ทำแท้งปลอดภัย ถูกกฎหมาย ไร้การตีตรา ภาคปชช.​​ยื่นข้อเสนอถึง สธ. -ก.แรงงาน

สมาคมวิจัยประชากรฯ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม บุคลากรทางการแพทย์  เรียกร้องให้บังคับใช้กฎหมาย หลังพบ ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ภายใต้กฎหมายทำแท้งที่แก้ไขแล้ว พร้อมเพิ่มจำนวนสถานบริการ ประชาสัมพันธ์และให้บริการข้อมูลที่ครบถ้วน

เมื่อวันที่ 22 ก.ย.66 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม และภาคีเครือข่ายรวม 20 องค์กร จัดเวที เส้นทางสู่การทำแท้งที่ปลอดภัย ถูกกฎหมาย ไร้การตีตรา Pro-voice #10: Road Map to Safe and Legal Abortion in Thai context ภายใต้โครงการ “การติดตามผลระบบบริการยุติการตั้งครรภ์และพัฒนานวัตกรรมบริการนวัตวิถีในบริบทกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ฉบับใหม่” ที่จัดทำโดยเครือข่ายฯ สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม และสมาคมเครือข่ายอาสา

ในเวทียังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และอุปสรรคในการทำงานจากอดีตถึงปัจจุบัน

เมื่อรู้ตัวว่าอาจจะท้อง ตรวจว่าท้องได้อย่างไร บอกเล่าถึงความเสี่ยงต่อการท้อง คือ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ เช่น นับวัน หลั่งนอก ไม่ใช้ถุงยาง แต่แม้ว่าจะคุมกำเนิดก็ยังไม่สามารถป้องกันได้ 100%,

ถ้าท้องแล้วไม่พร้อมทำไงต่อ เป็นสถานการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นได้ ชีวิตจึงต้องมีทางเลือกเสมอ ที่สำคัญจะตั้งครรภ์ต่อ หรือยุติฯ ต่อ ผู้หญิงควรมีสิทธิที่จะเลือกทางที่สอดคล้องกับชีวิตตนเอง เมื่อตัดสินใจแล้วก็ควรเข้าถึงบริการยุติฯ ตามกฎหมาย ไร้การตีตรา, 

เลือกทำแท้ง จะผิดกฎหมายไหม ปัจจุบันกฎหมายให้ผู้หญิงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ผู้ตั้งครรภ์ตัดสินใจเองได้ มากกว่า 12 แต่ไม่ถึง 20 สัปดาห์ ไปรับบริการปรึกษาทางเลือก ยุติการตั้งครรภ์ได้ถูกกฎหมาย ในกรณีมีปัญหาสุขภาพกายหรือใจ ตัวอ่อนในครรภ์พิการ ตั้งครรภ์จากข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศ หรืออายุผู้ตั้งครรภ์น้อยกว่า 15 ปี

เข้าถึงสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างไร, เตรียมค่าใช้จ่ายยุติการตั้งครรภ์เท่าไรดี เช่น โรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ใช้ตามสิทธิการรักษาจาก สปสช. เข้ารับบริการที่ โรงพยาบาล หรือ คลินิกเอกชนที่เป็นหน่วยบริการ สปสช. อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ หรือเข้ารับบริการโรงพยาบาล/คลินิก ภาคเอกชนที่ไม่ได้เป็นหน่วยบริการ สปสช. จะมีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ รวมถึง ดูแลจิตใจให้แข็งแกร่งและคุมกำเนิด เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้การแก้ไขกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 64 แต่ในทางปฏิบัติ ยังพบว่ายังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อยู่มาก เช่น สถานบริการของรัฐมีไม่ครบทุกจังหวัดที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แพทย์ปฏิเสธการรักษา-ส่งต่อ รวมถึงทัศนคตเชิงลบที่มีต่อผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์ จึงมีข้อเสนอดังนี้

ข้อเสนอต่อรัฐผ่านกระทรวงสาธารณสุข

1. การเพิ่มจำนวนสถานบริการให้มากขึ้น ซึ่งภาคประชาสังคมได้เรียกร้องมานานกว่า 5 ปีแล้วว่าต้องมีอย่างน้อยหนึ่งแห่งในแต่ละจังหวัด ปัจจุบันสถานบริการของภาครัฐที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์มีน้อยกว่า 1 ใน 10 ดังนั้นภาครัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขต้องแสดงความชัดเจนต่อหน่วยบริการของรัฐทั่วประเทศและต่อสาธารณชนว่า ในขั้นต่ำที่สุดที่การออกจดหมายซักซ้อมความเข้าใจไปยังสำนักงานสาะรณสุขและสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ ว่าเมื่อมีการแก้กฎหมายทำแท้งแล้ว สถานบริการสามารถให้บริการได้ตามกฎหมาย หากไม่สามารถบริการได้ต้องมีระบบบริการส่งต่อที่ชัดเจนว่าต้องส่งไปที่ไหน อย่างไร ภายใต้กรอบเวลาที่รวดเร็วแค่ไหน 

