องค์กรด้านเด็กสตรี ชี้ระบบเชิงโครงสร้างสังคมล้มเหลว เสื่อมถอย ระบุ ค่านิยมไทย มองลูกเป็นสมบัติ จำกัดเสรีภาพลูก ตัวการทำปัญหาสะสมกดทับ กลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ไปสู่ความรุนแรง
จากกรณีเหตุสะเทือนใจ ลูกสาวอายุ 14 ปี ร่วมกับแฟนหนุ่มอายุ 16 ปี ฆ่าแม่ของตัวเอง ภายในห้องพักใน จ.สมุทรปราการ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า สังคมไทยลืมตั้งคำถามถึงสาเหตุ เพราะระบบเชิงโครงสร้างสังคมล้มเหลว เสื่อมถอย ปัญหาสะสมกดทับกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตนำมาสู่ความรุนแรง อีกทั้งค่านิยมไทย ยังมองลูกเป็นสมบัติ และค่านิยมชายเป็นใหญ่ ส่งผลต่อความไม่เข้าใจกันในครอบครัว ค่านิยมรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ใช้ไม่ได้อีกแล้วในสังคมไทย อย่างกรณีนี้เห็นได้ชัดว่าลูกโตเป็นวัยรุ่น โดยธรรมชาติเขาอยากจะมีแฟน มีความรัก แต่แม่อาจมองว่ายังไม่พร้อม ทำให้ถูกจำกัดเสรีภาพ พอเด็กไม่รู้จะปรึกษาใครก็ต้องคุยกับแฟน เมื่อมีข้อมูลไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจทำสิ่งที่ผิดนำมาสู่ความรุนแรง
จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
“พอเกิดความรุนแรง สังคมก็รุมประชาทัณฑ์เด็ก โทษไปที่ปัจเจก เพราะไปกระทบกับค่านิยมไทยที่มองว่าลูกต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ โดยที่ไม่ได้เข้าใจสาเหตุ การที่ครอบครัวไม่เข้าใจกัน ปัญหาถูกสะสมมานาน ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำ ๆ เกิดความไม่เป็นธรรม เด็กขาดเสรีภาพ ขาดพื้นที่แสดงออก เมื่อเกิดปัญหาเขาจะออกห่างจากครอบครัว ไปเจอทางเลือกที่ไม่มีวุฒิภาวะพอจนนำมาสู่ปัญหา ดังนั้นการใช้อำนาจมันใช้ไม่ได้อีกแล้ว ส่วนทางออกวิกฤตเด็กไทย คือต้องเข้าใจเขา ให้เขารู้สึกว่าเราไม่ทิ้ง คอยให้คำปรึกษา ให้เขาได้เผชิญและเรียนรู้ไปกับเขา มากกว่าที่จะไปกำหนดกฎเกณฑ์ใช้อำนาจ”
ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กได้ระบาย มีทางเลือกให้คำปรึกษา มีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เด็กเข้าถึงง่าย เพราะเขามีความเครียดจากปัญหาความรัก จากระบบการศึกษา การแข่งขัน ยิ่งตอนนี้ครอบครัวไทยเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ที่มาจากความไม่เท่าเทียม ความยากจนเหลื่อมล้ำทางสังคม
ชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เห็นว่า สังคมกำลังกระหน่ำไปที่เด็กผู้ก่อเหตุ น้อยมากที่จะตั้งหลักหรือค้นหาไปให้ถึงรากของปัญหา แน่นอนเมื่อทำผิดกฎหมาย เด็กก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายซึ่งมีกระบวนการยุติธรรมที่รองรับ ดำเนินการอยู่แล้วกรณีที่เป็นเด็ก แต่สิ่งที่น่าตกใจ และเป็นการละเมิดกฎหมายซ้ำซาก คือการนำคลิปเสียงเด็กหญิงผู้ก่อเหตุมาเผยแพร่ ผ่านสื่อทั้งออนไลน์ และสื่อหลัก
“แม้ในคลิปดังกล่าวเป็นการถ่ายที่ไม่เห็นใบหน้า แต่สิ่งที่สื่อต้องคำนึงถึงอย่างยิ่ง คือในระยะยาว ที่เด็กต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติหลังจากชดใช้สิ่งที่ทำลงไปตามกฎหมาย หลังจากผ่านกระบวนการฟื้นฟูเยียวยา คลิปดังกล่าวจะคงอยู่ในสื่อ เด็กจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้อย่างไร กับการถูกตีตรา เกลียดชัง ไม่ยอมรับจากสังคม ทุกอย่างจะซ้ำเติมกลายเป็นปัญหาใหม่ในที่สุด”
ชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว
สำหรับการบันทึกและเผยแพร่คลิปดังกล่าว เข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 130 ห้ามมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือโฆษณาข้อความซึ่งปรากฏในทางสอบสวน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“แม้จะยังไม่มีข้อมูลว่าใครเป็นคนถ่าย ใครเป็นคนส่งให้นักข่าวนำมาเผยแพร่ ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ซึ่งบังคับใช้กฎหมาย ต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบ เพราะหากเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐรายใด ย่อมถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย นี่เป็นหนึ่งในอีกหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ภายใต้โครงสร้างสังคมที่เสื่อมถอย ความสัมพันธ์ในครอบครัวเปราะบางอย่างที่สุด การมุ่งด่าทอ กล่าวโทษแค่ผู้ก่อเหตุที่เป็นเด็ก โดยไม่พยายามค้นหาข้อเท็จจริงในเชิงระบบ เพื่อช่วยกันวางโครงสร้าง กำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเสียที เชื่อได้เลยว่าปัญหาจะยิ่งมากและซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ จนยากเกินรับมือได้”
ชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว