เสนอทำจุด Drop Point ทิ้งสิ่งของคุณภาพดี บริจาคแก่คนยากไร้

กทม. แถลง โครงการ ‘ไม่เทรวม’ ลดรายจ่ายได้กว่า 141 ล้านบาท/ปี ด้าน ‘บก.ลายจุด’ เสนอจัดทำจุด Drop Point สำหรับทิ้งสิ่งของคุณภาพดี บริจาคแก่คนยากไร้ ลดการเพิ่มปริมาณขยะ

วันที่ 22 พ.ย. 66 เอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการจัดเก็บขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบาย “ไม่เทรวม” รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันแยกขยะก่อนทิ้ง ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการจัดเก็บขยะแบบแยกประเภทของกรุงเทพมหานคร จึงได้มีข้อสั่งการให้ทั้ง 50 สำนักงานเขต ดำเนินการดังนี้

1. จัดระบบรองรับขยะแยกประเภท ในรถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด ขนาด 2 ตัน และแบบอัด ขนาด 5 ตัน ทุกคัน โดยตั้งถังขยะเศษอาหาร (ถังสีเขียว) ถังขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) และถังขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ในช่องใส่ขยะแยกประเภทด้านหลังคนขับ พร้อมประชาสัมพันธ์แนะนำวิธีการคัดแยกขยะและวิธีการทิ้งขยะแยกประเภทให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง

2. จัดให้มีรถเฉพาะสำหรับจัดเก็บขยะเศษอาหารและขยะรีไซเคิลจากประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ “ไม่เทรวม” อย่างน้อยสำนักงานเขตละ 1 คัน โดยให้นำรถมาติดสติกเกอร์ “ไม่เทรวม” ที่สำนักสิ่งแวดล้อม

3. จัดให้มีจุดรวบรวมขยะเศษอาหารเพื่อนำไปทำปุ๋ยหรือส่งต่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ รวมถึงจัดให้มีจุดพักขยะอันตรายแยกประเภทเพื่อส่งกำจัดอย่างถูกวิธี และจุดพักขยะรีไซเคิลขายนำเข้าเป็นกองทุนสวัสดิการพนักงาน

4. จัดทำบัญชีรายชื่อ สถานที่ติดต่อ ประชาชนและสถานประกอบการที่ร่วมโครงการไม่เทรวม และร่วมโครงการคัดแยกขยะ BKK Zero Waste และนำเข้าระบบรายงานตามที่สำนักสิ่งแวดล้อมกำหนด

ทั้งนี้ จากสถิติการดำเนินการตามนโยบายแยกขยะต้นทางพบว่า ปริมาณขยะปี 2566 ลดลงจากปี 2565 เฉลี่ย 204 ตัน/วัน ลดค่าใช้จ่าย เป็นเงิน 387,600 บาท/วัน หรือ 74,460 ตัน/ปี ลดค่าใช้จ่าย เป็นเงิน 141,474,000 บาท/ปี

สำหรับประชาชนสามารถเริ่มแยกขยะง่าย ๆ โดยใส่ถุงขยะแยกประเภท หรือใส่ถุงดำพร้อมเขียนข้อความระบุประเภทขยะไว้บนถุง ดังนี้
• ขยะเศษอาหาร เช่น เศษผักผลไม้ เศษอาหาร เศษเนื้อสัตว์
• ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติกเปื้อนอาหาร ซองบะหมี่ ถุงขนม กล่องโฟม ผ้าอ้อมสำเร็จรูป
• ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ยาหมดอายุ กระป๋องสเปรย์ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ
• ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ

ด้าน สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งโครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา มองว่า สิ่งของบางอย่างเมื่อไม่ได้ใช้งานหรือไม่เป็นที่ต้องการแล้ว เจ้าของอาจจะโยนลงถังเป็นขยะ แต่จริงๆ แล้วของเหล่านั้นอาจจะยังใช้งานได้ และเป็นประโยนช์ให้กับผู้อื่นต่อได้อีก ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิกระจกเงาได้ทำหน้าที่เป็นสถานรับของบริจาคคุณภาพดีเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องการ หรือระดมทุนเพื่อนำทุนทรัพย์ไปช่วยเหล่าผู้ยากไร้ต่อไป ซึ่งมีทั้งสิ่งของเครื่องใช้ และเสื้อผ้ามือสอง

จึงเสนอว่ารัฐควรที่จะมีการจัดทำจุด Drop Point เพื่อเป็นทางเลือกให้คนได้ทิ้งสิ่งของที่ยังมีคุณภาพอยู่ เพื่อให้ได้มีโอกาสต่ออายุการใช้งาน ชะลอการกลายสถานภาพเป็นขยะไร้ค่า แต่ประเทศไทยไม่มี ถ้าจะทิ้งก็คือเป็นขยะเลย ส่วนต่างประเทศหลายแห่งก็เริ่มให้ความสำคัญและมีการตั้งจุดวางสิ่งของเพื่อรับบริจาคแบบที่ว่าแล้ว ขณะเดียวกันก็จัดให้มีหน่วยงานเข้ามาบริหารจัดการสิ่งของเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป

“ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหรืออะไรทั้งหลาย จริงๆ รัฐต้องเป็นคนจัดให้มี Drop point หากทำให้เกิดขึ้นแล้ว มันจะเกิดการจัดการได้ง่าย สามารถเอามาแยกได้เป็นกระดาษ หนังสือ เสื้อผ้า ฯลฯ แล้วก็เอาไปใช้ประโยชน์ให้กับคนที่เขาต้องการได้ ควรจะมีในทุกจังหวัด หรือในกรุงเทพฯ ก็ควรที่จะมีในทุกเขต เพื่อให้คนสะดวกที่จะเอามาวาง เมื่อปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น โอกาสที่จะคัดแยก ส่งต่อ การบริหารจัดการปัจจุบันจึงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ผมคิดว่าที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นกระจกเงา วัดสวนแก้ว หรือมูลนิธิใด ๆ สามารถจัดการได้คิดว่าไม่เกิน 3% จากทั้งหมดที่ควรถูกจัดการ ซึ่งส่วนที่เหลือถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active