The Active ลงพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ วันแรกเปิดจองโครงการบ้านหลังแรก พบหลากหลายชีวิตที่ฝันอยากมีบ้าน ทั้งคนวัย 24 เลี้ยงลูกเดี่ยว-แม่ค้าขายอาหารตามสั่ง-คนเช่าแฟลต ต่างหวังได้บ้านในเมืองราคาถูก ด้านผู้สูงวัยกังวลเกณฑ์อายุผู้กู้ บางรายเลี่ยงใช้ชื่อลูกจอง ขณะที่ ‘แพทองธาร’ รับระบบล่มวันแรก ยันห้อง 30 ตร.ม. อยู่สบาย เหมาะครอบครัวมีลูกไม่เกิน 10 ขวบ
วันนี้ (17 ม.ค. 2568) วันแรกที่รัฐบาลเปิดให้จองสิทธิ์ในโครงการบ้านหลังแรก ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดโครงการ พร้อมพาชมแปลนบ้านตัวอย่างที่สถานีกลางบางซื่อ เวลา 14.00 น. พร้อมพาชมห้องตัวอย่างในโครงการบ้านเพื่อคนไทย
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดโครงการบ้านเพื่อคนไทยว่า ทราบว่าระบบจองบ้านล่มหลังเปิดลงทะเบียนไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนี้ต้องดูว่าสามารถสนับสนุนอะไรได้บ้าง ซึ่งหลังจากชมบ้านตัวอย่างก็รู้สึกชอบ เพราะดูสะอาดน่าจะอยู่สบาย ซึ่งคอนโดฯ ปกติที่ขายตามท้องตลาดเริ่มต้นที่ 24-26 ตารางเมตร แต่ที่นี่ 30 ตารางเมตร ถือเป็นขนาดที่ดี ถ้า 2 ห้องนอนอยู่กันเป็นครอบครัวมีลูกไม่เกิน 10 ขวบน่าจะไม่อึดอัด
ขณะเดียวกัน The Active ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่เดินทางมาจองสิทธิ์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ walk-in เข้ามาด้วยตนเองที่สถานีกลางบางซื่อ ว่าพวกเขามีมุมมองต่อโครงการนี้อย่างไร เนื่องจากประชาชนจำนวนมากเลือกลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งการจองสิทธิ์ต้องลงทะเบียนออนไลน์ 100% เท่านั้น
ตัวอย่างผู้ที่สนใจจองสิทธิ์ ที่ทีมข่าวพูดคุยด้วย ภัทร อายุ 60 ปี หวังจองบ้านเดี่ยวใน จ.เชียงใหม่ แต่ตนเองก็มีบ้านอยู่ที่กรุงเทพฯอยู่แล้วแต่จะใช้สิทธิ์ของลูกชายอายุ 24 ปี จองแทน
“อยากได้บ้านเดี่ยวที่ต่างจังหวัด อย่างเชียงใหม่ก็สนใจ แต่ก็ไม่ใช่บ้านของเรา พอซื้อเสร็จ อ่อนเสร็จ 99 ปีหรือกี่ปี มันก็เป็นของเขา บางคนอาจจะใช้ชื่อคนอื่น เช่น ลูก หรือญาติพี่น้อง เพื่อหวังผลประโยชน์ เช่น ให้คนเช่าต่อได้ คนที่เงินน้อยก็อยากจะมีโอกาสดีขึ้น”
ส่วน อารีย์ อายุ 50 กว่า มาดูตัวอย่างบ้านแต่ต้องการจะให้ลูกชายวัย 30 เป็นผู้จอง ซึ่งลูกชายก็ ที่ทำงานย่าน กม. 11 ปัจจุบันต้องเช่าหอพักอยู่ ส่วนคุณอารีย์เองเดินทางมาจาก จ.สระบุรี และอยากอยู่บ้านหลังเดียวกันกับลูกชายในกรุงเทพฯ
“อยากมาอยู่ในที่ที่เจริญและสะดวกสบายค่ะ เพราะที่ทำงานลูกชาย ก็อยู่แถวนี้ แม่ก็อยากมาอยู่ยามแก่ชราด้วยค่ะ และราคาก็ไม่แพงมาก”
ขณะที่ เมย์ อายุ 24 ปี อาศัยอยู่ในแฟลตเช่าย่านนนทบุรี เดือนละ 2,000 บาท และต้องดูแลลูกชายวัย 2 ขวบ รวมถึงพ่อแม่สามีที่เช่าบ้านอยู่ที่อื่น จึงสนใจ walk-in มาดูบ้านเพื่อหาที่อยู่อาศัยที่สามารถอยู่ร่วมกันได้
