แนะ เพิ่มบทลงโทษจริงจัง มีมาตรการกดดันทางกฎหมาย เพิ่มระบบ Watchlist คนที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม พร้อมร่วมมือหน่วยงานเรียกเก็บเงินชดเชยย้อนหลัง ปิดช่องโหว่กฎหมาย คนผิดลอยตัว เหยื่อไร้การเยียวยา
จากกรณี “น้องการ์ตูน” ที่ตกเป็นเหยื่อของคนที่ขับรถโดยประมาท จนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงมากว่า 11 ปี ทำให้แม่ต้องออกมาต่อสู้ เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในกระบวนการชดเชย เยียวยา จากผู้กระทำความผิดตามคำสั่งศาล ขณะที่กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น ยังมีครอบครัวผู้ตกเป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุ ที่ยังต้องเรียกร้องความเป็นธรรมในกระบวนการเยียวยาไม่ต่างกัน
รศ.พ.ต.ท. กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยผ่านรายการ Flash Talk โดยวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ว่า ตามหลักของกฎหมายผู้ที่ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือเสียชีวิต มีโทษจำคุก แต่ส่วนใหญ่เมื่อคดีเข้าสู่ชั้นศาล หากมีการไกล่เกลี่ยเจรจา ชดเชยค่าเสียหาย ก็อาจจะมีการรอลงอาญา แต่หากกรณีที่ไม่เยียวยาเลย หรือ ทำเหมือนจะเยียวยา ให้เงินส่วนหนึ่ง แต่ไม่ดูแลต่อเลย ศาลอาจจะตัดสินใจจำคุก ซึ่งโทษในแต่ละกรณีมีความแตกต่างกันออกไป

รศ.พ.ต.ท. กฤษณพงค์ บอกอีกว่า ปัญหาอยู่ตรงที่เมื่อเกิดเหตุแล้ว ความรับผิดชอบ สามัญสำนึกของผู้ก่อเหตุ มีไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐต้องมามีส่วนในการป้องกัน แก้ไขปัญหา รวมทั้งเยียวยาเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบด้วย อย่างในกรณีของน้องการ์ตูน หากมองในภาพความเห็นจริง คนที่อยู่ดี ๆ ก็มีรถวิ่งเข้ามาชน ได้รับบาดเจ็บ ถามว่าใครต้องรับผิดชอบ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ก็มองไปในเรื่องของเวรกรรม แต่ในความเป็นจริงในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว มองเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งเป็นคำถามว่าประเทศไทยทำหรือยัง
ประเด็นต่อมา รศ. พ.ต.ท. กฤษณพงค์ มองว่า ในไทยมักไปเน้นเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาเกินไป จนลืมให้ความสำคัญกับการดูแลแก้ไข ฟื้นฟูสภาพจิตใจ การเยียวยาผู้เสียหาย ซึ่งการออกแบบกฎหมายมีความสำคัญในเชิงป้องกัน ลงโทษ และการแก้ไขเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับความเสียหาย ทั้งการเยียวยาสภาพจิตใจ เยียวยาระหว่างการรักษา ที่ไม่สามารถทำงานได้ ต้องมีครอบครัวดูแล เหล่านี้เป็นสิ่งที่ในไทยยังไม่มีความชัดเจน
“ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด กรณีน้องการ์ตูน ภาระไปตกอยู่ที่คุณแม่ ที่ต้องดูแลน้องเป็น 10 ปี ในขณะที่ผู้ก่อเหตุเอง ที่ตามข่าวบอกว่าแข่งรถกันมา แก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนชื่อ การยอมติดคุกไป และสุดท้ายเมื่อออกมาก็จะไปติดตามสืบทรัพย์ ยึดทรัพอะไรก็ไม่ได้ เพราะมีการยักย้ายถ่ายเทไปแล้ว ดังนั้นบทลงโทษต้องจริงจัง”
รศ.พ.ต.ท. กฤษณพงค์ พูตระกูล
รศ.พ.ต.ท. กฤษณพงค์ เสนอว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีก คือ
- การเพิ่มบทลงโทษอย่างจริงจัง เช่น โทษจำคุก หากไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล ถึงแม้ว่าจะจำคุกไปแล้ว
- การตั้งกองทุนเยียวยาดูแลเหยื่อ โดยนำเงินมาจากการสนับสนุนจากรัฐ จากบริษัทประกันภัยรถ มาจากภาษีบาป หรือแม้กระทั่งค่าปรับจากศาล ที่เกี่ยวกับคดีจราจร เพื่อให้มีกองทุนสามารถดูแลเหยื่อได้ทันที ส่วนเงินที่ใช้ในการดูแลไปแล้วก็จะมีนิติกร ตามฟ้องร้องคดีในกรณีที่คนนั้น ๆ ไม่ดูแลเหยื่อเช่นเดียวกับกรณีนี้
