เรียกร้องบังคับกฎหมายเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ เล็งหาหน่วยงานอื่นเก็บหลักฐานร่วมตำรวจ
จากกรณีอุบัติที่ผู้ก่อเหตุขับรถหรู ยี่ห้อ “เบนท์ลีย์” พุ่งชนรถดับเพลิงบนทางด่วน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2566 แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ก่อนเหตุ ณ ที่เกิดเหตุ โดยให้ไปตรวจด้วยวิธีการเจาะเลือกที่โรงพยาบาล โดยให้เหตุผลว่าผู้ก่อเหตุเจ็บหน้าอก กลัวลมไม่เพียงพอในการวัดค่า ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่มีการเป่าแอลกอฮอล์ เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ของผู้ก่อเหตุหรือไม่ โดยกรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
The Active พูดคุยกับ รศ.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาในทางกฎหมาย และการบังคับใช้ เพื่อสถานการณ์การบนท้องถนนของไทยที่ปลอดภัยมากขึ้น โดย รศ.ปกป้อง กล่าวถึงหลักกฎหมายในเรื่องดังกล่าวว่า พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 142 กำหนดว่า ในกรณีที่มีพฤติการณ์ ควรเชื่อว่าผู้ขับขี่เกิดอาการเมา ให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรทดสอบการหย่อนความสามารถที่จะเมา หรือไม่เมาได้ อย่างที่ทราบกัน คือ การตรวจวัดแอลกอฮอล์ด้วยการเป่า หรือทอดสอบว่าหย่อนความสามารถอย่างอื่น เพื่อดูว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
“ถ้ายอมให้ทดสอบ ก็จะไม่เป็นปัญหา เก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อส่งดำเนินคดีในข้อหาเมาแล้วขับ ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายไทย กรณีเมาแล้วขับ แม้ไม่เกิดอุบัติเหตุ ก็มีโทษแล้ว คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ไม่ใช่แค่เปรียบเทียบปรับ กลับบ้านได้ จึงเป็นโทษสำคัญ…”
แต่ปัญหาในทางปฏิบัติ คือ ถ้าเขาไม่ยอมให้ตรวจ จะเกิดอะไรขึ้น ? ในกฎหมายเดียวกัน เขียนไว้ว่า ให้เจ้าพนักงานจราจร มีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้ได้ เพื่อทดสอบภายในระยะเวลาที่จำเป็น คือ ไม่สามารถปล่อยกลับไปได้ หากเวลาผ่านไปผู้นั้นยอมให้ทอดสอบ แล้วผลออกมาว่า ไม่เมา และไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย ก็ถือว่าไม่มีความผิด ในทางตรงกันข้ามสุดท้ายแล้วยังไม่ยอมให้เป่าอยู่ดี ผลคือ กฎหมายกำหนดว่าหากผู้นั้นไม่ยอมให้ทอดสอบ โดยไม่มีเหตุอันสมควรกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้น “เมาแล้วขับ”
เมาแล้วขับ “โทษหนัก” อย่าทำเป็นเรื่องปกติ
สำหรับความผิดในข้อหาเมาแล้วขับ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกนั้น รศ.ปกป้อง กล่าวว่า มีโทษค่อนข้างสูง ตามมาตรา 160 ตรี โดยประกอบ
- เมาแล้วขับขี่ ไม่เกิดอุบัติเหตุ จำคุกไม่เกิน 1 ปี
- เมาแล้วขับ แล้วเกิดอุบัติเหตุ จำคุก 1-5 ปี
- เมาแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บสาหัส จำคุก 2-6 ปี
- เมาแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุทำให้เสียชีวิต จำคุก 3 – 10 ปี
ซึ่งจะเห็นได้ว่าโทษจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนั้นยังมีกรณี “ชนแล้วหนี” กฎหมายกำหนดไว้ใน มาตรา 78 ว่า ผู้ใดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผิด หรือไม่ผิดก็ตาม เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว ต้องหยุด และแสดงตัว ณ ที่เกิดเหตุ ในกรณีผู้ขับขี่ ไม่แสดงตัว คือ อาจจะเรียกรถ แล้วหนีไป กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็น “ผู้กระทำความผิด” ซึ่งความผิดในข้อหาชนแล้วหนี มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนด้วย
