0.12 ล้าน Engagement)
    • พื้นที่สีเทา พื้นที่ผลประโยชน์
    • เสนอให้ออกกฎหมายค้าประเวณีและคุ้มครอง sex worker
    • สะท้อนปัญหาที่ sex worker เจอ เช่น ผิดกฎหมาย, การโดนแย่งงานจากชาวต่างชาติ, การเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

  • ประเด็นอื่น ๆ (ที่น่าสนใจ)
    • อาจสะใจที่ได้แก้แค้น ดูตลก แต่ความเป็นจริงมีประเด็นอื่น ๆ ซ่อนอยู่ เช่น การลักลอบเข้ามาทำงาน การช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ รัฐมองไม่เห็นผู้ค้าบริการทางเพศ มาเฟีย รัฐไม่ปกป้องคนไทย ความปลอดภัย
    • การที่คนฟิลิปปินส์ออกมาเตือน

จากข้อมูลดังกล่าวได้ข้อสรุปเบื้องต้น แบ่งเป็น 3 ประเภท

  • เชิงขำขัน-ตลก จากสถานการณ์-ภาพเหตุการณ์จริง เช่น
    • พฤติกรรมของคนไทย / อินฟลูเอนเซอร์ ที่มาชุมนุม
    • พฤติกรรมระหว่างผู้มาชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ
    • พฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเชิงขำขัน

  • เชิงความคิดเห็น มีการพูดถึง 
    • ความรุนแรง / การใช้ศาลเตี้ย สะท้อนความยุติธรรมในสังคม 
    • การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 
    • การลักลอบทำงานผิดกฎหมายของชาวต่างชาติ 
    • ประเด็น Sex worker ที่ควรได้รับการคุ้มครองและควรถูกกฎหมาย 
    • พื้นที่สีเทาและการมีอิทธิพลของคนบางกลุ่ม

  • เชิงอธิบายสถานการณ์-สรุปเนื้อหา 
    • รายงานความคืบหน้าของเหตุการณ์

รศ.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีที่เกิดขึ้น โดยเห็นว่า ข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ไปเร็วมาไว และคนก็จะเลือกเสพเฉพาะข่าวที่ตัวเองสนใจ แต่ละคนก็มีตัวเลือกเป็นของตัวเอง แต่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะให้คุณค่าของประเด็นนั้น ๆ อย่างไร

โดยส่วนตัวในฐานะนักนิเทศศาสตร์ ชวนตั้งคำถามต่อสื่อมวลชนกับการนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุความรุนแรง เด็กช่าง เด็กแว๊นซ์ ยกพวกตีกัน ก็เป้นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ แต่แทบไม่ค่อยถูกพูดถึงมากเท่ากับเหตุการณ์ #กะเทย ที่ #สุขุมวิท11

“ส่วนตัวมองว่าข่าว #กะเทย เป็นเพียงข่าวตลาด เป็น Soft News ที่ถูกหยิบมาสร้างคุณค่า นักข่าวต้องกลั่นกรองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกับใคร หรือมีเรื่องอะไรที่ซุกอยู่ใต้พรมที่มากกว่าแค่การทะเลาะวิวาทกัน หากเป็นเพียงเด็กช่าง เด็กแว๊นตีกัน ก็คงไม่ได้รับความสนใจขนาดนี้ เพราะเราอยู่ในสังคมที่เปิดกว้าง ให้สิทธิเสรีภาพ และสังคมร่วมกันผลักดันให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศกันมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องของ #กะเทย ที่เกิดขึ้น จึงถูกให้คุณค่าข่าวมากกว่าเดิม แต่ก็ต้องระมัดระวังด้วย เพราะ Content ที่ปรากฎกลายเป็นการขายขำเสียมากกว่า และก็ต้องระวังด้วยเพราะความพยายามในการผลักดันความเสมอภาคระหว่างเพศ หรือสมรสเท่าเทียม ในสังคมก็มีคนที่คัดค้าน ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้น อาจยิ่งไปสร้างน้ำหนักของบางฝ่ายก็ได้ จนในที่สุดสิ่งที่สังคมพยายามร่วมกันสร้างคุณค่าความเท่าเทียมทางเพศ อาจตีกลับทำให้ #กะเทย ถูกมองเชิงลบ ลดทอนคุณค่าก็ได้”   

รศ.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ

ขณะที่ รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นความรุนแรงชนิดหนี่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกกลุ่ม ทุกวัย และทุกเพศสภาพ เมื่อใดก็ตามที่คนกลุ่มเพื่อน พี่น้องของเขาถูกกระทำ ก็ย่อมอยากลุกขึ้นมาปกป้องพวกพ้อง แต่ที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์ อาจมาจากความโดดเด่นทางบุคลิกภาพของกลุ่ม LGBTQIAN+ มากกว่า

“เหตุการณ์นี้เหมือนกับละคร มีทั้งการตบตี ที่เหมือนฉากแอคชัน มีกลุ่มฝูงชน LGBTQIAN+ ที่ดูมีสีสัน และจริตไม่ต่างจากตัวแสดง และคนยังมีมีทัศนคติว่า เมื่อพวกเขาออกมาเมื่อไร ต้องมีเรื่องสนุก ชวนขบขัน เฮฮา ซึ่งน่าจะเป็นภาพจำจากสื่อ ทั้งที่จริงแล้ว เราคิดว่าตอนนั้นพวกเขาไม่ขำด้วยเลย มันเป็นเรื่องซีเรียสด้วยซ้ำ”

รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล

รศ.พิจิตรา ยังชี้ให้เห็นว่า จริง ๆ แล้วประเด็นที่ควรให้ความสนใจมากกว่าการทะเลาะวิวาทของกลุ่ม LGBTQIAN+ คือเรื่อง “ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ” เพราะเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างคนเพียงกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นความรู้สึกร่วมของคนทั้งประเทศ ที่อยากปกป้องชาติของตัวเองไปแล้ว

“สังคมไทยต้องยอมรับแล้วว่า กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองคนไทยเท่านั้นอีกต่อไป แต่มันมีคนอีกหลายเชื้อชาติเข้ามาใช้ชีวิต ทำมาหากินอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเข้ามาแบบไหน จะถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังคือการใช้ Hate speech ที่นำไปสู่ความเกลียดชัง เป็นภาพจำให้คนไทยมองคนฟิลิปปินส์ไม่ดี และกลายเป็นรอยร้าวให้ทั้ง 2 ประเทศในที่สุด”

รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active