สืบจากข้อมูล คืนความยุติธรรม ‘คดีน้องหลิว’ หลังเป็นศพนิรนาม 8 ปี

ศาลฎีกา พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ผอ.โรงเรียน คดีฆาตกรรม ‘น้องหลิว’ สาวโรงงาน ที่หายตัวไปเมื่อ 12 ปีก่อน จนพบเป็นศพนิรนาม ‘มูลนิธิกระจกเงา’ ติดตามไม่ปล่อย ใช้ข้อมูลสืบหาความจริงจนครอบครัวได้รับความยุติธรรม

วันนี้ (31 ต.ค. 67) ที่ศาลจังหวัดสระแก้ว ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีที่ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ตกเป็นผู้ต้องหา ฆาตกรรม “น้องหลิว” สาวโรงงานวัย 19 ปี เหตุเกิดเมื่อ 12 ปีที่แล้ว โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1.7 ล้านบาท

จากคนหาย สู่เหตุฆาตกรรมอำพราง

คดีนี้เริ่มต้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 เมื่อครอบครัวของ น้องหลิว แจ้งคนหาย หลังจากเธอออกจากบ้านเพื่อไปทำงานที่นิคมอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย โดยพบเพียงรถจักรยานยนต์ของเธอจอดทิ้งไว้ที่ห้างโลตัส สาขาคลองรั้ง ครอบครัวได้พยายามติดตามข่าวและโพสต์หาข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ได้รับเพียงข้อความลึกลับที่บอกว่าน้องหลิวไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ได้รับการยืนยัน

ในปี 2562 ครอบครัวของน้องหลิวจึงติดต่อมูลนิธิกระจกเงา เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยมูลนิธิได้ตรวจสอบข้อมูลคนหายทั้งหมดและพบว่า ศพนิรนามที่พบในหลายพื้นที่ อาจเชื่อมโยงกับคดีนี้ ทีมงานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบศพนิรนามจากโรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียง กระทั่งพบข้อมูลศพหญิงนิรนาม 3 ศพ ที่ต้องสงสัยว่าน่าจะเป็นร่างของน้องหลิว

ต่อมา ปี 2564 เริ่มมีการเก็บตัวอย่าง DNA จากแม่ของน้องหลิวเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับศพนิรนามทั้ง 3 ร่าง จนพบว่า ศพที่พบเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2555 บริเวณไร่อ้อยใน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ตรงกับ DNA ของน้องหลิว จากการชันสูตรโดยโรงพยาบาลตำรวจ ศพมีสภาพเน่าอืด ใบหน้าเปลี่ยนรูป ไม่มีเอกสารติดตัว พบบาดแผลจากการถูกยิงด้วยอาวุธปืนหลายจุด โดยศพถูกนำไปฝังเป็นศพนิรนามนานถึง 8 ปี ก่อนจะได้รับการยืนยันว่าเป็นร่างของเธอ

ครอบครัวน้องหลิว หลังรับฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

เมื่อทราบตัวผู้เสียชีวิตแล้ว มูลนิธิกระจกเงาจึงได้ร่วมมือกับตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อรวบรวมหลักฐาน จนนำไปสู่การออกหมายจับผู้อำนวยการโรงเรียนคนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับน้องหลิว มีปมความขัดแย้งหึงหวง และเป็นผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุ ตำรวจออกหมายจับในข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ซ่อนเร้นย้ายหรือทำลายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตาย พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือเหตุอันควร”

ต่อมา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ศาลชั้นต้น ตัดสินจำคุกผู้ต้องหาตลอดชีวิตและให้ชดใช้ค่าเสียหายกับโจทก์ร่วม 1.7 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น กระทั่งในวันนี้ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ปิดตำนานกว่า 12 ปี คืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวน้องหลิวผู้เสียชีวิต และนับเป็นอีกหนึ่งคดีที่มูลนิธิกระจกเงา สามารถติดตามคนหายจากการตรวจเทียบข้อมูล DNA ระหว่างคนหายกับศพนิรนาม

