ภาคประชาชน ยกร่างกม. มุ่งให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยให้มีสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาของนายกฯลงนามเห็นชอบ
วานนี้( 9 ส.ค.65 ) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เครือข่ายชาวเลอันดามัน นำโดย วิทวัส เทพสง รองประธานคณะกรรมการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งพิจารณาและผ่าน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีกลุ่มชาติพันธ์ุและชนเผ่าพื้นเมือง
โดยเนื้อหาระบุว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25กรกฎาคม 2562 ด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ และคุ้มครองวิถีชีวิตของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยการกำหนดให้มีกฎหมาย “การส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ดังปรากฏในภาคผนวก 1. ร่างกฎหมายที่สำคัญที่คณะรัฐมนตรีจะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคมที่รัฐบาลจะต้องผลักดันให้มี “พระราชบัญญัติเขตส่งเสริมและคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์” ภายในปี 2565 เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์อันเป็นการยกระดับมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และ มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ให้เป็นกฎหมายโดยเร่งด่วน
ขณะเดียวกันภาคประชาชน ในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส) และเครือข่ายชาติพันธุ์ ได้มีการจัดเวทีระดมความเห็นและรวมรวบข้อเสนอกลุ่มชาติพันธุ์ ภาคีเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศเพื่อจัดทำหรือยกร่างเป็นกฎหมาย “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ….” โดยประชาชนขึ้นมาตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติการเข้าชื่อ เสนอกฎหมายโดยประชาชน พ.ศ. 2564 โดยมีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมาย “คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิต ของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย” ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ที่มุ่งให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยให้มีสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้วางหลักการและแนวทางในการคุ้มครองและส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ให้ได้เข้าถึงสิทธิด้านต่างๆอย่างรอบด้าน สร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างเป็นระบบ มีความชัดเจน และมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของท่านนายกรัฐมนตรี ลงนามเห็นชอบ จึงขอให้นายกรัฐมนตรี เร่งลงนามเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายโดยเร่งด่วน