สังคมไทย เปิดรับ ‘ความหลากหลาย’ แต่ LGBTQIAN+ ยังถูกแปะป้ายด้วยอคติ!

นักวิชาการ เปิดผลวิจัย พบอคติลดทอนคุณค่าผู้มีความหลากหลายทางเพศ ถูกมองเชิงลบ หมกมุ่นเรื่องเพศ รับสภาพแม้ ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่าน ก็ต้องสื่อสารความเท่าเทียมทางเพศต่อ วอนขอแค่มีใจ เปิดรับความหลากหลายทุกมิติ

วันนี้ (27 พ.ค. 2567) The Active เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน Public Forum : “Pride Month” ประตูบานแรกสังคมไทย เข้าใจความหลากหลาย เนื่องในเดือนมิถุนายน จะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month ผู้เข้าร่วมวงเสวนาหวังเห็นภาพการโอบรับสิทธิ ความเท่าเทียมที่มากขึ้นในสังคมไทย ไปพร้อม ๆ กับการผ่าน กฎหมายสมรสเท่าเทียม ย้ำ แม้มีกฎหมายรับรองสิทธิสมรสแล้ว สังคมจำเป็นต้องสื่อสารเรื่องความเท่าเทียมทางเพศต่อไป

ผศ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ผศ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดงานวิจัยการศึกษาของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ สะท้อนว่า แม้ภาพรวมอคติของสังคมที่มีต่อกลุ่ม LGBTQIAN+ จะมีแนวโน้มไปในทางบวกมากขึ้น เห็นการเปิดรับมากขึ้นด้วยกระแสสังคมยุคใหม่

แต่ยังมีภาพเหมารวมบางมิติที่ลดทอนคุณค่าของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ถูกมองว่าเป็นเพศที่รักสนุก, มีความคิดสร้างสรรค์, สร้างความบันเทิงได้ดี และ ยังมีอคติทางลบในเรื่องความหมกมุ่นทางเพศ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำให้บรรยากาศการเปิดรับความหลากหลายทางเพศยังมีการแปะป้ายอคติ เงื่อนไขบางอย่าง เช่น “จะเป็น LGBTQIAN+ ก็ได้แต่ต้องเป็นคนเก่ง คนดีก่อน” ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้คนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเช่นชายหญิงตามเพศกำเนิด

“แม้ว่าแนวโน้มในภาพรวมอาจจะดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องอคติลึก ๆ ที่เรามีต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งต้องอาศัยการศึกษาที่ละเอียดมากขึ้น ในประเด็นปัญหาเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการ ทรัพยากรหรือสิทธิในบางเรื่องที่ปัจจุบันก็ยังมีความคิดเห็นต่างกันเยอะอยู่ ต้องพูดคุยกันต่อ”

ผศ.อดิศร จันทรสุข

ศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า การที่ภาครัฐมีความคืบหน้าเรื่องการรับรองสิทธิสมรสตามกฎหมาย หรือการที่สังคมมีการเปิดกว้างสื่อภาพยนตร์ของคู่รักเพศเดียวกัน เช่น ซีรีส์วาย ไม่เท่ากับการยอมรับตัวตนของ LGBTQIAN+ ในสังคม

ศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

พร้อมตั้งข้อสังเกต ว่า กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ มักถูกโยงเข้ากับการท่องเที่ยวหรือธุรกิจ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ แต่รัฐได้ให้สิทธิและสิทธิเสรีภาพกับพวกเขาแล้วหรือยัง หรือมองพวกเขาเป็นเพียงตัวเลข ความหลากหลายทางเพศถูกบิดประเด็นไปที่เรื่อง “หาเงิน หาทอง” แต่ไม่กลับมามองเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค

ส่วนมายาคติหนึ่งที่คนเชื่อกันว่า “เรื่องปากท้อง ต้องมาก่อนเรื่องสิทธิความเท่าเทียม” นั้น ศ.ชลิดาภรณ์ ย้ำว่า เรื่องทุกเรื่องสามารถพูดไปพร้อม ๆ กันได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะเอาสิ่งใดมาก่อนหรือหลัง เพราะในที่สุดทั้งเรื่องสิทธิทางเพศและเศรษฐกิจก็จะเชื่อมโยงกัน เช่น คนข้ามเพศจำนวนมากที่ถูกกีดกันจากการศึกษา หรือจากการทำงาน ไม่สามารถที่จะเอาตัวรอดในทางเศรษฐกิจได้ ฯลฯ ถ้าเช่นนั้น ความหลากหลายทางเพศจะไม่เกี่ยวข้องกับปากท้องได้อย่างไร?

