ฐานข้อมูลรัฐไม่เชื่อมโยง ช่องโหว่ติดตาม “เด็กหาย-ลักพาตัวเด็ก”

ยังไม่เจอตัว”น้องมัว” พบข้อมูลคนร้ายพาเด็กเข้าร้านโทรศัพท์ มูลนิธิกระจกเงาชี้เด็กหายจากระบบทุกปี ขาดการติดตามจากระบบเพราะฐานข้อมูลหน่วยงานรัฐไม่เชื่อมโยงกัน เสนอสวัสดิการถ้วนหน้าเด็กแรกเกิดอุดช่องโหว่

24 ก.ย.2566 กรณีที่เด็กชายวัย 14 ปี หรือ น้องมัว ที่ถูกชายขับซาเล้งหรือนายปิยะพงษ์ หนองเฆ่ ชื่อเล่นบอย หรือพัน อายุ 35 ปี ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ลักพาตัวออกจากวัดบางโฉมศรี จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2566 แม้ว่าในวันนี้จะมีการออกหมายจับ ผู้ก่อเหตุลักพาตัวแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถจับกุมตัวได้  โดยพบข้อมูลว่านายปิยะพงษ์ นำรถซาเล้งไปขายให้กับร้านรับซื้อที่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี โดยพยานระบุว่า พบนายปิยะพงษ์มากับเด็กชายคนหนึ่ง อ้างว่าเป็นหลานจะพาไปเรียนหนังสือ โดยเด็กเล่นโทรศัพท์ตลอดเวลาคาดว่าเด็กชายคนดังกล่าว คือ น้องมัวที่ถูกลักพาตัว ทั้งนี้ นายปิยะพงษ์ ขายรถซาเล้งได้เงินสามพันกว่าบาททำให้ประเมินว่า ยังมีศักยภาพในการพาเด็กเดินทางไปตามที่ต่างๆ

นอกจากนี้ ยังพบเบาะแสว่า ในวันที่ผู้ก่อเหตุลักพาตัวน้องมัว โดยอ้างว่าจะซื้อโทรศัพท์ให้  ได้มีการพาน้องมัวเข้าไปในร้านขายโทรศัพท์แห่งหนึ่งในอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี  คาดว่ายิ่งทำให้เด็กหลงเชื่อว่าจะซื้อโทรศัพท์ให้จริงโดยภาพกล้องวงจรปิด ภายในร้านขายโทรศัพท์ เห็นนายปิยะพงษ์ พาน้องมัวเข้ามาในร้าน  เผยให้เห็นลักษณะของคนร้ายและเด็กที่ถูกลักพาตัว โดยปัจจุบัน ไม่ได้ใช้รถซาเล้งแล้ว คาดว่าเดินทางด้วยรถสาธารณะ

ทีมข่าวไทยพีบีเอสสอบถามไปที่ เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า การหายตัวไปของเด็กมีทุกปี ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุ คือผู้ปกครองลักพาตัวเนื่องจากแย่งกันเลี้ยงดูแลบุตรหลาน ส่วนกรณีที่สองคือหายไปเองจากการเล่นๆ อยู่ และยิ่งหากหายไปก่อนช่วงอายุที่ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนจะพบว่าเด็กจะขาดหายจากระบบทันทีเนื่องจากหน่วยงานของรัฐไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงกัน

“ กรณีที่เราทำงานอยู่มีบางคนที่แม่เด็กแจ้งความหายแล้ว และยังไม่สามารถติดตามตัวเจอ แต่ทะเบียนราษฎร์ยังพบว่าเด็กก็ยังมีชื่ออยู่ในระบบไม่มีการอัพเดตข้อมูลตามความเป็นจริง ทั้งที่เด็กขาดหายไปจากระบบแล้วถ้าใครไม่ได้ทำบัตรประชาชนเลยก็ไม่มีใครไปตามตัวเขา ไม่มีการทวงถามในระบบ ”

ทัศนัย ขันตยาภรณ์ เครื่อข่ายสนับสนุนทางเลือกผู้หญิงท้องไม่พร้อม เห็นว่า การที่รัฐจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาทให้เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้น้อย ทำให้ครอบครัวที่ยังเข้าไม่ถึงเกิดการตกหล่น หากรัฐหันมาจ่ายเงินให้ครอบคลุมทุกคน จะทำให้เด็กได้เข้าสู่ระบบ และสร้างระบบติดตามได้เพื่อแก้ปัญหากรณีดังกล่าว 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active