ตั้งคำถามฝ่ายความมั่นคง ตั้งข้อหาหนักเกินไป ทั้งที่เป็นสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เชื่อสวนทางความพยายามเดินหน้ากระบวนการสร้าง “สันติภาพ” ชายแดนใต้
วันนี้ (10 ม.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และ มุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะของอดีต สส.ในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งวันนี้แต่งกายด้วยชุดมลายู ยื่นหนังสือต่อ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิในกรณีกรรวมกลุ่มทำกิจกรรมของนักกิจกรรมชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ภาคประชาชนในพื้นที่ จัดกิจกรรม MELAYU RAYA 2022 ณ หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
โดยกิจกรรมสำคัญคือการรวมกลุ่มกันของคนมุสลิมรุ่นใหม่จำนวนมาก พร้อมทั้งแต่งกายด้วยชุดมลายู ซึ่งสะท้อนถึงอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น จนเวลาล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา หรือ เวลาผ่านมาเกือบ 2 ปี ปรากฏว่า นักกิจกรรม นักต่อสู่เพื่อสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมดังกล่าว รวม 9 คน ได้รับหมายเรียกเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สายบุรี เกี่ยวกับคดีความมั่นคงอย่างน้อย 2 ข้อหา คือ ข้อหายุยง ปลุกปั่น ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งทั้ง 9 คน ได้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนแล้วเมื่อวานนี้ (9 ม.ค. 67)
อารีเพ็ญ ระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดกับนักกิจกรรมทั้ง 9 คน ถ้ามองในฐานะของอดีต สส.ในพื้นที่ ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องราวของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นมาตลอด ส่วนตัวแล้วเห็นว่า การออกมารวมตัวกันของคนมลายู ด้วยชุดแต่งกายประจำถิ่น ถือเป็นการเชิญชวนให้ผู้คนแสดงออกถึงอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย หรือเป็นไปตามข้อกล่าวหาที่หน่วยงานความมั่นคงตั้งไว้อย่างรุนแรง จึงขอให้รัฐบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยุติการดำเนินคดีกับทั้ง 9 คนทันที
“ตอนนี้เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐบาลทหารจากการรัฐประหาร ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหม ก็มาจากพลเรือน และบอกมาตลอดว่าเป็นคนรักประชาธิปไตย ดังนั้นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ต้องยุติเรื่องนี้ เพราะถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีนี้ แล้วทำให้การแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ ใช้การเมืองนำการทหารจริง ๆ”
อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์
หวั่นละเมิดสิทธิ กระทบภาพพจน์ประเทศ
ขณะที่ มุข บอกว่า วันนี้ตนใส่ชุดมลายูเข้ามายื่นหนังสือในรัฐสภา ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ชุดที่ใส่คือแบบเดียวกันกับที่ประชาชนในพื้นที่ใส่ทำกิจกรรม แล้วก็มีคนถูกออกหมายเรียกเพียงเพราะกิจกรรมที่ต้องการส่งเสริมอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 43 (1) ที่กำหนดให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิ อนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม วัฒนธรรมจารีตประเพณีท้องถิ่นของชาติ ซึ่งรัฐธรรมนูญเปิดทางไว้ให้แล้ว จึงเป็นสิทธิของประชาชนอย่างชอบธรรมที่จะแต่งกาย คนที่แจ้งความดำเนินคดี คือคนที่ทำในสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย ที่สำคัญยังทำให้มีความเสี่ยงเกิดความขัดแย้ง แทนที่จะปรองดอง ซึ่งจากนี้ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ยุติเรื่องนี้ ก็มองไม่ออกว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา อาจส่งผลต่อความเสียหายของประเทศ ทำให้เพิ่มความขัดแย้งในสังคม และถ้าเรื่องนี้แพร่ไปสู่สายตาชาวโลก องค์กรนานาชาติต่าง ๆ ก็จะยิ่งทำให้ประเทศไทยถูกมอง ถูกตั้งคำถาม ว่าการทำกิจกรรมรวมตัวกันแต่งกายด้วยชุดเฉพาะถิ่น กลายเป็นถูกดำเนินคดีร้ายแรงอั้งยี่ ซ่องโจร