คำถามสำคัญคือ หากมีผู้สนใจจำนวนมากจนสิทธิ์เต็มและต้องจับฉลาก ประชาชนมีมุมมองที่หลากหลาย บางคนเห็นด้วยเพราะเป็นวิธีที่ยุติธรรม ขณะที่บางคนรู้สึกว่าอาจไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่ต้องการบ้านจริง ๆ
ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุบางคนที่ไม่มีลูกหลานก็แสดงความกังวลว่า ตนเองจะเข้าเกณฑ์ของโครงการหรือไม่ เช่น บางคนอายุ 60 ปี หากต้องผ่อน 30 ปี ก็จะจบที่อายุ 90 ปีหรือมากกว่านั้น ซึ่งแม้โครงการจะไม่ได้กำหนดเรื่องอายุชัดเจน แต่ก็ยังมีข้อกังขาว่าจะสามารถเข้าร่วมได้หรือไม่
อีกมุมหนึ่งของประชาชนที่สนใจโครงการนี้ คือกลุ่มครอบครัวที่ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง เช่น ครอบครัวหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ต้องเช่าบ้านมาโดยตลอด ลูกสาวของพวกเขากำลังจะเรียนจบและคาดหวังว่าจะได้จองบ้านในโครงการนี้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการถือกรรมสิทธิ์ 99 ปี ทำให้พวกเขายังลังเล
ครอบครัวจันทรมีขายอาหารตามสั่งอยู่ใกล้กับห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ แต่พวกเขายังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ต้องเช่าบ้านในซอยใกล้เคียงโดยเสียค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท ไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ
ความฝันของทุกคนในครอบครัวคือการมีบ้านเป็นของตัวเองเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้า แต่การซื้อบ้านพร้อมที่ดินในกรุงเทพฯ ด้วยรายได้ที่มีอยู่ดูจะเป็นเรื่องยากลำบาก
สายธาร จันทรมี กำลังจะเป็นเสาหลักของครอบครัวหลังจากที่พ่อแม่ส่งเสียให้เรียนจนเกือบจบปริญญาตรีในคณะคหกรรมศาสตร์ ตอนนี้เธอกำลังอยู่ปี 3 ฝ้ายฝันอยากเป็นเชฟในโรงพยาบาลเพื่อทำอาหารให้คนป่วย เธอสนใจด้านโภชนาการและกำลังจะฝึกงานที่โรงพยาบาลในละแวกใกล้บ้าน
ในฐานะที่กำลังจะจบใหม่ เธอ มองหาโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการมีบ้านหลังแรก โครงการบ้านหลังแรกของรัฐบาลดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่เธอยังลังเลเพราะเงื่อนไขที่ไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ได้
พื้นที่ที่ครอบครัวจันทรมีขายอาหารอยู่บนทางเท้า ซึ่งอาจถูกไล่รื้อในวันใดวันหนึ่ง แผนสำรองของครอบครัวคือกลับไปยังบ้านเกิดที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งพ่อของฝ้ายยังมีที่ดินเล็ก ๆ อยู่ แต่การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างจังหวัดจะให้รายได้เพียงพอหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่ไร้คำตอบ
- อ่านเพิ่มรายละเอียด โครงการบ้านเพื่อคนไทย