ข้อมูลทิ้งร่องรอยของความจริง

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า คดีฆาตกรรมน้องหลิว ได้สะท้อนว่า ประเทศไทยยังไม่มีการจัดการข้อมูลของศพนิรนามอย่างเป็นรูปธรรม เพราะกว่าจะหาร่างน้องหลิวพบทางมูลนิธิต้องไปตามหาข้อมูลของห้องชันสูตรศพในทุกโรงพยาบาลในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีข้อมูลของผู้สูญหาย ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นถูกจัดเก็บด้วยการบันทึกมือลงในสมุด ท้ายที่สุดจึงพบว่า ผู้สูญหายถูกฆาตกรรมและพบร่างอยู่ใจกลางป่า

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวไม่อาจนำร่างของผู้สูญหายกลับมาได้เพราะศพนิรนามถูกล้างป่าช้าไปแล้ว ดังนั้น การมีแนวทางการจัดการข้อมูลผู้สูญหายจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นอีกหนึ่งหลักฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมกับอีกหลายครอบครัว

มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยสถิติผู้สูญหาย ว่า ในทุก ๆ 4 ชั่วโมงจะมีคนหายออกจากบ้าน 1 คน ปัจจุบันพบตัวเลขผู้สูญหายทั้งสิ้น 18,887 คน โดยพบตัวแล้ว 16,315 คน หรือคิดเป็น 86% ของการแจ้งเหตุ และมี 2,232 คน ที่ยังอยู่ระหว่างการติดตาม

ขณะที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยจำนวนการแจ้งคนหาย การพบคนนิรนาม และศพนิรนาม มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยยอดสะสมจำนวนการแจ้งคนหายอยู่ที่ 201 คน คนนิรนาม 273 คน และ ศพนิรนาม 380 คน และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ

เอกลักษณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีกรณีคนหายไปในลักษณะเดียวกัน คล้ายกับเหตุคดีน้องหลิวโดยมีผู้สูญหายทั้งหมด 4 คน แต่ละคนมีจุดร่วมเป็นผู้ขับรถกระบะเหมือนกัน ซึ่งถ้ามูลนิธิไม่มีการเก็บข้อมูลก็จะไม่รู้เลยว่า แต่ละคนที่หายไปมีจุดเชื่อมโยงกัน และเมื่อประกอบข้อมูลจาก รายการสถานีประชาชน Thai PBS พบว่า ยังมีผู้ขับรถกระบะที่สูญหายอีก 5 คน

ท้ายที่สุดพบว่า เหตุคนหายทั้งหมดเป็นเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องโดยอาชญากรคนเดียวกัน ผู้สูญหายทั้ง 9 คนตกเป็นเหยื่อโดยการวางยาฆ่าแมลง เพราะผู้ก่อเหตุต้องการนำรถกระบะไปขาย แต่ทั้งนี้ยังไม่พบแรงจูงใจอื่นในการลงมือก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่อง เพราะฆาตกรจบชีวิตตัวเองในห้องขังลงเสียก่อน อย่างไรก็ตาม การพบจุดเน้นในข้อมูลนี้ทำให้การสูญเสียไม่ดำเนินต่อ หรือบานปลายไปมากกว่านี้

มูลนิธิกระจกเงา สะท้อนว่า ที่ผ่านมาทางมูลนิธิตามหาแต่คนหายแต่ไม่ตามหาผู้สนับสนุนเลย ทำให้มูลนิธิมีความเปราะบางในการจัดเก็บข้อมูลและไม่มีเงินทุนในการติดตามกรณีผู้สูญหาย และเมื่อแนะนำให้คนลองไปตามกับภาครัฐอย่างกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก็พบว่าหลายคนกลับมาขอความช่วยเหลือที่มูลนิธิกระจกเงา เพราะหน่วยงานราชการให้ความข่วยเหลือไม่ได้ และยังมีคนหายอยู่เรื่อย ๆ ทำให้มูลนิธิต้องเลือกให้การช่วยเหลือเป็นบางกรณี เพราะทรัพยากรมีจำกัด และยังคนจำนวนมากตกหล่นจากกระบวนการยุติธรรม

“ข้อมูลที่กระจัดจายเหล่านี้ ช่วยยับยั้งเหตุสูญเสีย และช่วยให้อีกหลายครอบครัวคนขับรถกระบะไม่ต้องสูญเสียอีก”

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active