“อยากให้ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ตระหนักว่า ท่านกำลังส่งเสริม หรือ ทำลายภาพพจน์ของประเทศ จึงอยากให้หยุดเรื่องนี้ทันที เพราะจะยิ่งทำให้บ้านเมืองเสียหาย”
มุข สุไลมาน
ยันกิจกรรมแต่งชุดมลายู หนุนบรรยากาศ “สันติภาพ”
จากนั้น มะยุ เจ๊ะนะ ผู้อำนวยการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ในฐานะของกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาควมขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) ซึ่งถือเป็น 1 ใน 9 คน ที่ถูกออกหมายเรียก และถูกดำเนินคดีดังกล่าว ได้ยื่นขอให้ ประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย ซึ่งในฐานะของผู้จัดกิจกรรม MELAYU RAYA 2022 ยืนยันว่า เจตนารมณ์การจัดงาน เพื่อส่งเสริม และอนุรักษ์ ฟื้นฟูการแต่งกายตามวิถีวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ท้องถิ่น พร้อมทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้กับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ได้มีพื้นที่สาธารณะแสดงออกผ่านการแต่งกายด้วยชุดมลายู ถือเป็นการแต่งกายตามวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และรณรงค์สร้างบรรยากาศหนุนเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งในการจัดงานครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 15,000 คน
มะยุ บอกด้วยว่า ในช่วงเวลานั้นหลังจัดกิจกรรมเมื่อปี 2565 เสร็จสิ้น ปรากฏว่าหน่วยงานความมั่นคง ได้แจ้งความ และดำเนินการสืบสวน สอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เพื่อดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตามตลอดช่วงระยะเวลาหลังจากกิจกรรม MELAYU RAYA 2022 และก่อนจัดกิจกรรม MELAYU RAYA 2023 ทางกลุ่มฯ ได้พบปะ ชี้แจง และหารือกับตัวแทน กอ.รมน.ภาค 4 มาอย่างต่อเนื่องหลายคร้ัง และได้รับการยืนยันมาโดยตลอด ว่าสามารถดำเนินกิจกรรมลักษณะดังกล่าวได้
สำหรับ กระบวนการสืบสวนสอบสวนในสำนวนเดิมก่อนหน้านี้ พบว่า ได้มีการสั่งงดการสอบสวน และยุติการดำเนินคดี เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอกับการสั่งฟ้องคดี จนกระทั่งมาถูกออกหมายเรียกล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
มะยุ เรียกร้องให้ กมธ.การกฎหมายฯ เรียกตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพื่อสร้างความโปร่งใส ยุติธรรม และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนต่อการดำเนินการกรณีดังกล่าวด้วย
“เราจัดกิจกรรมโดยไม่มีอะไรแอบแฝง แม้ครั้งแรกจะมีคำถาม เรื่องของธงที่พี่น้องนำมาร่วมกิจกรรม รวมถึงเพลง และคำกล่าวต่าง ๆ ที่อาจทำให้หน่วยงานความมั่นคงเกิดความกังวล แต่ที่ผ่านมาก็ได้พูดคุย หารือ ชี้แจง ทำความเข้าใจกับฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่มาตลอด และเขาก็อนุญาตให้เราจัดครั้งต่อไปได้ ซึ่งการจัดครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 ก็ผ่านไปด้วยดี ทหาร หน่วยงานความมั่นคงเอง ก็ยังอำนวยความสะดวก ให้กับพี่น้องได้เข้าร่วมงานเป็นอย่างดี ไม่มีทีท่าว่าจะเกิดอะไรที่ผิดปกติ แต่แล้วทำไมผู้ที่จัดกิจกรรมจึงโดนหมายเรียก ถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา เป็นสิ่งที่เราตั้งคำถาม”
มะยุ เจ๊ะนะ
มะยุ บอกด้วยว่า ไม่อยากให้รัฐใช้กฎหมายปิดปากประชาชน (Slapp Law) และไม่อยากให้มองสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วมาเหมารวมดำเนินคดี ถ้ามีข้อผิดพลาดก็ให้ระบุตัวบุคคลไปเลย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า เมื่อมีคนจำนวนมาก ก็ยากที่จะควบคุมในครั้งแรก แต่จริง ๆ กิจกรรมที่จัดขึ้นไม่มีเจตนาอื่น นอกจากการส่งเสริมอัตลักษณ์ประจำถิ่น