- เสนอให้มีมาตรการอื่นตามมาด้วย เช่น มีระบบ Watchlist รายชื่อสำหรับคนที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ที่ต้องมาชดใช้เงิน ตามจำนวนที่ศาลตัดสิน เพราะหากต่อให้เขาไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย หรือเปลี่ยนชื่อไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันหากเขาต้องไปทำงาน ได้รับเงินเดือนก็ต้องตามไปยึดได้
“เช่น หากคุณได้เดือนละ 15,000 หรือ 20,000 ต้องมีการออกแบบว่าแจ้งไปแล้วต้องโดนบังคับให้หักเงินเดือนมาส่วนหนึ่ง หรือนำไปอยู่ในบัญชีเฝ้าระวังของระบบสถาบันการเงินที่ต้องเฝ้าระวัง ว่าบุคคลนี้เคยมีพฤติกรรมแบบนี้ เรียกว่าเป็นมาตรการกดดันหลายทาง ที่ทำให้เขาต้องมารับผิดชอบในสิ่งที่เขากระทำ เพราะไม่เช่นนั้น เขาก็จะมองว่าเขาติดคุกไปแล้ว ก็เลยไม่สนใจการจ่ายเงิน สุดท้ายภาระก็ไปตกอยู่ที่แม่ของน้อง”
รศ.พ.ต.ท. กฤษณพงค์ พูตระกูล
สามัญสำนึกแต่ละคนไม่เท่ากัน กฎหมายต้องทำหน้าที่ให้ได้
รศ.พ.ต.ท. กฤษณพงค์ ระบุว่า การลงโทษผู้กระทำความผิดของศาลจะอิงตามกฏหมายเป็นหลัก นั่นหมายความว่าเราจะต้องกลับมาทบทวนบทลงโทษกันใหม่ ซึ่งพบว่าบางกรณีบางคนทำความผิด เช่น ประมาทขับรถชนผู้อื่นเสียชีวิตถ้าเขามีฐานะอยู่บ้างก็ยอมชดใช้ให้ทั้งหมดตามที่คู่กรณีเรียกร้อง บางกรณีพบว่าไม่ยอมจ่าย แต่ก็มีคำถามตามมาว่าแล้วไปฝ่าฝืนกฎหมายทำไม ขับรถเร็ว เมาแล้วขับ เมื่อเกิดเหตุก็มักจะบอกว่าไม่มีเงิน
เพราะฉะนั้นการลงโทษจึงต้องมีความสมดุล ทั้งในแง่ของการลงโทษต่อตัวบุคคล เช่น กักขัง จำคุก รวมทั้งเรื่องค่าปรับ ต่อมาคือการออกแบบร่วมกันในการลงโทษ เพราะการจะแก้กฎหมายต้องดำเนินการผ่านสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชาชนเลือกเข้าไป พรรคการเมืองก็จะต้องมาชูนโยบายว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร เช่น การเมาแล้วขับ แล้วไปขับรถชนคน ที่เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย เช่น จำคุกโดยไม่มีการรอลงอาญา ประการต่อมา คือ ต้องชดใช้เงินเยียวยาเหยื่อ โดยเฉพาะหากเขาต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงต้องได้รับเงินชดเชยรายได้วันละเท่าไร ค่ารักษาพยาบาลต่อวันเท่าไร และต่อเดือนเท่าไร รายปีเท่าไร รวมถึงคนดูแลด้วย หากสิ่งเหล่านี้ถูกออกแบบมา จะสามารถตอบโจทย์เรื่องของการตั้งกองทุนในการดูแลแก้ไขฟื้นฟูเยียวยาเหยื่อ ซึ่งในต่างประเทศมีกรณีของยุโรป สหรัฐสหรัฐอเมริกา มีเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้การดูแลเหยื่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว
“เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าเหยื่อและครอบครัวต้องมาต่อสู้ ผมว่ามันดูไม่ค่อยจะยุติธรรม อย่างกรณีแม่น้องการ์ตูน ที่เรารู้ว่าค่ารักษาพยาบาลเท่าไร และโรงพยาบาลจะฟ้องเอาผิดกับคุณแม่ เพราะว่าค้างค่ารักษาก็มีเงินจากกองทุนฯ นี้จ่ายเลย”
รศ. พ.ต.ท. กฤษณพงค์ พูตระกูล
รศ.พ.ต.ท. กฤษณพงค์ ยังชี้ด้วยว่า ที่สำคัญในกระบวนการติดตามทรัพย์ควรมีการออกแบบกฎหมาย ที่ครอบคลุมเรื่องของการโยกย้ายถ่ายเททรัพย์ เพราะเขาจะรู้ว่าต่อไปอาจจะมีการบังคับคดีตามคำพิพากษาแล้ว ให้มีการออกแบบกฎหมายว่าให้มีการติดตามยึดทรัพย์กลับมาได้ หรือแม้กระทั่งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ก่อเหตุไปแล้วก็สามารถติดตามยึดได้ เพราะมนุษย์ทุกคนต้องกินต้องใช้เขาต้องพยายามหารายได้ แน่นอนว่าเค้าก็ต้องควรจะจัดรายได้ส่วนหนึ่งมาเยียวยาที่เขาได้รับความทุกข์ทรมานจากการกระทำของคุณเช่นกัน
