หลังผ่าน กม. 2 ปี ผู้หญิงต้องควักเงินจ่ายเอง หรือทำแท้งเถื่อน เรียกร้องเนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล จัดระบบให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการที่เท่าเทียม
วันนี้ (28 ก.ย.66) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายเพื่อปรึกษาประธานสภา เนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล 28 ก.ย.66
กัลยพัชร กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ประชาชนจำนวนมากอาจยังไม่ทราบว่ารัฐสภาเคยผ่านกฎหมายการยุติการตั้งครรภ์ถูกกฎหมายมาแล้ววันที่ 7 ก.พ. 64 แต่ในความเป็นจริงยังมีผู้หญิงจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการยุตติการตั้งครรภ์ หรือการทำแท้งที่ปลอดภัยได้แม้เรื่องนี้จะถูกกฎหมายแล้ว หากยุติการตั้งครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ วิธีการทำแท้งคือการกินยาหรือเหน็บยา ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีชุดสิทธิประโยชน์การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยอยู่ในหลักประกันสุขภาพ และสุขภาพถ้วนหน้า
แต่จากการแลกเปลี่ยนกับภาคประชาสังคมเช่น กลุ่มทำทาง พบว่าผู้หญิงจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงยาช่วยยุติตั้งครรภ์ เพราะในทางปฏิบัติจริงนั้นโรงพยาบาล และบุคลากรสุขภาพ ยังตีตราผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม มองว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นบาป ผิดศีลธรรม ส่งผลให้แพทย์จำนวนหนึ่งปฏิเสธการให้บริการ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังไม่มีบริการนี้ อีกทั้งยังไม่มีการส่งต่อการให้บริการที่เหมาะสม บุคลากรสุขภาพบางส่วนแสดงท่าทีไม่ยอมรับ ลำพังแรงกดดันจากครอบครัวและคนรอบข้างก็มากเพียงพออยู่แล้ว บุคลากรสุขภาพไม่ควรเพิ่มแรงกดดันให้ผู้หญิงเหล่านี้อีก
ผลกระทบจากการปฏิเสธการยุติการค้าที่ปลอดภัย ส่งผลให้ผู้หญิงต้องเดินทางไปรับบริการในโรงพยาบาลเอกชน หรือแม้กระทั่งเดินทางข้ามจังหวัด ทั้งที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงบริการนี้ เงินจำนวน 5000 บาท ของแต่ละคนไม่เท่ากัน นอกจากนี้การปฏิเสธการให้บริการผ่านการส่งต่อที่เหมาะสม อาจทำให้บางคนหันไปทำแท้งเถื่อนตกอยู่ในภาวะความเสี่ยง แทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อ ตกเลือด มดลูกทะลุ จนถึงขั้นเสียชีวิต
“เป้าหมายของการปรึกษาหารือในวันนี้ดิฉันต้องการให้ระบบสุขภาพ จัดบริการให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมได้เข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตระหนักถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง คำนึงถึงปัญหาแม่และเด็กจากการมีลูกโดยครอบครัวไม่พร้อม ดิฉันขอเคียงข้างผู้หญิงที่ประสบปัญหาทุกคนทั้งที่การตั้งครรภ์แล้ว และกำลังยุตติการตั้งครรภ์ปลอดภัย ดิฉันเห็นรับรู้ปัญหาของคุณ และพร้อมอยู่เคียงข้างคุณค่ะ”
กัลยพัชร รจิตโรจน์
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 ก.ย.66 กลุ่มทำทาง เครือข่ายภาคประชาชน ที่ขับเคลื่อนประเด็นยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย เข้ายื่นหนังสือต่อพรรคก้าวไกล เพื่อเรียกร้องการทำแท้งถูกกฎหมาย และแก้ไขเพิ่มประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ที่เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์ และแก้เงื่อนไขจาก 12-20 สัปดาห์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ที่กฎหมายผ่านไปในสภาชุดที่แล้ว โดยมี กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รับหนังสือพร้อมข้อเสนอในการผลักดันให้บริการทำแท้งปลอดภัยเกิดขึ้นจริง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรวัยเจริญพันธุ์จำนวนมากในแต่ละปี
จากข้อมูลผู้โทรปรึกษาสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 ยังพบว่า ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) ที่มีจํานวนรวม 141,575 คนนั้น กว่า 80% ต้องการยุติการตั้งครรภ์มากกว่าสองในสาม (ร้อยละ 78) อยู่ในวัย 20-39 ปี ไม่ใช่วัยรุ่นอย่างที่มักเข้าใจกัน และในจำนวนนี้ ประมาณสองในสามมีอายุครรภ์ ไม่เกิน 8 สัปดาห์ กล่าวได้ว่าส่วนใหญ่รู้ตัวเร็วเข้าถึงบริการได้ไม่ชักช้า อย่างไรก็ดี ช่องว่างสำคัญ คือช่องทางของผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ (ร้อยละ8 ) ซึ่งอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเข้าไม่ถึงบริการ เนื่องจากมีเงื่อนไขต่าง ๆ ในชีวิต โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ และขาดระบบสนับสนุนในครอบครัว ทำให้ต้องการเวลามากขึ้นในการรวบรวมเงินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ขณะที่ยิ่งอายุครรภ์สูงก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น กลับต้องเดินทางไปยังสถานพยาบาลไกลบ้านเพื่อรับบริการ และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเลือกวิธียุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย
สำหรับ 28 กันยายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล (International Safe Abortion Day) สำหรับประเทศไทย เพิ่งจะครบ 1 ปี ที่กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเรื่องการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ที่แก้ไขเพิ่มเติมให้หญิงสามารถทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดอื่น ๆ เอื้อประโยชน์ให้หญิงตั้งครรภ์สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัย
แต่ปัจจุบัน กลุ่มทำทาง เครือข่ายภาคประชาชน ที่ขับเคลื่อนประเด็นยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย พบว่า มีสถานบริการฯ ประมาณ 110 แห่ง เท่านั้น และไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด มีเงื่อนไขในการให้บริการที่กำหนดขึ้นเอง ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 26 แห่งเท่านั้น ที่ยินยอมเปิดเผยรายชื่อกับเว็บไซต์RSATHAI โดยมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ซึ่งเกือบทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 3,000 บาท และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังระบุว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สามารถระมัดระวังสถานบริการอื่น ๆ แอบอ้างว่าเป็นสถานบริการที่ได้รับการรับรองหรือขายยาทำแท้งผ่านเว็บไซต์อีกด้วย