“เพราะความไม่เข้าใจ ความรังเกียจทำให้คุณกีดกันคนจำนวนมากจากกิจกรรมสำคัญในกระแสหลัก ซึ่งหมายถึงความอยู่รอดและความอยู่ดีของผู้คน มันคือเรื่องเดียวกัน เลิกปิดปากคนในสังคมด้วยการบอกว่า มีเรื่องอะไรที่ต้องมาก่อน”

ศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์
ภารวี อากาศน่วม เครือข่ายนอกกล่องเพศ : Non-Binary

ภารวี อากาศน่วม เครือข่ายนอกกล่องเพศ : Non-Binary เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัว ว่า ในครอบครัวตัวเองไม่ได้มีการปิดกั้นเรื่องเพศ ยอมรับตัวตนของตนเองเสมอมา แต่พอตนเข้าสู่สังคมภายนอก เช่น โรงเรียน กลับเจอการตั้งคำถามจำนวนมาก ว่าตนเองนิยามว่าเป็นเพศอะไร หรือเด็กนักเรียนเองก็จะถูกจับเข้าระบบสองเพศ ชาย-หญิง มาตั้งแต่วัยอนุบาล ทั้งที่เรื่องของตัวตนและการเลือกที่จะเป็นเพศใดนั้น ควรเป็นสิทธิของเขามาตั้งแต่กำเนิด และสถาบันการศึกษาควรสอนให้รู้จักกับความหลากหลาย ไม่ใช่ปิดกั้นและกีดกันผู้มีเพศหลากหลายว่าเป็นคนแปลกแยก

ภารวี ให้ความเห็นว่า สังคมชอบตั้งแง่ว่ากลุ่ม LGBTQIAN+ นั้นสับสนในตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วตนมองว่า คนที่สับสนคือสังคมมากกว่า ทุกวันนี้มีตัวอักษรย่อแทนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยาวมากขึ้น (LGBTQIAN+) คนในสังคมก็มองว่าเข้าใจยากแล้วตั้งแง่ว่า อย่างนี้จะมียาวตั้งแต่ A-Z เลยหรือไม่ ? ภารวี มองว่า ถ้าจะให้ยาวตั้งแต่ A-Z ก็สามารถทำได้ เพราะอัตลักษณ์ทางเพศทุกวันนี้มีหลากหลายมากเกินจะจินตนาการ

แต่นั่นไม่สำคัญว่าทุกคนต้องท่องจำได้ สำคัญคือขอแค่ทุกคนเข้าใจว่าเราต่างมีความแตกต่างหลากหลาย และเคารพในตัวตนของกันและกัน ไม่ดูถูกเหยียดหยามกัน แค่นี้ก็สามารถสร้างสังคมที่ทุกคนไม่ว่าเพศใด หรือช่วงวัยใด ชาติพันธุ์ใดก็ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

“คุณไม่จำเป็นต้องมานั่งจำตัวอักษร แต่ขอให้เคารพในความหลากหลายของกันและกัน และยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนต่างกัน”

ภารวี อากาศน่วม
นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ยอมรับในหลายครอบครัว ยังมีความกังวลใจว่า ลูกหลานจะเติบโตไปเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และจะไม่มีชายหญิงที่จะผลิตทายาทรุ่นต่อไป ขณะเดียวกันยังมีการมองพลเมืองผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจมากเกินไป จึงอยากมีส่วนร่วมช่วยให้ภาคธุรกิจ มองเห็นว่า การให้ความสำคัญกับพลเมืองเพศหลากหลาย ควรเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในองค์กรมากกว่าที่จะมองว่าเขาเป็นลูกค้าที่ทำเม็ดเงินเข้าองค์กร และองค์กรธุรกิจควรเคารพพลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมทั้งมีสวัสดิการเพื่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

ขณะที่ รตี แต้สมบัติ ผอ.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุในฐานะหญิงข้ามเพศ มองว่า การออกแบบระบบสวัสดิการต่าง ๆ ในประเทศไทยยังยึดโยงกับเพศกำเนิด หรือคำหน้านามเป็นหลัก ทำให้คนข้ามเพศหลายคนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิทางสุขภาพและสวัสดิการต่าง ๆ ได้

“เราในฐานะพลเมือง และจ่ายภาษีให้รัฐ รัฐมีหน้าที่ทำให้ข้อมูล และกฎหมายสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนทุกคน”

รตี แต้สมบัติ
รตี แต้สมบัติ ผอ.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

ผอ.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน บอกด้วยว่า จริงๆ แล้วไม่ควรจะเป็น Pride Month แต่ควรเป็น Pride Forever ที่สามารถเฉลิมฉลองเรื่องความหลากหลายได้ทุกวัน

“ไม่มีใครเกิดมาแล้วเกลียดกะเทย แต่คนที่เขารู้สึกไม่ชอบ รู้สึกหวาดกลัว เขาไม่เข้าใจ เพราะถูกหล่อหลอม และขัดเกลาจากสังคมผ่านสถาบันการศึกษา สื่อ หรือ องค์ความรู้ทางการแพทย์ ที่ประกอบสร้างให้เขาคิดว่า เราเป็นตัวปัญหา โดยเราอาจต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการ และเชื่อว่าพื้นที่การแสดงออกใน Pride Month เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสาร และบอก message บนหลักพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน”

รตี แต้สมบัติ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active