ราชกิจจาฯ ประกาศใช้กฎหมายอุ้มหายฯ รอ 120 วันมีผลบังคับใช้ หวังกฎหมายใช้ได้ ทุกสถานการณ์ เทียบกรณีตากใบ สะท้อนการทรมาน ย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2565 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศใช้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ประกอบด้วยข้อกฎหมาย 43 มาตรา ครอบคลุม 3 ฐานความผิด ได้แก่ การกระทำทรมาน การกระทำให้บุคคลสูญหาย และการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลังจากภาคประชาชน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใช้เวลาผลักดันมากว่า 15 ปี โดยมีเหตุผลแนบท้ายกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า
“โดยที่การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ ดังนั้น เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย สมควรกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม และมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ระหว่างประเทศ…”
มีการตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวถูกประกาศใช้ ในช่วงเวลาเดียวกันกับ เหตุการณ์ความรุนแรงที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ซึ่งครบรอบ 18 ปี ในปีนี้ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนการกระทำทรมาน และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทำต่อ “ผู้ต้องหา” ซึ่งใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในการจัดการ มีความหมายสำคัญในแง่กฎหมายที่จะออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยของประชาชน
แต่อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป รวมถึงพันธกรณีระหว่างที่ประเทศไทย แม้จะลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการให้ “สัตยาบัน” โดยที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายออกมารองรับฐานความผิดดังกล่าว จึงเป็นที่น่าจับตาว่ารัฐไทย จะดำเนินตามสิ่งที่ได้ให้สัญญาไว้กับนานาประเทศ เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่ควรได้รับการคุ้มครองอย่างมั่นคงหรือไม่