อุปสรรคเพียบ! ยื่นรับรองสถานะบุคคล เร่งแก้ระบบ ดำเนินการจบ ใน 5 วัน

‘ชาวลัวะ ทวีวัฒนา’ เจอปัญหาหลังเข้ายื่นรับรองสถานะบุคคล พบ เอกสารเก่า ไม่อยู่ในระบบออนไลน์ ต้องรอแก้ไขระบบ เพิ่มข้อมูล ส่วนกรณีที่ยื่นก่อน มติ ครม. 29 ต.ค. 67 ต้องเดินหน้าตามขั้นตอนเดิม มีค้างอยู่กว่า 1,000 รายชื่อ ‘กระจกเงา’ เตรียมหารือ สตช. อำนวยความสะดวก ไม่ต้องเดินทางไปขอใบรับรองถิ่นที่อยู่ต่างจังหวัด ลดค่าใช้จ่าย ปิดช่องทุจริต

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 68 ที่ ศูนย์บริการประชาชน กรมการปกครอง (วังไชยา) ซึ่งถือเป็นวันแรกของการเปิดยื่นคำร้องรับรองสถานะบุคคล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีถิ่นที่อยู่อาศัยในราชอาณาจักรไทย ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาและอยู่อาศัยในไทยเป็นเวลานาน ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2567

โดยในวันดังกล่าวมี ชาวลัวะ ทวีวัฒนา กทม. ซึ่งลงทะเบียนจองคิวผ่านระบบออนไลน์ จากการให้ความช่วยเหลือโดย มูลนิธิกระจกเงา จำนวน 4 คน เดินทางเข้ายื่นคำร้อง แต่ยังพบปัญหาอุปสรรคการยื่นคำร้อง ที่ทำให้กระบวนการไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายในระยะเวลา 5 วัน 

แดง นัยสาม และ จ๋า นางหลง คู่สามี-ภรรยา ชาวลัวะ เขตทวีวัฒนา ที่เตรียมเอกสารมาพร้อมยื่นคำร้อง ตามที่ได้ซักซ้อมไปก่อนหน้านี้ พร้อมนำมายื่นที่ ศูนย์บริการประชาชน กรมการปกครอง แดง บอกว่า ก่อนหน้านี้เคยมายื่นแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ เดือน ม.ค. 2567 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีมติ ครม. 29 ต.ค. 2567 เมื่อมาตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่พบว่า ข้อมูลการยื่นคำร้องของเขาและภรรยาได้รับการตรวจสอบและอนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการเสนอให้อธิบดีกรมการปกครองลงนามอนุมัติ ซึ่งอาจจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

“แม้จะต้องรออีกนิดหน่อย ก็ยินดี เพราะรอมาหลายสิบปีแล้ว”

แดง นัยสาม

The Active ได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ว่า กรณีผู้ยื่นคำร้องก่อน มติ ครม. 29 ต.ค. 2567 มีอยู่ประมาณ 1,000 คน ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาในส่วนนี้ให้แล้วเสร็จ ซึ่งหลายรายอยู่ระหว่างการรอลงนามเท่านั้น

ทั้งนี้ แดง ยังเปิดเผยว่า ตอนมายื่นเรื่องไว้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกอะไร ต้องเดินทางมาติดตามถึงได้รู้ว่าอนุมัติแล้ว ส่วนตัวดีใจอย่างมาก แต่ก็เป็นห่วงอีกหลายคน ที่มายื่นคำร้องไว้ก่อน หากไม่มาติดตามก็อาจไม่ทราบเรื่อง

ชาวลัวะ ทวีวัฒนา กทม. ที่มายื่นคำร้องรับรองสถานะบุคคล (30 มิ.ย. 68)

ใส แซ่ลี ชาวบ้านชุมชนลัวะ เขตทวีวัฒนา บอกว่า กรณีของเขา เคยยื่นคำร้องไปเมื่อปี 2559 เมื่อครั้งยังอาศัยและทำงานอยู่ที่ จ.เชียงราย แต่เรื่องก็เงียบ และปัจจุบันเขาย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ เกือบ 10 ปี ซึ่งมีการแจ้งที่อยู่ในการทำงานอย่างถูกต้องมาโดยตลอด กระทั่งหลังมีประกาศกระทรวงตาม มติ ครม. ล่าสุด ก็ได้รับเอกสาร 1 ฉบับ จากกรมการปกครอง ลงวันที่ 23 พ.ค. 2568 เรื่อง การอนุญาตให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่ชนกลุ่มน้อย แต่เอกสารนั้นส่งไปที่ จ.เชียงราย เมื่อมายื่นคำร้องที่กรมการปกครองวันนี้ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะต้องเดินทางกลับไปที่ จ.เชียงราย เพื่อขอใบถิ่นที่อยู่ กับ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จ.เชียงราย เพื่อมาดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และทำบัตรประจำตัว ซึ่งทำให้เขาเกิดความกังวลเรื่องการเดินทาง

“ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเชียงราย ถ้าเอารถไป ก็เกือบ 1 หมื่นครับ เพราะค่าน้ำมันไป-กลับ ก็ 8,000 บาท ตอนนี้น้ำมันก็น่าจะแพงขึ้น ไปก็ไปพักบ้านญาติ แต่ก็เตรียมใจว่าถ้าจะจ่ายก็ต้องจ่าย แต่ได้ถามเจ้าหน้าที่แล้วว่าในการทำเอกสารมีค่าใช้จ่ายเพิ่มไหม เขาบอกว่ามีค่าเอกสารประมาณ 500 บาท เป็นไปตามระเบียบ”

ใส แซ่ลี

ขณะที่ แสง นายพัด ชาวบ้านชุมชนลัวะ เขตทวีวัฒนา ยอมรับว่า ไม่เคยยื่นเอกสารมาก่อน และเตรียมตัวมายื่นในวันแรก แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เอกสารไม่มีอยู่ในระบบ และยังไม่สามารถเพิ่มเอกสารให้ในวันนี้ได้ จะต้องรอแก้ไขระบบใหม่เพื่อให้สามารถนำเอกสารเข้าระบบได้ ทำให้ต้องเดินทางกลับมายื่นใหม่อีกครั้ง หลังแก้ไขระบบเสร็จเรียบร้อย

“กังวลมาก เอกสารป้าจะเป็นของปลอมไหม เพราะเขาบอกไม่มีในระบบ แต่ป้าก็ทำตามท่หมู่บ้านเขาทำนะ แต่ไม่เคยยื่นขอสถานะมาก่อน แล้วเราต้องกลับมาใหม่เมื่อไหร่”

แสง นายพัด

ศิวนุช สร้อยทอง หัวหน้าคลินิกกฎหมายมูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยกับ The Active ว่า การยื่นเอกสารครั้งนี้ จะเห็นว่าชาวบ้านอาจมีอุปสรรคในการยื่นคำร้องให้รูปแบบต่าง ๆ แต่จะเห็นว่าหน่วยงานส่วนกลางพยายามดูแลชาวบ้านอย่างดี อย่างกรณีทีเอกสารไม่อยู่ในระบบ เนื่องจาก เอกสารประชาชนชาวเขาเป็นเอกสารเก่า ตั้งแต่ก่อนปี 2542 มีการสำรวจ แต่ในการสแกนเข้าระบบคอมพิวเตอร์ บางพื้นที่ยังทำไม่ครอบ 100% ทำให้การดึงฐานข้อมูลของกรมการปกครอง ยังไม่สามารถทำได้อย่างอัตโนมัติ เชื่อว่า กรมการปกครองได้เห็นปัญหา ซึ่งสำนักงานกิจการความมั่นคงภายใน น่าจะต้องทำการประสานกับสำนักทะเบียน กรมการปกครอง เพื่อทำการบ้านร่วมกันในการดึงฐานข้อมูล 

“การไม่มีเอกสาร ไม่ได้หมายความว่าของเขาหาย แต่ระบบสแกน หรือระบบที่จะกดเข้าไปดู อาจจะยังไม่อัตโนมัติ ดังนั้นการทำงานครั้งนี้ที่ กทม. ก็จะเป็นบทเรียน ในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยได้รับรู้ด้วย ว่าเรื่องนี้เราจะแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างไรได้บ้าง”

ศิวนุช สร้อยทอง

ศิวนุช ยังย้ำว่า กรณีที่ประชาชนยื่นคำร้องไปก่อนหน้านี้ในต่างจังหวัด จะต้องเดินทางกลับไปรับเอกสารที่ต่างจังหวัด มูลนิธิกระจกเงา จะต้องทำงานกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องการทำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ว่า อาจจะต้องมีการอำนวยความสะดวก ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดิมที่เคยอยู่ และย้ายทะเบียนบ้านมาแล้ว อาจจะต้องมีการประสานหน่วยงานความมั่นคง หรือ ตำรวจ ให้อำนวยความสะดวกให้ประชาชน เพราะข้อมูลเหล่านี้มีฐานข้อมูลในระบบอยู่แล้ว นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว ยังช่วยลดโอกาสในการทุจริตเรียกรับเงินได้อีกด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active