หวัง ‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ ดันมติ ครม. แก้ปัญหาคนอยู่กับป่า

ตัวแทน สกน. – พีมูฟ จี้ รมว.กระทรวงทรัพฯ อย่าลอยตัวเหนือปัญหา ต้องแสดงความรับผิดชอบ ขู่ หากยังไม่คืบ เตรียมเคลื่อนใหญ่อีก ภายในเดือน พ.ค. นี้  กมธ.ที่ดินฯ ชี้ ควรเร่งพิสูจน์รับรองออกเอกสารสิทธิ กันพื้นที่ให้ชุมชนดั้งเดิม

วันนี้ (27 เม.ย. 2568) พชร คำชำนาญ กองเลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เปิดเผยกับ The Active ว่าภายหลังเครือข่ายตัวแทนสมัชชาคนอยู่กับป่า (สชป.) และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ปักหลักชุมนุมใหญ่ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปลาย มี.ค. และต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อให้นำข้อตกลงแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ สชป. และ สกน. เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ และรับรองเป็นมติคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาความเดือนร้อนประชาชน จาก พ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์  ใน 6 เรื่องสำคัญ 

เช่น การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562  และในระหว่างการแก้ไขกฎหมาย ขอให้ยุติการคุกคามการดำเนินการทางกฎหมายอนุรักษ์กับประชาชนในเขตป่า รวมถึงการประกาศพื้นที่อุทยานหรือป่าอนุรักษ์เพิ่ม, ทบทวนมาตรการและแนวทางในการจัดที่ดิน ตามนโยบายของรัฐบาล และกำหนดมาตรการในการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของราษฎร, เดินหน้าโฉนดชุมชน, แก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล และเดินหน้าผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีป่าไม้ที่ดิน  

ซึ่งปรากฏว่านำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. จริง ตามที่ รองนายกฯ ประเสริฐ ได้ออกมาแจ้งกับประชาชนที่มาปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาลในวันนั้น 

แต่มาทราบในภายหลัง ว่าเป็นเพียงการรายงานด้วยปากเปล่า ซึ่งไม่ได้เป็นการรับรองเป็นมติ ครม. จึงไม่มีหนังสือเวียนถึงหน่วยงาน คือ ไม่มีอำนาจ ไม่มีศักดิ์ทางกฎหมายที่จะไปสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ประเสริฐ จันทรรวงทอง

และล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา  ได้มีการประชุมอนุกรรมการติดตามการขับเคลื่อนนโยบายของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ซึ่งรองนายกฯ ประเสริฐ เป็นประธาน ได้มีการติดตามทวงถามความคืบหน้าในการผลักดันให้บันทึกข้อตกลง 6  ข้อเรียกร้อง เข้าสู่ที่ประชุม ครม. แต่ปรากฏว่า เห็นเพียงเอกสารที่ยังไม่ถือเป็นมติ ครม.  

“นอกจากไม่เป็นมติ ครม. ยังพบว่ามีหลายประเด็นที่ตกหล่น เช่น เรื่องของการแก้ไขเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโครงการจัดที่ดินของรัฐ หรือ คทช. คือไม่ปรากฏในเอกสารนั้น คือ มีเงื่อนไขที่ขาดตกบกพร่องไปหลายประเด็น ซึ่งอาจเป็นปัญหาจากรองนายกฯประเสริฐ เอง อาจจะรายงานไม่ครบในวันนั้น อาจจะรายงานด้วยความรวบรัด ก็เลยขาดตกประเด็นที่มีความสำคัญไป ซึ่งอันนี้พีมูฟมีแผนที่จะมีการติดตาม เพราะเรายังยืนยันที่จะต้องมีการเอาเข้าสู่ที่ประชุมและออกเป็นมติ ครม. รับรอง เพราะหากเข้า ครม. จะมีหนังสือเวียนถึงหน่วยงาน สามารถสั่งการหน่วยงานได้”

พชร กล่าว
พชร คำชำนาญ

พชร ยังประเมินความไม่แน่นอน หรือ เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้ามีการปรับ ครม. ขึ้นมาเท่ากับว่าการเจรจาต้องเริ่มต้นใหม่ ดังนั้นแน่นอนว่า ภาคประชาชนจะต้องมีการเคลื่อนไหวใหญ่กันอีกครั้ง ทั้งในระดับพื้นที่รายจังหวัด และในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้รัฐบาลเอาบันทึกข้อตกลงนั้นเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และให้มีมติ ครม. มาคุ้มครองประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกฎหมายป่าอนุรักษ์ 