ในขณะกรณีของผู้ก่อเหตุที่เป็นข่าวนั้น รศ.ปกป้อง ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการเก็บหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า แม้การตรวจด้วยวิธีเจาะเลือดที่โรงพยาบาลนั้น อาจเป็นไปตามระเบียบ หรือกฎกระทรวงกำหนดให้ทำได้ ด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม แต่อาจเกิดผลต่างกันตามช่วงเวลา และวิธีการด้วย
“เราต้องตั้งข้อสังเกตว่า การตรวจในที่เกิดเหตุ ณ เวลานั้นทันที จะได้ผลอย่างหนึ่ง และการไปตรวจที่โรงพยาบาล ก็จะได้ผลอย่างหนึ่ง และหากกระบวนการที่โรงพยาบาลทิ้งเวลาไว้หลายชั่วโมง ย่อมทำให้มีผลที่แตกต่างออกไป สิ่งที่ตำรวจต้องตอบคำถาม คือ ในกรณีอื่น ๆ ได้กระทำตามนี้ทุกกรณีหรือไม่ ทำไมเราเห็นในบางกรณีท่านก็ให้ตรวจในที่เกิดเหตุ…”
ช่องโหว่ทั้ง “กฎหมาย” และ “การบังคับใช้”
รศ.ปกป้อง กล่าวว่า หากเราวิเคราะห์ถึงปัญหา เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ “การบังคับใช้กฎหมาย” ที่ยังไม่เอาจริงเอาจัง มีหลายมาตรฐาน ทำให้ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุด ติดอันดับโลก ในขณะเดียวกัน แม้กฎหมายโดยทั่วไป อาจไม่มีปัญหาเท่าไหร่นัก เนื่องจากข้อหาเมาแล้วขับนั้น มีโทษจำคุกที่รุนแรงอยู่แล้ว แม้ไม่เกิดอุบัติเหตุ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ การบังคับใช้กฎหมาย ให้เที่ยงธรรมมากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม ตนมองว่ากฎหมายยังมีประเด็นที่สำคัญ และควรเกิดการบังคับใช้ในประเทศไทย กรณีขับรถน่าหวาดเสียว ประมาท แม้ไม่ได้เมา หรือไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ โดย รศ.ปกป้อง เทียบเคียงกรณี “หมอกระต่าย” ว่าการขับรถในเมือง โดยใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่หยุดบนทางม้าลาย แม้ไม่ส่งผลให้มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ควรมีความผิดด้วย โดยในทางกฎหมายเรียกว่า “การประมาทโดยจงใจ”
เห็นด้วยมีหน่วยงานอื่น ร่วมเก็บหลักฐานกับตำรวจ
รศ.ปกป้อง กล่าวต่อว่า หากสังคมตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม คือ การสืบสวน และรวบรวมพยานหลักฐาน หากเป็นกรณีที่มีหน่วยงานอื่นเข้าร่วมในกระบวนการนั้นด้วย จะช่วยสร้างความโปร่งใส ความละเอียดรอบคอบให้กับกระบวนการเก็บหลักฐานได้ มีหน่วยงานร่วมตรวจสอบการทำหน้าที่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างกรณีนี้ รวมถึงความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ที่ต้องติดกล้องบันทึกขั้นตอนในการปฏิบัติอย่างครบถ้วนด้วย
“เรื่องนี้ ก็ต้องขอบคุณสังคม เมื่อเกิดขึ้นพร้อมสื่อ และการบันทึกภาพจากประชาชนทำให้เรามีหลักฐาน ที่ทำให้สังคมติดตามได้ หากลองนึกกลับไปในอดีต กรณีแบบนี้ ถ้าไม่มีกล้อง ไม่มีอะไรเลย เรื่องคงเงียบหายไปแล้ว…”
สุดท้าย เมื่อเรื่องนี้ไปถึงชั้นศาล เป็นดุลยพินิจของศาลในการตีความกฎหมาย หากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ว่ามีแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็ต้องถูกดำเนินคดี แต่ถ้าไม่มีหลักฐาน คือ ผลตรวจแอลกอฮอล์ไม่เกินกฎหมาย ไม่มีการเป่าเก็บไว้เป็นหลักฐาน บทสันนิษฐานที่ถือว่า เมาแล้วขับ ก็ควรเป็นไปตามนั้น ประกอบกับพฤติการณ์ และคำชี้แจงของผู้ก่อเหตุในชั้นศาลด้วย
“หัวใจสำคัญที่สุด คือ การบังคับใช้กฎหมายทั้งกระบวนการยุติธรรม ทั้ง ตำรวจ อัยการ ศาล ต้องเข้มแข็ง โปร่งใสและตรงไปตรงมากับทุกคน บังคับใช้อย่างเสมอภาค โดยไม่เลือกปฏิบัติ สถานการณ์เรื่องความปลอดภัยทางถนนในไทยอาจจะดีขึ้น…”