งาน ‘ตุลารำลึก’ เปิดพื้นที่รำลึกเหตุการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ตั้งแต่สำรวจแง่มุมของเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ตามหาความยุติธรรมในตากใบ ไปจนถึงเรียกร้องหยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในปาเลสไตน์
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2567 มีการจัดงาน ตุลารำลึก : Humanitarian DEEP Talk ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานนิสิตต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.), ฝ่ายส่งเสริมมนุษยธรรมสากลและประชาธิปไตย อบจ., สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ และคณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ ชวนดำดิ่งและรำลึกเหตุการณ์สิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ส่งเสริมความเป็นพลเมืองโลก และเรียกร้องความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น
เมื่อเสียงของเราทุกคนมีความหมาย
เนตรนภา ขุมทอง นักศึกษาผู้ขับเคลื่อนขบวนการผู้หญิงในยุค 14 และ 6 ตุลาฯ บอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง โดยเริ่มต้นจากการเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เธอได้รับรู้และแสดงสิทธิ์ของตัวเองจากการปฏิเสธที่จะไม่เต้นรำในงานเฟรชชี่ไนท์ หลังจากเข้าเรียนได้ไม่กี่เดือนก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 ขึ้น เธอได้เข้าร่วมกลุ่มผู้หญิงในมหาวิทยาลัย และมีบทบาทการเรียกร้องต่าง ๆ เช่น เรียกร้องให้ยกเลิกการประกวดนางสาวไทย เนื่องจากมองว่าเป็นการทำให้ผู้หญิงเป็นสินค้า จนท้ายที่สุดการประกวดก็ถูกยกเลิก ได้ไปเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มกรรมกรหญิงเพื่อเรียกร้องสิทธิสวัสดิการที่พึงมี เรียกร้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เช่น กรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า รวมไปถึงได้เรียนรู้วิถีชีวิตและความยากลำบากของชาวนาผ่านการลงพื้นที่ชนบทในจังหวัดเชียงใหม่
เนตรนภา เล่าไปถึงเหตุการณ์ในรุ่งเช้าของวันที่ 6 ต.ค. 2519 ที่เธอได้เข้าร่วมในหน่วยพยาบาลเพื่อมวลชน (พมช.) ก่อนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้ามา เพื่อนบางคนของเธอเสียชีวิตจากการถูกยิง เธอและผู้หญิงคนอื่น ๆ โดนเจ้าหน้าที่บังคับให้ถอดเสื้อออก แม้เนตรนภาจะปฏิเสธการถอดเสื้อ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ขู่ว่า “ถอดไม่ถอด ถ้าไม่ถอดเดี๋ยวถอดให้” ทำให้เธอต้องทำตามที่เจ้าหน้าที่บอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ในวันนั้นเธอจะไม่สามารถปฏิเสธเจ้าหน้าที่ได้ แต่เธอก็มองว่าเธอในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งได้ยืนหยัดและต่อกรเจ้าหน้าที่เพื่อสิทธิในร่างกายของตัวเองและผู้หญิงคนอื่น ๆ ในเหตุการณ์
เธอยืนหยัดที่จะส่งเสียงปกป้องสิทธิ ไม่ใช่แค่ของตัวเอง แต่รวมถึงของผู้หญิงที่ปกป้องตัวเองไม่ได้ เช่นเดียวกับสังคมนี้ ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้สิทธิ