จี้ รมว.กระทรวงทรัพฯ หยุดลอยตัวเหนือปัญหา 

พชร ยังเรียกร้องไปยัง เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมายังไม่เห็นบทบาทในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ 

“รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลอยตัวจากการแก้ไขปัญหา เพราะว่าในความเป็นจริงปัญหาเรื่องนี้ก็เกิดมาจากกรมอุทยานฯ เกิดมาจากกระทรวงทรัพฯ ผมคิดว่า รองนายกฯ ประเสริฐ ควรจะต้องแสดงสปิริต โดยการให้ภาคประชาชนได้มีโอกาสเจรจาโดยตรง กับ รมว.กระทรวงทรัพฯ ด้วย โดยเป็นตัวกลางในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงทรัพฯ เพราะกระทรวงทรัพฯ ต้องรับรู้ว่าชาวบ้านเขาเดือดร้อนอย่างไร ต้องเร่งแก้ไขปัญหาส่วนไหน ให้เห็นผลงานที่ชัดเจนในการเข้ามาดูแลกระทรวงนี้ด้วย”

กมธ.ที่ดินฯ ชี้ ควรเร่งพิสูจน์รับรองออกเอกสารสิทธิ กันพื้นที่ให้ชุมชนดั้งเดิม

เลาฟั้ง  บัณฑิตเทอดสกุล  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การจะผลักดันเรื่องนี้ได้ ต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองที่ต้องแน่วแน่ชัดเจน ในการจัดการป่าโดยเห็นคน หรือสิทธิชุมชนคนอยู่กับป่า แต่ต้องยอมรับว่าเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลผสมจากหลายพรรคที่จะต้องเห็นร่วมกันในการผลักดันเรื่องนี้ แต่ตอนนี้กลับยังไม่เป็นเช่นนั้น และในทางข้อเท็จจริงยังเป็นไปได้ยาก 

จึงเห็นว่า การจะรอฝ่ายการเมืองอย่างเดียวไม่ได้  ประชาชนต้องสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ฝ่ายการเมือง ฝ่ายราชการปฏิเสธไม่ได้ที่จะมาแก้ไขเรื่องนี้ เช่น เงื่อนไขในการรณรงค์สร้างความเข้าใจร่วมต่อสังคมในประเด็นปัญหานี้ พร้อมทั้งรวบรวมฐานงานวิชาการที่เสนอทางออกหรือวิธีการทางกฎหมาย ที่ทำให้คนเห็นว่าการให้สิทธิคนในชนบทหรือคนอยู่กับป่า แล้วคนชนชั้นกลางคนในเมือง จะได้อะไรอันนี้ต้องคลี่และย้ำ ถ้าคนเข้าใจเห็นตรงกัน การต่อต้านจะไม่เกิดและช่วยกันขับเคลื่อน รวมถึงข้าราชการประจำที่เขาถือชุดความคิดความเชื่อของเขาอยู่แบบนี้ อันนี้ก็ต้องทำให้เห็นว่าที่เขาคิดเขาเชื่ออยู่ วิธีการแบบนั้นล้มเหลวหรือไม่ ไปพร้อม ๆ กับการเสนอแนวทางการจัดการของต่างประเทศ เช่น การประกาศเขตอุทยานฯ ในญี่ปุ่น แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมในสังคมไทย 

นิคม บุญวิเศษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า การบริหารจัดการป่าต้องให้ความสำคัญกับคน หรือชุมชนที่อยู่มาก่อนด้วย ต้องเอาความเป็นธรรมมาก่อนเป็นหลัก คือตรงไหนที่ชัดว่าชาวบ้านอยู่มาก่อน อยู่ก่อนกฎหมาย จะต้องพิสูจน์ว่าอยู่ก่อนจริง ตรงนั้นควรออกเอกสารสิทธิให้ โดยแบบมีเงื่อนไขได้ เช่น ต้องไม่ขายให้นายทุน หรือขยายเพิ่ม เพราะเมื่อกฎหมายมาทีหลัง จะไปไล่ประชาชนของเราได้อย่างไร ดังนั้น ก็วางเงื่อนไข ให้สิทธิอย่างไรไม่กระทบที่เขามาอยู่ก่อน ที่สำคัญต้องสร้างการมีส่วนร่วม เอาประชาชน หน่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐมานั่งคุยกัน แก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วม เพราะสุดท้ายแล้วหากประชาชนมั่นคงเข้มแข็ง ก็จะช่วยชาติพัฒนาเอง แต่ถ้ารัฐบาลหน่วยงานรัฐไม่ฟังประชาชน ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือก็ไปไหนไม่ได้ จึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active