กลุ่มนิสิตจุฬาฯ จากหลายคณะให้กำลังใจ พร้อมยืนหยัดร่วมต่อสู้ไปด้วยกันจนกว่าจะถึงที่สุด ด้านศิษย์เก่า ชี้ ในฐานะสถาบันการศึกษามีคณาจารย์มากความสามารถน่าจะหาทางออกได้ดีกว่านี้ ศาลนัดสืบพยานนัดสุดท้ายพรุ่งนี้
วันนี้ (19 มิ.ย. 2566) The Active ลงพื้นที่สำรวจศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลืองที่กำลังเป็นกรณีพิพาทกับสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากตั้งอยู่บนที่ดินกรรมสิทธิ์ที่ต้องการจะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาคารชุด และสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร
เพ็ญประภา พลอยสีสวย ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม กล่าวว่า สำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มทยอยไม่ต่อสัญญาเช่ากับชาวชุมชนสามย่าน รวมถึงศาลเจ้าฯ ช่วงปี 2559 ชาวบ้านเริ่มหาที่อยู่ใหม่และอพยพย้ายออกไป แต่ตนยืนยันที่จะไม่ย้ายออก เนื่องจากมองว่าเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ที่ขาดการมีส่วนร่วม ทั้งยังเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณซึ่งยังคนมีผู้คนเข้ามากราบไหว้ต่อเนื่อง ขณะที่มีกลุ่มนิสิตจุฬาฯ จากหลายคณะให้กำลังใจ และพร้อมยืนหยัดร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน จนกว่าจะถึงที่สุด โดยล่าสุดถูกสำนักทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฟ้องเรียกค่าเสียหายถึง 125 ล้านบาท และในวันที่ 21 มิ.ย. 2566 ศาลชั้นต้นจะนัดสืบพยานนัดสุดท้าย
เพ็ญประภา เล่าด้วยว่า เคยเจรจาพูดคุยกับทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลายครั้ง แต่สำนักฯ ต้องการให้ย้ายออก ขณะที่ศาลเจ้าฯ ได้เสนอทางเลือก ที่จะปรับปรับภูมิทัศน์เพื่ออยู่ร่วมกับคอนโดมิเนียม และผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหม่
“เคยถามเขาว่าหากย้ายศาลเจ้าไปแล้ว ตรงนี้จะเป็นอะไร ทางสำนักทรัพย์สินฯ ก็บอกว่าจะเป็นสวนดอกไม้ จะทำเป็นสวนดอกไม้”
เพ็ญประภา พลอยสีสวย ปอนด์ -ศิษย์เก่า
ในระหว่างที่ The Active ลงพื้นที่และสัมภาษณ์ ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม พบว่ามีผู้คนเดินเข้าทางมากราบสักการะอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ “ปอนด์” เป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ คณะบัญชี ซึ่งได้ดูภาพยนตร์ The Last breath of SAMYAN แล้วจึงเดินมาสักการะศาลเจ้าแม่ทับทิมในพื้นที่จริง
ปอนด์ ให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกเสียดาย หากศาลแห่งนี้จะต้องถูกรื้อออกไปและในฐานะศิษย์เก่ารู้สึกอายกับการตัดสินใจของสถาบันการศึกษา ซึ่งมีคณาจารย์มากความสามารถ น่าจะหาทางออกได้ดีกว่านี้
สำหรับประวัติความเป็นมาของศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง มีความยาวนานกว่า 150 ปี แต่ตัวอาคารยังมีอายุยังไม่ถึง 100 ปี เพราะสร้างในพื้นที่เมื่อปี 2513 เป็นศาลใหม่ที่สืบทอดมาจากศาลเก่าที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถูกจุฬาฯ ไล่รื้อมาก่อนหน้านี้แล้วครั้งหนึ่ง
ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือ ปี่เซี้ยคู่หน้าศาลที่ตัดย้ายมาจากศาลเก่า และรูปปั้นไม้แกะสลักเจ้าแม่ทับทิม ที่ตามตำนานเล่าว่าลอยน้ำมาอีกทั้งยังพบกระถางธูปพระราชทาน อักษรย่อ จปร. ซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้ศาลเจ้าเพียง 4 แห่งในกรุงเทพมหานคร
กระถางธูปพระราชทาน อักษรย่อ จปร.