เนตรนภา ขุมทอง
เนตรนภา เปรียบเทียบการที่เธอยืนหยัดในวันนั้นกับการออกมาเรียกร้องในวันนี้ว่า ในฐานะเป็นคนที่มีสิทธิ์มีเสียงในสังคม ก็จำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสียงเรียกร้องสิทธิต่อไป เพราะในสังคมยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้สิทธิ์เทียบเท่าคนอื่น ๆ ส่งเสียงเพื่อบอกว่าเราไม่ยอมจำนนต่อสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องพบเจอ
เราจะรำลึกและทำให้วีรชน 14 และ 6 ตุลาไม่ถูกลืมเลือน โดยเริ่มจากในห้องเรียน
ชนะศึก สมเชื้อเวียง เยาวชนที่สนใจในการต่อสู้ของสามัญชน เริ่มด้วยคำถามที่ว่า “พวกเราเคยเรียนวิชาประวัติศาสตร์ใช่หรือไม่” โดยมองว่าเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ในห้องเรียนจะเน้นไปที่กระแสหลัก ไม่ได้สอนในเชิงการวิพากษ์ รวมถึงมองข้ามการต่อสู้ของกลุ่มสามัญชนอันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างชาติและประชาธิปไตย
ชนะศึก พูดถึงครั้งแรกที่ทำให้เขาสนใจประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯ จากการรับชมภาพยนตร์ ‘14 ตุลา สงครามประชาชน’ เห็นพลังของ ‘สามประสาน’ ซึ่งคือนักศึกษา กรรมาชีพ และชาวนา อีกหนึ่งในพลังสำคัญที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงคือพลังของ ’กลุ่มนักเรียน‘ เขาเปรียบเทียบกับการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนในช่วงม็อบปี 2563 ที่ถูกปรามาสว่าเป็นแค่นักเรียน ไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่ชนะศึกก็เน้นย้ำว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่และมีมานานกว่า 51 ปีแล้ว
ชนะศึก ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่เขาเคยเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน ครูของเขาได้สอนเรื่องประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ โดยเล่าในเพียงเชิงขาวดำ ไม่ได้ให้แง่คิด ไม่พูดถึงการลอยนวลพ้นผิด การเลือกใช้คำในบทเรียนที่อาจสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของรัฐ เช่น การใช้คำว่า ‘การประท้วง‘ แทนการใช้คำว่า ’การชุมนุมอย่างสันติ’ และในหลาย ๆ ครั้ง บางเหตุการณ์ก็ไม่ถูกพูดถึง
รัฐพยายามปิดกั้นการเรียนรู้ บางทียังดีที่มีการพูดถึง แต่ก็เป็นการพูดถึงแบบแช่แข็ง ไม่ได้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ปัจจุบันกับเหตุการณ์อื่น ๆ ในอดีต ถ้าเราเรียนรู้แค่ว่ามันเป็นอดีต เราจะลืมว่ามันมีความสำคัญอย่างไร
ชนะศึก สมเชื้อเวียง
ชนะศึก หวังอยากเห็นพื้นที่ไร้อำนาจนิยม พื้นที่ที่สร้างการถกเถียงเพื่อให้สามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์บาดแผลได้อย่างแท้จริง เขาย้ำ 3 ประเด็นที่อยากฝากไปถึงผู้มีอำนาจรัฐและกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ การทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดถึงเหตุการณ์ในอดีต เช่น 14 ตุลาฯ 16 หรือ 6 ตุลาฯ 19 สามารถพูดถึงเหตุการณ์ในเบื้องลึกได้ ไม่ต้องพูดด้วยความกลัว และการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาโดยเฉพาะวิชาสังคมเพื่อไม่ให้เป็นอำนาจนิยมอย่างในปัจจุบัน
สื่อหิว
ชยพล มาลานิยม ผู้สื่อข่าว THE STANDARD อดีตนักเรียนสื่อในเหตุสลายการชุมนุม 16 ต.ค. 63 เริ่มการพูดด้วยการบอกเล่าเรื่องราวเมื่อตอนเรียนอยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขาได้เข้าเรียนวิชาสังคมวิทยา อาจารย์ผู้สอนได้ตั้งคำถามให้นิสิตลอง “จินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่านี้” ชวนตั้งคำถามถึงสังคมที่เราอยากเข้าไปอยู่ สังคมที่เราอยากให้เป็น และเห็นซึ้งถึงความบกพร่องในสังคมของเราตอนนี้ นอกห้องเรียนชยพลได้เข้าร่วมการเรียกร้องเมื่อตอนพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ด้วยการเดินชูป้าย “เดินหาอนาคต” ในมหาวิทยาลัย โดยมองว่าเป็นหมุดหมายแรกที่ทำให้มีการพูดถึงในโลกโซเชียล ตามมาด้วยการจัดเสวนาในพื้นที่หลายแห่งทั่วประเทศ และได้เข้าร่วมเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ครั้งนั้นในฐานะนักเรียนสื่อและสื่อมวลชนสมัครเล่น
เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย ชยพลมองว่าตัวเองกลายมาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่อยู่ในระบบในฐานะสื่อมวลชน และได้กลับมาทำข่าวเกี่ยวกับการประท้วงลงถนนอีกครั้ง ได้สัมผัสการต่อสู้ เห็นปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น การตอบโต้ที่รุนแรงมากขึ้น เขามองว่าการได้ทำอาชีพสื่อมวลชนได้เปิดมุมมองตัวเขาในหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเขามองว่าการทำงานสื่อยังถูกกำกับด้วยเงื่อนไขจากองค์กร ซึ่งองค์กรก็ถูกกำกับด้วยเงื่อนไขจากกลุ่มทุนอีกที ทำให้หลายครั้งเราจึงพบเห็นข่าวดรามา ข่าวบันเทิง ข่าวเร้าอารมณ์ ซึ่งสังคมอาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่สื่อได้เอ็นเกจเมนต์ และมีเงินมาหล่อเลี้ยงจากสปอนเซอร์
ชยพลสะท้อนว่าการที่สื่อ ‘หิว’ ยอดเอ็นเกจเมนต์ก็อาจจะไม่ผิด เพราะอย่างไรสื่อก็ยังต้องการเงินมาจุนเจือ และรับรู้ว่ามีผู้คนบางส่วนสิ้นหวังและตั้งคำถามกับสื่อ แต่ก็อยากให้รู้ว่าพี่น้องสื่อมวลชนบางคนก็สิ้นหวังไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ชยพลเรียกร้องให้ทุนเลิกมองสื่อเป็นเพียงสินค้าเพียงเพื่อสร้างเอ็นเกจเมนต์ แต่อยากให้มองเป็นสินค้าที่สร้างคุณค่าให้สังคม และย้ำไปถึงพี่น้องสื่อมวลชนอื่น ๆ ที่พยายามทำข่าวน้ำดีว่า ขอให้อย่าพึ่งท้อหรือเลิกทำ ชยพลเชื่อว่าหากทำข่าวแบบที่ทำอยู่ไปเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งข่าวที่ทำจะช่วยเคลื่อนและผลักดันสังคมได้
อยากให้ทุนเลิกมองสื่อเป็นสินค้าสร้างเอ็นเกจเมนต์ ลองมองให้สื่อเป็นสินค้าที่สร้างคุณค่าให้สังคมระยะยาว ช่วงแรกที่ลงทุนในสื่อน้ำดีอาจจะขาดทุน แต่ยิ่งสนับสนุนสื่อน้ำดี ก็จะสร้างผู้เสพข่าวมีคุณภาพ และสร้างสังคมที่มีคุณภาพตามมา
ชยพล มาลานิยม
ความลับดำมืดของเหตุการณ์ตากใบที่คุณอาจไม่เคยรู้
ประทับจิต นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน ผู้ติดตามและศึกษาเรื่องเหตุการณ์และการแก้ไขความขัดแย้งเหตุการณ์ตากใบ เริ่มบทสนทนาด้วยคำถามว่า “แคมเปญ #ตากใบต้องไม่เงียบ สงสัยว่าทำไมตากใบต้องเสียงดัง แล้วดังแล้วจะช่วยอะไร ถ้าเราไม่คิดว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องของเราทุกคน” เธอเปรียบเทียบกับข่าว ดิไอคอน ที่เป็นกระแสช่วงนี้ ที่ประเมินแล้วว่ามีความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท ในขณะที่เหตุการณ์ตากใบเกิดการเสียชีวิตของผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดชายแดนใต้เกือบ 100 คน และใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาทในการจัดการ แต่ก็ไม่สามารถเกิดการเปลี่ยนผ่านได้
ประทับจิตร ตั้งคำถามต่อว่า “เพราะอะไรเหตุการณ์ตากใบไม่สามารถเป็นเรื่องของเราทุกคนได้” ก่อนที่เธอจะพบปัญหาในหลาย ๆ จุด เช่น รายงานบางฉบับไม่ถูกเผยแพร่เพราะผู้มีอำนาจมองว่า ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นหนทางในการยุติความขัดแย้ง แต่จะนำไปซึ่งความขัดแย้งใหม่ คดีการตัดสินถูกยุติการจำหน่ายคดี รวมถึงการที่ผู้คนในสังคมไม่มั่นใจว่าผู้ชุมนุมจริง ๆ แล้วเป็นใคร ทำให้เราไม่สามารถรู้สึกได้ว่าเป็นเรื่องของเรา
นอกจากนี้ ประทับจิตรมองว่าในเหตุการณ์ยังมีหลายจุดที่ส่งผลให้เหตุการณ์บานปลาย เช่น การเจรจาของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็นเพียงการบอกให้ผู้ชุมนุมสลายตัว ไม่ได้มีการเจรจาเกิดขึ้นจริง ๆ รวมถึงการปฏิบัติการที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เธอบอกเล่าความอัดอั้นที่เกิดขึ้น ทั้งการไต่สวนที่ไม่มีการแปลเป็นภาษามลายู ทำให้ผู้เสียหายบางรายไม่เข้าใจว่าผลการตัดสินเป็นอย่างไร รวมไปถึงบอกเล่าเรื่องราวของแยนะ สะแลแม หนึ่งในภรรยาของผู้เสียหาย ที่กล้ายืนหยัดคัดค้านผู้นำศาสนาเพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง ว่าเงินชดเชยควรให้ภรรยาที่ต้องดูแลลูก ไม่ใช่ญาติที่เป็นผู้ชาย เธอนำเสนอแนวคิด never again เป็นหัวใจที่เราจะต้องเรียกร้องเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
never again คือหัวใจที่จะต้องเรียนรู้เรื่องตากใบ ภาพตากใบเราเห็นมาจากสื่อมาเลเซีย เพราะในวันเกิดเหตุสื่อไทยไม่ได้รายงาน เรารับทราบข่าวหลังเกิดเหตุไปแล้ว 1 วัน เราจำเป็นจะต้องหยุดเรื่องนี้ เพื่อให้เกียรติผู้ตาย ผู้สูญหาย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ประทับจิตร นีละไพจิตร
ประทับจิตร ทิ้งท้ายบทสนทนาด้วยเหตุการณ์ตอนเธอทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ซึ่งได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 เธอถามว่า “กองทัพจะสามารถขอโทษชาวบ้านได้ไหม” เธอได้รับคำตอบกลับมาว่า “จะขอโทษได้อย่างไร หากขอโทษจะทำให้ กอ.รมน. ขาดความชอบธรรม และต้องออกจากพื้นที่” ก่อนจะทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เขาปกป้องอยู่อาจไม่ใช่ชีวิตของประชาชน แต่เป็นสถาบันที่คุมอำนาจทางการเมือง
เรื่องราวของปาเลสไตน์
