เขาว่า “บิลลี่ยังไม่ตาย!” มึนอ ซัด อย่าพูดลอย ๆ เศร้าไร้ความยุติธรรม ฟ้องแพ่งกรมอุทยานฯ ยังริบหรี่

ศาลแพ่ง ยกเลิกวันนัดสืบพยาน ‘คดีบิลลี่’ หลังครอบครัวฟ้องแพ่งกรมอุทยานฯ โดยศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พยานไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี พร้อมให้รอคำพิพากษาคดีอาญาให้ถึงที่สุดก่อน จึงยกเลิกวันนัดสืบพยาน

วันนี้ (21 ก.พ. 68) เพจ Cross Cultural Foundation (CrCF) (มูลนิธิผสานวัฒนธรรม) รายงานว่า จากกรณีการนัดสืบพยานโจทก์ในคดีของศาลแพ่ง ซึ่งเป็นคดีที่ครอบครัวของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เป็นโจทก์ฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นจำเลย ในวันที่ 21 ก.พ. 68 ทั้งนี้ทนายความของครอบครัวบิลลี่ ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ศาลแพ่ง ว่า การนัดสืบพยานโจทก์ในวันนี้ ฝ่ายโจทก์ยังไม่ต้องนำพยานมาสืบ 

เนื่องจากศาลเห็นว่าอาจต้องรอผลคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญานั้น ล่าสุด มีรายงานว่า ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พยานผู้เชี่ยวชาญในวันนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี จึงไม่ควรสืบพยานในวันนี้ โดยเห็นว่าจะต้องฟังคำพิพากษาคดีอาญาให้ถึงที่สุดก่อน ศาลจำเป็นต้องเห็นข้อเท็จจริงทางคดีอาญา จึงยกเลิกวันนัดสืบพยาน

อย่างไรก็ตาม ศาลยืนยันว่า จะไม่ตัดพยาน เพียงแต่งดการสืบพยานไปก่อนโดยใช้เหตุผลของอัยการ ว่า พยานผู้เชี่ยวชาญปากนี้ไม่ใช่ประเด็นข้อสำคัญทางกฎหมาย พร้อมยืนยันด้วยว่า สามารถนำพยานปากนี้มาสืบได้อีก แม้ทนายโจทก์จะแถลงว่า การสืบพยานผู้เชี่ยวชาญเพียงปากเดียววันนี้ ไม่ได้สร้างความเสียหายใดเลย เป็นการอำนวยความยุติธรรม ให้คำนึงถึงโจทก์ที่เป็นประชาชนผู้เสียหาย อีกทั้งยังทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเกินสมควร

(ภาพ : มูลนิธิผสานวัฒนธรรม)

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ที่มาของการยกเลิกสืบพยานฝ่ายโจทก์วันนี้ เนื่องจากอัยการฝ่ายจำเลยยื่นขอร้องให้ศาลจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอให้ผลทางคดีอาญาถึงที่สุด ขณะที่ฝ่ายโจทก์ก็ได้นำพยานที่ได้รับหมายเรียกจากศาล และเป็นพยานสำคัญที่เดินทางจากต่างประเทศ เสียค่าโดยสารเครื่องบินมาแล้ว จึงอยากขอศาลสืบพยานปากสำคัญ เพราะเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งได้พยายามชี้แจงและทำความเข้าใจแล้ว โดยศาลได้ขอไปปรึกษาอธิบดี และหลังจากไปปรึกษาแล้วก็กลับมายืนยันคำสั่งจำหน่ายคดี รอผลทางคดีอาญาถึงที่สุดแล้วยกคดีแพ่งขึ้นมาพิจารณาในภายหลัง

“สำหรับความเห็นของทนายฝ่ายโจทก์เห็นว่า คดีแพ่งสามารถเดินหน้าสืบพยานไปก่อนได้ พอสืบเสร็จแล้วพอผลคดีอาญาถึงที่สุด ค่อยยกคดีแพ่งขึ้นตัดสิน จะทำให้คดีไม่ล่าช้า ถ้าหากเริ่มหลังจากคดีอาญาสิ้นสุด อาจทำให้พยานโจทก์บางคนอาจจะอยู่เบิกความ หรืออาจไม่อยู่เบิกความ หรือบางคนอาจจะเดินทางมาไม่ได้แล้ว เป็นเรื่องที่สร้างความลำบากของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของชาวบ้าน เราก็ต้องเคารพความเห็นศาล แต่อย่างไรก็ตามก็จะทำคำร้องคัดค้านในประเด็นที่เราไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาล ซึ่งจะดำเนินการต่อไป”

รัษฎา มนูรัษฎา

มึนอ ภรรยาบิลลี่ (ภาพ : มูลนิธิผสานวัฒนธรรม)

ขณะที่ พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ ยอมรับว่า ที่เดินทางมาวันนี้รู้สึกไม่ยุติธรรมกับตัวผู้เสียหาย และตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่แจ้งตั้งแต่เริ่มกระบวนการ แต่กลับมาแจ้งก่อนกำหนดเพียง 10 วัน

“ทำไมไม่ปฏิเสธตั้งแต่เริ่มต้นแรก ๆ เราจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง มาบอกวันนี้ก็สายไปแล้ว ก็อยากจะฝากถึงผู้บังคับบัญชา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่ทำให้พี่บิลลี่หายไป เมื่อเช้าได้ยินเขาบอกว่า บิลลี่ยังมีชีวิตอยู่ บิลลี่ยังไม่ตาย ถ้ายืนยันว่าบิลลี่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ส่งเขากลับมาหาครอบครัวสิ จะเอาไปซ่อนไว้ที่ไหน ซ่อนไปทำไมเพื่ออะไร ก็ส่งกลับหาครอบครัวเลย ไม่ต้องมาพูดลอย ๆ แบบนี้ ก็รู้สึกเสียใจ ว่า ปลายปากกา เป็นปัญหาที่ทำให้มนุษย์เชื่อถือได้ โดยที่วัตถุพยานที่เราสามารถจับต้องได้ มองเห็นได้ มันไม่น่าเชื่อถือ”



Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active