เร่งผลักดันหลักประกันสุขภาพคนไทยไร้สถานะ

9 หน่วยงานร่วมถกความก้าวหน้า 2 ปี เอ็มโอยู “คนไทยไร้สิทธิ” พบเกิดความร่วมมือระดับพื้นที่ เร่งช่วยเหลือคนไทยที่ตกหล่นทางสิทธิสถานะ สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ เตรียมขยายผล สร้างกลไก สู่ความยั่งยืนเชิงนโยบาย

วันนี้ (30 ส.ค. 2565) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวที “ไม่มีใครต้องไร้สิทธิ: 2 ปี MOU ประสานความร่วมมือพัฒนาการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพของคนไทยที่ตกหล่นจากสิทธิสถานะทางทะเบียน” แลกเปลี่ยนความก้าวหน้าและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะของคนไทยที่ตกหล่นจากสิทธิสถานะตามกรอบในบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู)  “การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” ที่จัดทำขึ้นระหว่าง 9 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

ผศ. ภก.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู)  “การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” หรือที่เรียกกันในชื่อ เอ็มโอยู “คนไทยไร้สิทธิ” เกิดขึ้นจากการผลักดันของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่มีความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพของคนไทยตกหล่น เป้าหมายสำคัญของเอ็มโอยูฉบับนี้คือการบูรณาการความร่วมมือดูแลประชาชนกลุ่มที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนโดยเฉพาะคนไทยตกหล่น หรือ “คนไทยไร้สิทธิ” ให้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพมากยิ่งขึ้น

“ช่วงเวลาที่ผ่านมา ทาง สปสช. วางยุทธศาสตร์ในการสร้างความครอบคลุมการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และได้จัดตั้ง ‘คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะ’ ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกในการประสานความร่วมมือและการขับเคลื่อนในประเด็นดังกล่าว ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องและเห็นความสำคัญในการสร้างความครอบคลุมของการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านเชิงลึกในกรุงเทพมหานคร และในเมืองใหญ่ของประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2559 ถึง 2560 ของ สสส. ร่วมกับ สปสช. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มสำคัญของการทำงานคนไทยไร้สิทธิ จากการสำรวจฯ พบว่า คนไร้บ้านประมาณร้อยละ 30 ในทุกพื้นที่มีปัญหาตกหล่นจากสิทธิสถานะ ส่งผลให้เข้าไม่ถึงหลักประกันทางสุขภาพ และสวัสดิการพื้นฐานพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี ต่อมามูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พบว่า ชุมชนเมืองจำนวนหนึ่งมีกลุ่มคนไทยที่ตกหล่นจากสิทธิสถานะ เป็นข้อมูลที่พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปัญหาด้านสิทธิสถานะหรือคนไทยตกหล่น มิได้เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่ในพื้นที่เขตชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลเท่านั้น หากแต่ชุมชนเมืองหรือใจกลางเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ก็มีผู้คนที่ประสบปัญหาเช่นกัน

ภรณี กล่าวต่อว่า สถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การผลักดันข้อเสนอ ให้เข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยไร้สิทธิหรือคนไทยที่ตกหล่นจากสถานะทางทะเบียน นำมาสู่การจัดตั้ง “คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะ” ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพของคนไทยไร้สิทธิจนถึงปัจจุบัน  สสส. สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายในพื้นที่นำร่องเพื่อให้เกิดกลไกและความร่วมมือในการพัฒนาสิทธิสถานะและการเข้าถึงระบบหลักประกันทางสุขภาพของคนไทยไร้สิทธิใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี ตราด อุบลราชธานี กาญจนบุรี สงขลา และสระบุรี ภายใต้ความร่วมมือของ ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาควิชาการ ที่ครอบคลุมหน่วยงานตามบันทึกข้อตกลง “การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” และหน่วยงานที่เป็นภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ 

“สสส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาเครือข่ายในระดับพื้นที่ จะเป็นพื้นฐานการทำงานสำคัญที่สามารถสร้างผลสะท้อน และนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้คนไทยไร้สิทธิหรือคนไทยที่ตกหล่นจากสิทธิสถานะ ได้เข้าถึงสวัสดิการที่เหมาะสมทั้งในทางสุขภาพและในทางสังคม”

ภรณี กล่าวอีกว่า ผลจากการทำงานดังกล่าวไม่แต่เพียงจะทำให้คนไทยไร้สิทธิในพื้นที่นำร่องได้รับการพัฒนาสิทธิสถานะและเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพตามเงื่อนไขที่เหมาะสมเท่านั้น หากแต่ยังนำไปสู่การเกิดระบบสนับสนุน ช่วยเหลือ แก้ปัญหาให้ประชากรกลุ่มนี้ ด้านสิทธิสถานะอย่างบูรณาการระดับพื้นที่ เช่น เครือข่ายที่จังหวัดปราจีนบุรี เกิดการทำงานร่วมระหว่างโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 6, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, หน่วยงานของพัฒนาสังคมจังหวัดปราจีนบุรี, สถานศึกษา, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ในการค้นหา ประสานส่งต่อ และติดตามการพัฒนาสิทธิ เพื่อร่นระยะเวลาพิสูจน์สิทธิ ให้สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพเร็วขึ้น จากในอดีตใช้เวลา 10-20 ปี ยังไม่สามารถพิสูจน์สิทธิได้ เมื่อร่วมโครงการ สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ และได้เรียกการพิสูจน์สิทธิภายในระยะเวลา 3-12 เดือน 

วรรณา แก้วชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวเสริมว่า มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยมีหน้าที่เชื่อมเครือข่าย เติมความรู้ให้กับคนทำงาน ประสานความร่วมมือหน่วยงาน เพื่ออุดช่องโหว่ของปัญหาของกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยคณะทำงานคนไทยไร้สิทธิฯ เป็นกลไกสำคัญที่กำกับติดตามการทำงาน ผลักดันข้อเสนอสำคัญต่าง ๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหาร่วมกัน และเปิดช่องทางการทำงานภายใต้กฎหายที่เกี่ยวข้อง โดยมี สสส.ร่วมสนับสนุนการเตรียมความพร้อมเครือข่าย การจัดเตรียมองค์ความรู้ ตลอดจนการถอดชุดความรู้ เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังโรงพยาบาล กลุ่มคนที่มีใจพร้อมทำงานเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ “กลุ่มผู้มีปัญหาสถานะบุคคลเข้าถึงสิทธิการรักษา กล้าที่จะลุกขึ้นยืน เดินไปสำนักทะเบียน และยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อ ขอทำบัตรด้วยตนเอง” โดยมีภาคีเครือข่ายร่วมกันสนับสนุน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active