ระดมความคิดเครือข่ายนานาชาติ ร่วมผลักดันบ้านมั่นคง

Collective Housing Forum ร่วมผลักดันสร้างบ้าน เพื่อชีวิตที่มั่นคง ชี้รัฐต้องฟังเสียงสะท้อนปัญหาของประชาชน ผนึกกำลังทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันนี้ (3 ก.ค.67) การประชุมสัมมนาระหว่างประเทศด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ชุมชนเป็นหลัก (Collective Housing Forum) ได้มีการการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อการขับเคลื่อนงานในอนาคต Dao Harison ตัวแทนจาก ธนาคารโลก มองว่า การวางผัง ระบบบริการต่าง ๆ สาธารณูปโภค ต้องทำงานกับรัฐบาล อีกทั้งในส่วนของโครงการต่าง ๆ ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ควรนำข้อมูลต่าง ๆ มาเชื่อมโยงกับระบบการเงิน ซึ่งระบบนิเวศที่อยู่อาศัย จะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่เอาระบบเหล่านี้มาปรับ 

“เราจะทำอย่างไรให้ที่อยู่อาศัยนั้นมีความยั่งยืน ภาครัฐ และเอกชนต้องร่วมมือกัน ต้องสร้างขีดความสามารถให้กับชุมชนเพื่อเขาจะได้กล้าวางแผน ตัดสินใจในการสร้างที่อยู่อาศัยบองตัวเอง …สิ่งที่จำเป็นกับคน คือ การพัฒนาขีดความสามารถ น้ำ การรับมือกับสภาพภูมิอากาศ และที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน”

ด้าน Triph Maheseth, Habitat For Humanity บอกว่า ประเด็นบ้านไม่เพียงพอ เป็นปัญหาหลัก เราต้องร่วมมือกัน เพราะ habitat ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ในอนาคตเราต้องร่วมมือกันเพื่อกำหนดว่าแนวทางเรื่องที่อยู่อาศัยจะเป็นอย่างไร โดยการร่วมกันของภาครัฐและภาคประชาสังคม

ส่วนนักวิชาการ Adriana Allen, Development Planning Unit กล่าวว่า เราจะเชื่อม collective housing กับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ต้องกำหนดกลยุทธ์ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องที่อยู่อาศัยแม้ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อ แต่เราต้องดูว่าบ้านคืออะไร เป้าหมายคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่ไม่ให้ความสำคัญ ภาคเอกชนก็ต้องมีการเกี่ยวข้อง

“ต้องหาวิธีในการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เห็นว่าจะทำอย่างให้ตอบโจทย์ global agenda ต้องพูดคุยกับรัฐบาล แสดงให้เห็นว่าบ้านของชุมชน จะทำให้ชุมชนพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงและมองว่า ผู้หญิงเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่มีเรื่องอื่นที่มีความซับซ้อนกันอยู่ เราต้องมีการพูดถึงว่ามีการดูแลผู้หญิงอย่างไร เพื่อให้ผู้หญิงสามารถดูแลชุมชนได้ด้วย”

 

อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม. สนับสนุน ภาคประชาชนเรื่องที่อยู่อาศัย ในหลายมิติ ทั้งพื้นที่ริมรางรถไฟ ริมน้ำ ก็มีพอช.ไปช่วยขับเคลื่อนในทุกมิติ ประชาชนพยายามสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ด้านที่อยู่อาศัย รัฐก็ต้องรับฟัง มีการทำโครงการบ้านพอเพียง บ้านมั่นคง การเคหะสร้างบ้านราคาย่อมเยา เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงไม่ได้ทำง่ายเหมือนรัฐปกติ คีย์เวิร์ดสำคัญคือ บ้านสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย

“เป็นการร่วมกันในนามของรัฐเข้าไปสนับสนุน แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น น้ำปะปา ไฟฟ้า เข้าถึงไม่ได้ตามปกติ เนื่องจากติดข้อจำกัดของพื้นที่ เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในสวัสดิการ อยู่ในส่วนความมั่นคงของมนุษย์ เกิดพลังจากการขับเคลื่อนทำให้รัฐตอบสนองปัญหาของประชาชนง่ายขึ้น หากมีการแลกเปลี่ยนกันก็จะทำให้ได้เข้าใจปัญหา”

ด้าน กฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นที่จำเป็น หากบ้านไม่มั่นคงแล้ว เรื่องอื่นก็จะไม่มั่นคงตาม เพราะฉะนั้นเรื่องบ้านต้องมาก่อน  โดยรัฐให้โอกาสประชาชนเลือกว่าต้องการบ้านแบบไหน และสนับสนุนเรื่องเงินอุดหนุน สิ่งสำคัญคือการรวมตัวกับพี่น้องชุมชน เข้าใจกับปัญหาของตัวเองก่อน และรัฐก็ช่วยส่งเสริม

“รัฐสนับสนุนให้ชุมชนจัดทำรัฐสวัสดิการของชุมชน ทั้งนี้ในภาคธุรกิจก็มีทิศทางในการร่วมกับรัฐและประชาชน เพื่อร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย ….คนที่จะทำเรื่องนี้ได้คือคนในท้องถิ่น ที่ลุกขึ้นมาทำงานกับรัฐ ซึ่งก็อยู่ในแผนการพัฒนาประเทศไทย 20 ปี ก็ต้องอาศัยการสำรวจร่วมกันในมิติเรื่องนี้

สมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน บอกว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย พอช.ให้คนเป็นส่วนกลางในการพัฒนาที่อยู่อาศัย แต่ละที่มีพื้นที่แตกต่างกัน ความต้องการแตกต่างกัน มีประเภทของบ้านผู้มีรายน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งตรงนี้มีการสนับสนุนจาก ผอ.พอช.

การมีบ้านคือความมั่นคงของชีวิต เราก็สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนเป็นหลัก ชุมชนทั้งในพื้นที่เขตเมือง และชนบทก็ทำงานร่วมกัน มีการวางแผนร่วมกันว่าแผนแต่พื้นที่เป็นอย่างไร เครือข่ายของชุมชนจะต้องมีแผนสำหรับการเปลี่ยนแปลง พอช.เหมือนกลุ่มที่กระจายอำนาจให้กับชุมชน ส่งผ่านข้อมูลให้กับชุมชน รู้ว่าใครบ้างมีความต้องการ ทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์เป้าหมายยุทธศาสตร์ 20 ปีได้

ซึ่ง Adriana Allen กล่าวสรุปว่าภายใต้สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีการสำรวจความต้องการของประชาชน ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน โดยได้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ในด้านนโยบายการให้สินเชื่อ ได้ความร่วมมือกับสถาบันทางการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำยากมาก ซึ่งประเทศไทยก็สามารถทำได้

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยโดยผู้ร่วมประชุมจากประเทศต่าง ๆ เช่น ตัวแทนจากประเทศนามิเบีย มีการพูดถึงประเด็นปัญหา ความร่วมมือในเชิงนโยบายกับหน่วยงานภาคอื่น ๆ ทั้งการมีร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชน การปรับปรุงสภาพแวดล้อม การใช้นวัตกรรมในชุมชน ฯลฯ

ด้านตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลท้องถิ่น บอกว่า มีพ.ร.บ.ที่อยู่อาศัยของรัฐบาลท้องถิ่น และมีนโยบายหลายอย่าง เช่น การสนับสนุนประชาชนในการจัดหาเรื่องที่ดิน นอกจากนี้ยังร่วมมือกับ NGO ซึ่งจะมีการจัดหาเงินเพื่อการก่อสร้าง ปัจจุบันรัฐบาลระดับชาติจะสนับสนุนให้คนยอมรับบ้านแบบแฟลต รวมถึงสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นให้ช่วยกระตุ้นประชาชนด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active