เปิดสถานการณ์อุ้มหายทั่วโลก พบภูมิภาคเอเชียน่าเป็นห่วง เร่งไทยให้สัตยาบัน ตั้งข้อสังเกตกฎหมาย อาจเปิดช่องลอยนวลพ้นผิด
เนื่องในวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็นวัน ‘วันผู้สูญหายสากล’ (International Day of the Disappeared) เมื่อวานนี้ (27 ส.ค. 65) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ในฐานะสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ (Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances – WGEID) ได้กล่าวปาฐกถา ระบุถึงสถานการณ์การบังคับให้บุคคลสูญหายทั่วโลก พบว่า ประเทศในทวีปเอเชียมีความน่าเป็นห่วง และมีจำนวนการแจ้งบุคคลสูญหายสูงขึ้นเรื่อย ๆ
อังคณา กล่าวถึง คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายฯ ว่ากลไกเฉพาะเรื่องขององค์การสหประชาชาติ ที่พิจารณาเกี่ยวกับการบังคับสูญหายของบุคคลทั่วโลก ปัจจุบันอยู่ในการดูแลกว่า 60,000 ราย จนถึงทุกวันนี้ คณะทำงานนี้เป็นช่องทางด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างรัฐบาล และผู้สูญหาย ที่ผ่านมาคณะทำงานฯสามารถชี้แจงถึงรายละเอียดของการถูกบังคับให้สูญหายได้มากถึง 13,000 กรณี
สำหรับประเทศไทยแม้จะเป็นประเทศผู้ลงนามในอนุสัญญาห้ามกระทำให้บุคคลสูญหายของสหประชาชาติ แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันให้อนุสัญญาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อังคณา บอกว่า ประเทศไทยยังอยู่ภายใต้อาณัติที่ต้องปฏิตามปฏิญญา ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ 1992 โดยคณะทำงานฯ ได้ให้บริการผู้เสียหายและครอบครัวในการแสวงหาสิทธิในความจริง การยุติความทุกข์ทรมาน และส่งมอบความยุติธรรมให้ญาติและครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายทุกคน
“ดิฉันขอพูดในนามของเหยื่อคนหนึ่ง ในฐานะครอบครัวผู้สูญหาย เราเป็นคนเล็ก ๆ ที่ถูกกันออกจากกระบวนการต่าง ๆ การบังคับสูญหาย สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เราจะไม่มีทางตระหนักเรื่องนี้ จนกว่าจะถูกพรากบางอย่างไปอาชญากรรมนี้ไม่ได้มีผลทำให้คนหายไป แต่ยังทำให้คนที่มีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น สิ่งที่ครอบครัวต้องเผชิญทุกลมหายใจ คือ ความคลุมเครือของการสืบสวน การต่อสู้แม้เต็มไปด้วยความพ่ายแพ้และเจ็บปวด แต่สักวันหนึ่งความจริงจะถูกเปิด ผู้กระทำผิดจะไม่มีที่หลบซ่อน และความยุติธรรมจะกลับมา”
อังคณา นีละไพจิตร
นอกจากนั้น อังคณา ยังตั้งข้อสังเกตถึงร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะมาตรา 7 วรรคสอง ว่าด้วยการกระทำความผิดอุ้มหาย แม้ให้ถือเป็นความผิดต่อเนื่อง จนกว่าจะทราบชะตากรรม และกำหนดให้สืบสวนจนกว่าจะพบบุคลที่สูญหายเป็นนัยยะสำคัญที่ซ่อนเร้นบางอย่าง เพราะ การสืบสวนตามกฎหมายไทยนั้นเพียงให้ “ทราบชะตากรรม” อาจถูกตีความทางกฎหมาย คือ ไม่ได้สอบสวนเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ
“เอากระดูกคืนครอบครัวไป แต่ไม่สอบสวนว่าเขาเสียไปอย่างไร หรือใครทำให้เขาเป็นเช่นนั้น เปิดช่องการลอยนวลพ้นผิด รวมถึงอายุความที่สั้นเท่ากับความผิดอาญาทั่วไป และการอนุญาตให้มีการนิรโทษกรรม ที่เปิดช่องให้อ้างเหตุผลการบังคับสูญหายได้”
อังคณา นีละไพจิตร