นำร่อง ‘อ.แม่สาย-แม่ฟ้าหลวง-เมืองเชียงราย’ เตรียมพร้อม รับรองสถานะบุคคล 

กรมการปกครอง Kick-off ยื่นคำขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ตรวจสอบความพร้อมเอกสาร ก่อนยื่นขอรับรองสถานะบุคคลทันที ที่ประกาศกฎกระทรวงฯ มีผล ‘นักกฎหมาย’ ชี้ แม้ล่าช้า แต่คาดหวังกระบวนการยืดหยุ่น ลดขั้นตอน ยุ่งยาก ปิดช่องโหว่ทุจริต

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 68 เพจ กรมการปกครอง ระบุว่า สำนักกิจการความมั่นคงภายใน ร่วมกับ ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิบัติ (Kick-off) เมื่อวันที่ 15 – 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 อนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ และสถานะให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาในอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร โดยนำร่องปฏิบัติการในพื้นที่ จ.เชียงราย ประกอบด้วย 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่สาย และ อ.เมืองเชียงราย ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก

ภาพ : กรมการปกครอง Fanpage

โดยได้ให้คำแนะนำ และซักซ้อมการปฏิบัติแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านสัญชาติและสถานะบุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการยื่นคำขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ของบุคคลกลุ่มเป้าหมาย ก่อนที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามมติ ครม. จะมีผลใช้บังคับ

ทั้งนี้ได้ตรวจสอบ กลั่นกรองคุณสมบัติ และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจกระบวนการยื่นคำขอตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 และการพัฒนาสถานะบุคคลภายหลังได้รับอนุญาตฯ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง แก่บุคคลกลุ่มเป้าหมายจำนวนหนึ่งในพื้นที่ตามแนวทางปฏิบัติการเชิงรุกในพื้นที่ของกรมการปกครอง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเตรียมความพร้อมก่อนการรับคำขอ


ภาพ : กรมการปกครอง Fanpage

เบื้องต้น สามารถคัดกรองบุคคลกลุ่มเป้าหมายได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

  1. กลุ่มเป้าหมายที่ตรวจสอบแล้วพบว่าเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน ที่ทำการปกครองอำเภอได้บันทึกบัญชีรายชื่อบุคคลดังกล่าวไว้ และแจ้งว่ามีคุณลักษณะที่จะยื่นคำขอได้ กรณีนี้ เมื่อประกาศกระทรวงมหาดไทย มีผลบังคับใช้และบุคคลดังกล่าวมายื่นคำขอ พร้อมเอกสารหลักฐานที่ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว อำเภอจะนำรายชื่อไปเทียบกับข้อมูลที่เคยบันทึกไว้ หากพบว่าเป็นบุคคลเดียวกันจริง ก็จะช่วยลดเวลาและขั้นตอนของอำเภอในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานได้ เนื่องจากได้ทำการตรวจสอบเรียบร้อยก่อนแล้ว

  2. กลุ่มเป้าหมายที่ตรวจสอบแล้วพบว่าเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน ที่สำคัญได้แก่ กรณีแบบสำรวจ มีข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือขาดหาย เช่น ไม่ระบุสถานที่เกิดของผู้ยื่นคำขอ ไม่ระบุปีที่เข้ามาในไทยของผู้ยื่นคำขอ ระบุว่าผู้ยื่นคำขอเกิดในประเทศไทย หรือเกิดหลังจากที่หัวหน้าครอบครัวเข้ามาในไทย ฯลฯ กรณีดังกล่าว จะต้องดำเนินการแก้ไขแบบสำรวจฯ ให้ถูกต้องก่อน จึงจะยื่นคำขอได้ต่อไป ซึ่งที่ทำการปกครองอำเภอได้ทำความเข้าใจกับบุคคลกลุ่มดังกล่าว โดยนัดหมายวัน เวลา ที่จะให้มาแก้ไขรายการในแบบสำรวจฯ โดยให้ผู้ยื่นขอแก้ไข เตรียมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หรือพยานบุคคลที่ยืนยันรับรองตัวตนได้ จากนั้นจึงอาศัยอำนาจตามข้อ 115 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535ฯ แก้ไขให้ถูกต้องต่อไป หลังจากนั้นแล้ว จึงจะใช้เป็นหลักฐานในการยื่นคำขอต่อไปได้
วรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่สาย (ภาพ : เพจ ฮักแม่สาย)

วรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่สาย จเชียงราย เปิดเผยกับ The Active ว่า ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการซักซ้อมความเข้าใจโดยมีเจ้าหน้าที่สำนักกิจการความมั่นคงภายใน (สน.มน.) กรมการปกครอง เข้ามาประชุมชี้แจงแนวทาง เพื่อที่จะขับเคลื่อนตามมติ ครม. 29 ต.ค.2567 ซึ่งใน อ.แม่สาย จะมีเรื่องการขอเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งมียอดอยู่ประมาณ 30,000 คน ที่ยังคงค้างอยู่ ส่วนกรณีการรับรองสัญชาติ ตามมาตรา 7 ทวิ อีกประมาณ 6,000 คน

ขณะนี้ประกาศของกระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ประกาศออกมา คาดว่า น่าจะประกาศภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ และคาดบังคับใช้ใน 30 วัน น่าจะราวเดือนมิถุนายน และเนื่องจากยอดที่ค้างอยู่มีจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ สน.มน. จึงต้องชี้แจงกับ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ ถึงขั้นตอนการดำเนินการว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ตรวจสอบเอกสารอะไรบ้าง และได้มีการให้เชิญกลุ่มเป้าหมายมาให้เจ้าหน้าที่ได้ทดลองตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่าแนวทาง 5 วัน จะเป็นอย่างไร

“เท่าที่ดูจากที่นำเอกสารมา 20 คน ในกลุ่มของการขออนุญาตเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับบุคคลที่เข้ามาอยู่ในไทยเกิน 15 ปี เป็นชนกลุ่มน้อย 19 ชนเผ่า ที่อยู่ในการสำรวจ หรือบัตร 0 ซึ่งจะได้รับการรับรองสถานะบุคคล ตอนนี้พบว่าค้างอยู่ในฐานทะเบียน 37,000 คน พอสำรวจจริงก็จะเหลือประมาณ 32,000 คน เพราะบางคนได้ไปแล้ว สิ่งที่จะตรวจสอบคือหลักฐานทะเบียนประวัติ แบบสำรวจ ท.ร.38 ข คือ จะดูเอกสารว่าครบถ้วนไหม มีระบุวัน เดือน ปี ที่เข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ ส่วนใหญ่พบว่าเอกสารไม่ชัดเจนก็เลยให้กลับไปเตรียมเอกสารใหม่”

วรายุทธ ค่อมบุญ

นายอำเภอแม่สาย บอกอีกว่า ในส่วนของอำเภอแม่สาย ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 ชุด มีปลัดอำเภอเป็นหัวหน้าชุด มีคณะทำงานเป็น เจ้าหน้าที่สำนักงาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งต้องระดมกำลังทำให้เสร็จ เบื้องต้นได้ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านประชาสัมพันธ์กับชาวบ้าน และทำการสำรวจว่ามีคนอยู่ในพื้นที่จริงเท่าไหร่ และชี้แจงเรื่องการเตรียมเอกสารเพื่อให้ครบถ้วน เพราะเราจะนับ 1 ก็ต่อเมื่อเอกสารครบถ้วน

“จากการได้ทดลอง เจ้าหน้าที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการ แต่ต้องชี้แจงกับคนที่จะมายื่นว่าต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม เราถึงจะเริ่มนับ 1 ใน 5 วันได้ หากเอกสารไม่ครบ จะต้องกลับไปดำเนินการใหม่ ซึ่งคำร้องจะอยู่ในระบบ 7 วัน หากไม่กลับมายื่นเอกสารภายใน 7 วัน ก็จะถูกยกคำร้องแล้วไปเข้าคิวใหม่ คือ ให้เขารับรองตัวเอง มายื่นด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีพยาน เอกสารครบ อำเภอก็จะส่งหนังสือไปที่สถานีตำรวจเพื่อตรวจในระบบว่ามีประวัติอาชญากรรมหรือไม่ ประกอบกับการใช้ดุลยพินิจนายอำเภอ ผมก็จะอนุญาตตาม มติ ครม. เหมือนเป็นหลักการว่าให้ก่อนแล้วเพิกถอนทีหลังถ้าหากกรณีพบว่ามีประวัติการกระทำผิดกฎหมาย”

วรายุทธ ค่อมบุญ

ศิวนุช สร้อยทอง หัวหน้าคลินิกกฎหมายมูลนิธิกระจกเงา

ขณะที่ ศิวนุช สร้อยทอง หัวหน้าคลินิกกฎหมายมูลนิธิกระจกเงา บอกกับ The Active ว่า ประกาศของกรมการปกครอง ค่อนข้างล่าช้า เพราะมติคณะรัฐมนตรี บอกว่าประกาศควรจะออกภายใน 30 วัน ซึ่งทุกคนเฝ้ารอที่จะเดินหน้าเพื่อใช้สิทธิตามนโยบายเร่งรัดเพื่อแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติในประเทศไทย

เท่าที่ทราบคือ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามที่จะทำให้เรื่องนี้ออกมาอย่างปลอดภัยที่สุด หมายความว่าต้องการจะใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎรให้เป็นประโยชน์ และป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่อาจจะเกิดขึ้น เลยมีการปรับเรื่องการตรวจประวัติอาชญากรรม ที่ในตอนแรกจะไม่มีตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้อง จนท้ายที่สุดจะมีตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้องในส่วนนี้ แต่ไม่ได้กระทบกับระยะเวลา 5 วันในการดำเนินการ

แนะรัฐสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น 

ศิวนุช ยังชี้ว่า จากความล่าช้าที่เกิดขึ้นส่งผลต่อประชาชน คือ ประชาชนที่รอยื่นขอรับรอง โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  1. คนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ก็จะตื่นเต้นและตั้งตารอ เนื่องจากกระบวนการที่ผ่านมามีความล่าช้า ซึ่งจริง ๆ แล้วคนกลุ่มนี้ เป็นคนที่กลมกลืนกับประเทศไทยมากแล้ว มีจุดเกาะเกี่ยวที่ชัดเจน มีความเป็นไทยและไม่ได้มีประเทศอื่นที่จะถือสัญชาติแล้วนอกจากประเทศไทย ดังนั้นความตื่นเต้นความคาดหวังต่อเรื่องราวที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ย่อมมีสำหรับกลุ่มของพวกเขาในช่วงต้น

  2. คนที่เข้าไม่ถึงข้อมูล และเขามักจะได้รับข้อมูลที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งเกิดกระบวนการแทรกแซงหลอกลวงประชาชน ซึ่งเริ่มเห็นมาแล้วบ้าง ดังนั้น ช่วงแรกที่กระทรวงมหาดไทยไม่ได้พยายามสื่อสารต่อเนื่องให้ชัดเจนทำให้เกิดความสับสนในหลายพื้นที่เช่นกัน เพราะเขาไม่รู้ว่าเริ่มดำเนินการหรือยัง เริ่มเมื่อไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร 

“ที่เห็นมาช่วงหลัง กระทรวงมหาดไทยพยายามสื่อสารมากขึ้น แต่เราคาดหวังให้การสื่อสารเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์ หรือการสื่อสารกับองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานร่วมกับคนเปราะบางกลุ่มนี้ การทำงานเชิงรุกที่จะอธิบายและตอบคำถามประชาชน จริง ๆ อยากให้มีเพราะตอนนี้ประชาชนอยู่ในช่วงการตั้งคำถามในหลายเรื่อง”

ศิวนุช สร้อยทอง

ภาพ : กรมการปกครอง Fanpage

กระบวนการต้อง ยืดหยุ่น ไม่ยุ่งยาก ป้องกันทุจริต

ศิวนุช ระบุว่า ในส่วนของแนวทางการยื่นคำร้องมีข้อเสนอจากหลายคนว่า ให้สามารถยื่นทุกสำนักทะเบียนได้เลย โดยไม่ต้องอิงกับรายการทะเบียนราษฎร เพราะอยู่ในฐานข้อมูลอยู่แล้ว คือสามารถยื่นที่ไหนก็ได้ที่อยู่ใกล้กับที่อยู่อาศัย แต่ไม่มั่นใจว่าจะมีการประกาศในฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งหากจะให้ทุกคนต้องยื่นตามทะเบียนราษฎรอาจจะพบปัญหาเรื่องของจำนวนที่อาจจะแออัด ไปกระจุกตัวอยู่เป็นบางพื้นที่ ซึ่งยังไม่เห็นกรมการปกครองออกแบบแนวทางในการนัดหมาย ออกแบบแนวทางการจัดคิวต่าง ๆ ซึ่งในอดีตเรื่องนี้เป็นปัญหามาโดยตลอด ทำให้ประชาชนที่ไปติดต่อรู้สึกว่าไม่ได้รับการอำนวยความสะดวก บางครั้งก็ถูกปฏิเสธโดยไม่มีเหตุผล ย้ำว่า “เรื่องนี้ต้องระมัดระวัง” เพราะหากเกิดขึ้น อาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกระบวนการทุจริตที่จะเข้ามาแทรกแซงได้

“สิ่งที่คาดหวังคือ ถ้าตามประกาศครั้งนี้ ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิดการยืดเป็นคำร้องในหลายพื้นที่เมื่อทำไปได้สักระยะหนึ่ง ก็เสนอให้มีการปรับปรุงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสามารถจบได้ในระยะเวลา 1 ปี ตามที่ มติครม.คาดหวัง”

ศิวนุช สร้อยทอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active