ภาณิศา เรืองฉาย ตัวแทนกลุ่มเสรีปาเลสไตน์ บอกเล่าเรื่องราวสถานการณ์ในปาเลสไตน์ โดยเริ่มย้อนกลับไปเมื่อ 76 ปีที่แล้ว (ปี ค.ศ. 1948 หรือ พ.ศ. 2491) ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า Nakba (หรือแปลเป็นไทยว่าหายนะ) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ (ซึ่งมีทั้งคนคริสต์ คนยิว ไม่ใช่แค่คนอิสลาม) ออกจากดินแดนของตัวเอง เพื่อก่อตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นมา เธอระบุตั้งแต่ต้นว่า ไม่ได้บอกว่าชาวยิวเป็นคนชั่วร้าย หรือเราต้องต่อต้านชาวยิว แต่สิ่งที่เธอต่อต้านคือขบวนการไซออนิสต์ที่ต้องการเข้ายึดครองปาเลสไตน์ เพื่อสร้างรัฐอิสราเอลขึ้นมา
ภาณิศา เล่าถึงสิ่งที่ชาวปาเลสไตน์ต้องประสบพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งระเบิดแบบไม่เลือกเป้าของอิสราเอล ซึ่งโจมตีทั้งบ้านเรือน โรงพยาบาล โรงเรียน ส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์ ประชาชน นักสิทธิมนุษยชน และเด็กเสียชีวิต มีการปกครองแบบแบ่งแยกซึ่งชาวปาเลสไตน์ในเวสแบงก์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของทหารอิสราเอล มีการจับกุมตัวประกันชาวปาเลสไตน์กว่า 9,400 คน และเด็กกว่า 12,000 คนตั้งแต่ปี 2000 (พ.ศ. 2543) เช่น กรณีการจับกุม Ahmad Manasra ที่ถูกจับกุมตั้งแต่ปี 2015 (พ.ศ. 2558) ซึ่งมีอายุขณะนั้นเพียง 13 ปี หรือกรณี Khalida Jarrar เฟมินิสต์ชาวปาเลสไตน์ที่ถูกทางการอิสราเอลจับกุมในหลายครั้ง นอกจากนี้ เธอยังกล่าวถึงประเด็นที่กลุ่มฮามาสจับกุมตัวประกันและการโจมตีในวันที่ 7 ต.ค. 2566 โดยระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวเช่นกัน
เราไม่ได้มาฟอกขาวให้กลุ่มติดอาวุธใด ๆ เราต่อต้านการจับพลเรือนเป็นตัวประกัน แต่ก็ไม่อาจเพิกเฉยต่อต้นตอของความรุนแรงและปัญหาได้
ภาณิศา เรืองฉาย
ภาณิศา ฉายภาพย้อนกลับมายังประเทศไทย ระบุว่าเมื่อคนปาเลสไตน์หางานทำได้ยากขึ้น อิสราเอลจึงหันไปหาแรงงานราคาถูกแทน เช่น แรงงานจากประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้มีการปกป้องสิทธิแรงงานอย่างที่ควรจะเป็น จากสถิติระบุว่ามีแรงงานไทยเสียชีวิตในช่วงปี 2012 – 2018 (พ.ศ. 2555 – 2561) ไปแล้วกว่า 172 คน พร้อมเรียกร้องให้รัฐไทยหยุดป้อนแรงงานเข้าสู่อิสราเอล
ภาณิศา ทิ้งท้ายถึงภาพรวมสถานการณ์การเรียกร้องปลดแอกปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก และให้ระวังถึงการย้อมฟอกสีในเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้อิสราเอล เช่น Pinkwashing หรือการอ้างความหลากหลาย, Greenwashing การอ้างประเด็นสิ่งแวดล้อม และ Artwashing การร่วมมือกับศิลปินต่าง ๆ เพื่อบังหน้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เวทีสนทนานี้ปิดท้ายด้วยคลิปเสียงสัมภาษณ์ชาวเมียนมาถึงสถานการณ์หลังการรัฐประหารและการลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย ชวนตั้งคำถามต่อว่าเรารับรู้สถานการณ์ความเป็นไปของเหตุการณ์เหล่านี้มากแค่ไหน และเราในฐานะประชาชนคนหนึ่งจะสามารถทำอะไรได้บ้าง