ความชัดเจนเหล่านี้จะทำให้บุคลากรและสถานบริการที่สามารถให้บริการได้จะได้พัฒนาระบบการให้บริการภายในสถานบริการของตนเองได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานคร ที่ยังคงไม่มีนโยบายและมาตรการใด  ต่อเรื่องนี้-ข้อเสนอนี้จะช่วยความลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่ตรงเป้าที่สุด

2. ภาครัฐต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์และบริการข้อมูลที่ครบถ้วนทั้งด้านกฎหมายและสถานที่บริการ เพียงพอ รอบด้าน และเป็นปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีความเป็นอยู่ต่ำ รายได้น้อย เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสในการเลือกและได้รับบริการที่ดีที่สุด เพื่อลดผลกระทบของความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ให้มากที่สุด –ข้อเสนอนี้จะช่วยความลดความเหลื่อมล้ำเชิงข้อมูลสารสนเทศทุกประเภท

ข้อเสนอต่อแพทย์และบุคลากรที่ไม่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์

กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งในประเทศไทย มิได้มีผลในการบังคับใช้ให้แพทย์และบุคลากรสุขภาพต้องให้บริการยุติการตั้งครรภ์ เครือข่ายอาสา RSA ในฐานะที่เป็นผู้อาสารับส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพื่อให้ผู้ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมที่เลือกไม่ตั้งครรภ์ต่อ ได้เดินทางสู่เส้นทางการทำแท้งที่ปลอดภัย และสอดคล้องกับข้อกฎหมายและบังคับแพทยสภา เราจึงมีข้อเสนอต่อ แพทย์ที่ปฏิเสธไม่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้

1. แพทย์และทีมงานควรให้บริการปรึกษาและส่งต่อไปยังสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยโดยไม่ชักช้า ที่สอดคล้องกับอายุครรภ์และข้อบ่งชี้ของผู้รับบริการ

2. แพทย์ควรให้บริการอัลตร้าซาวน์ เพื่อทราบอายุครรภ์ที่แน่นอน เพื่อส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่สอดคล้อง

3. แพทย์ควรดูแลรักษาผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ให้ปลอดภัยทุกราย

4. แพทย์ควรมีท่าทีที่ไม่รังเกียจ เคารพการตัดสินใจทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงและบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์

ข้อเสนอเรื่องโทรเวชกรรมและการแก้กฎหมาย

กลุ่มทำทาง ซึ่งเป็นกลุ่มประชาสังคมที่ให้การปรึกษา และส่งต่อเพื่อให้ผู้ที่ต้องการรับบริการเข้าถึง การทำแท้งที่ปลอดภัย มาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ได้ยื่นข้อเสนอต่อพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา โดยเป็นข้อเสนอที่พ้องกับข้อเสนอข้างต้น และมีข้อเสนอเพิ่มเติมอีกดังนี้

1. สนับสนุน และส่งเสริมบริการยุติการตั้งครรภ์โดยการใช้ยาผ่านระบบการแพทย์ทางไกล หรือ โทรเวชกรรม (telemedicine) เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงยายุติการตั้งครรภ์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลหรือคลินิกซึ่งปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่ยังคงมีบทลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้งในอายุครรภ์ มากกว่า 12 สัปดาห์ เพราะสิทธิในการทำแท้งปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชน และบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเป็นบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่รัฐจะต้องจัดให้มีบริการ

ข้อเสนอต่อหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพแรงงานหญิงข้ามชาติ

องค์กรภาคีที่ทำงานกับแรรงานข้ามชาติ ได้แก่ สมาคมพราว พบว่าแรงงานหญิงข้ามชาติที่ได้จ่ายและร่วมจ่ายเงินเพื่อเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ  มีปัญหาในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จึงมีข้อเสนอต่อ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ดังต่อไปนี้

1. ขอให้มีการจัดบริการคุมกำเนิดที่เหมาะกับแรงงานหญิงข้ามชาติ

2.เพิ่มช่องทางการสื่อสารเรื่องเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ให้รวมถึงการยุติการตั้งครรภ์และคุมกำเนิด

3. มีกลไก เครือข่ายให้ข้อมูลและช่วยเหลือผู้หญิงท้องไม่พร้อมในจังหวัดที่มีการใช้แรงงานข้ามชาติเข้มข้น ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล

4. ขยายสิทธิบัตรประกันสุขภาพ บัตรประกันสังคม ให้ครอบคลุมการรับบริการยุติการตั้งครรภ์และการดูแลรักษาต่อเนื่อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active