ช่องโหว่กฎหมายส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
รศ. พ.ต.ท. กฤษณพงค์ บอกด้วยว่า กฎหมายที่มีช่องว่าง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และต่อไปก็จะเกิดปัญหาตามมาคือศาลเตี้ย เมื่อคนไม่เชื่อต่อระบบก็จะเกิดการแก้แค้น เพราะรู้สึกว่ารัฐไม่สามารถจัดการได้ เพราะฉะนั้นรัฐที่มีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ก็ต้องทำหน้าที่ในมิติของการป้องกัน เฝ้าระวัง ลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุอาชญากรรม หรืออุบัติเหตุ
“แล้วสำหรับกรณีที่อ้างว่าประมาท ต้องถามต่อว่าคุณมีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดความประมาทหรือไม่ ? เช่น ไปดื่มแอลกอฮอล์ แล้วไปชนคน นี่ไม่ได้เรียกว่าประมาทอย่างเดียว แต่เรียกว่ามีเจตนา อย่างในประเทศญี่ปุ่น กรณีแบบนี้จะมีโทษหนักมาก หากสังเกตวันศุกร์คนญี่ปุ่นจะเดินเมาตามท้องถนนใช้รถไฟฟ้า เพราะว่าโทษเขาหนักจึงไม่ขับขี่ จริง ๆ ต้องมีการออกแบบกฎหมายให้หนักและสมกับการทำผิดของเขา ประการต่อมาคือ ขับรถเร็ว แข่งขันกันบนท้องถนน ไม่คำนึงถึงคสาวปลอดภัย หากมีการเฝ้าระวังป้องกันอย่างดีพอ ก็จะลดโอกาสที่จะทำให้เกิดความสูญเสียขึ้นได้”
รศ.พ.ต.ท. กฤษณพงค์ พูตระกูล
ทวงคำมั่น ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ ปฏิรูปตำรวจ
เมื่อถามถึงโอกาสที่จะผลักดันในเกิดการแก้ไขกฎหมายได้จริง รศ.พ.ต.ท. กฤษณพงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้อาจจะต้องอาศัยอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจริง ๆ แล้ว หากย้อนกลับไปตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้งก่อนได้รับฐาลชุดนี้มา เคยเข้าร่วมเวทีดีเบตในฐานะนักวิชาการที่ไทยพีบีเอส มีตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองมาร่วม และมีพรรคที่อยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน เคยระบุถึงแนวทางการปฏิรูปตำรวจ การแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรม เกิดเป็นสัญญาประชาคมในเวลานั้น จากการติดตามมาโดยตลอดจนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นมีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวเข้าสภาฯ ซึ่งในรายละเอียดที่จะมีการปฏิรูปนั้น รวมถึงการแก้ไขกฎหมายระเบียบจราจร การแก้ไขฟื้นฟูเหยื่อ มาตรการบังคับทางกฎหมายในการลงโทษ
“สิ่งสำคัญคือ เจตจำนงค์ของผู้กำหนดนโยบายทางการเมือง ว่าเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทำอย่างไร นอกเหนือจากหวังแค่คะแนน หวังแค่จะเป็นรัฐบาล”
รศ. พ.ต.ท. กฤษณพงค์ พูตระกูล
รศ.พ.ต.ท. กฤษณพงค์ กล่าวเพิ่มเติม ถึงรายละเอียดที่มีการให้คำสัญญาว่า มีทั้ง เรื่องการกระจายอำนาจ โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานของตำรวจ โดยไม่ใช่การสั่งการจากบนลงล่าง (Top – Down) แต่จะเน้นรับฟังปัญหาจากชุมชน เพื่อนำไปสู่การออกแบบให้แก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
“หากการปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นจริง จะทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ตำรวจและประชาชนจะร่วมแก้ปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ไปด้วยกัน การเมืองจะแทรกแซงได้น้อยลง การรวมศูนย์อำนาจจะเป็นการกระจายอำนาจ และ ปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่จะลดลง เพราะตำรวจในพื้นที่จะทำงานจากความต้องการประชาชน ไม่ได้มาจากการสั่งการจากส่วนกลางลงไป”
รศ.พ.ต.ท. กฤษณพงค์ พูตระกูล