“ฟ้องปิดปาก” นักกิจกรรมชายแดนใต้ ปิดทางเดินหน้ากระบวนการ “สันติภาพ”
ขณะที่ อัญชนา หีมมีหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ในฐานะของกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ยอมรับว่า กรณีการฟ้องปิดปากนักกิจกรรม นักสิทธิมนุษยชน NGO ในพื้นที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือ ภาคประชาชน NGO ในพื้นที่ ถือเป็นตัวกลาง เป็นข้อต่อ หรือ ผู้ประสานงานระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่าง และตัวแทนภาครัฐมาตลอด ดังนั้นการพุ่งเป้าปิดปากประชาชนด้วยการฟ้องคดี ก็เท่ากับการปิดกั้นเส้นทางพูดคุยไปสู่สันติภาพ ที่หลายฝ่ายกำลังเดินหน้าอยู่ในเวลานี้
“เรากำลังช่วยให้รัฐเดินไปให้ถึงการสร้างความสงบในพื้นที่ แต่ในเวลานี้รัฐกำลังเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนเสียเอง โดยเฉพาะการตั้งข้อหายุยง ปลุกปั่น อั้งยี่ กับประชาชน ที่กำลังสะท้อนอีกแง่มุมของสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ทุกฝ่ายจะต้องเคารพ รวมทั้งแนวทางสำคัญของการเปิดพื้นที่กลางสาธารณะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแบบนี้ จึงไม่ควรถูกจำกัด และปิดกั้นในช่วงเวลาที่กำลังเดินหน้าสู่กระบวนการสันติภาพ รัฐต้องไม่ทำลายบรรยากาศนั้นลงเสียเอง”
อัญชนา หีมมีหน๊ะ
ทางด้าน กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ปธ.กมธ.การกฎหมายฯ ยืนยันว่า จะเร่งนำข้อร้องเรียนในกรณีดังกล่าวหารือในที่ประชุมกรรมาธิการฯ เพื่อนำไปสู่การเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ซึ่งจากการดูคร่าว ๆ อยู่ในข่ายการดำเนินการของกรรมาธิการฯ อยู่แล้ว จึงจะเร่งดำเนินการ ซึ่งหากถามจากความเห็นส่วนตัว ในฐานะ สส.พรรคประชาชาติ ย้ำจุดยืนมาตลอด คือไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นและแม้ว่าวันนี้จะอยู่ในฝ่ายรัฐบาลเดียวกัน แต่ถ้าเห็นว่าอะไรไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็ต้องส่งเสียงไปให้ถึงรัฐบาล
“กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ชี้แจง ออกหมายเรียกไม่เกี่ยวการแต่งกายชุดมลายู
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ชี้แจงกรณีออกหมายเรียกนักกิจกรรม 9 คน ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับการแต่งกายชุดมลายู เพราะการแต่งกายชุดมลายู ถือเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยระบุว่า การออกหมายเรียกกรณีการรวมกลุ่มของนักจัดกิจกรรม เมื่อวันที่ 4 และ 10 พฤษภาคม 2565 ซึ่งกลุ่มเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมชุมนุมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ภายใต้หัวข้อ “เยาวชน คือ ความหวังแห่งสันติภาพ” ณ หาดวาสุกรี เขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เนื่องจากมีกิจกรรมแอบแฝง และมีธง BRN ปรากฏอยู่ในกิจกรรม รวมทั้งมีการปลุกปั่น ยุยง ผ่านบทกวี ที่แสดงออก สื่อความหมายได้ว่า เป็นถ้อยคำปลุกระดม ให้กลุ่มเยาวชน ยอมสละชีวิตต่อสู้เพื่อชาติมาลายู เป้าหมาย คือ แยกออกเป็นประเทศเดียวหรือประชาชาติเดียวให้กลุ่มเยาวชนต่อสู้ ชูธงปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง อันเป็นการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเอกราช ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
คำชี้แจง ระบุอีกว่า การออกหมายเรียกดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับการแต่งกายชุดมลายู จึงขอให้อย่าบิดเบือนข้อมูลใด ๆ เพื่อหวังผลทางการเมือง และทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงดังกล่าวที่เกิดขึ้น พร้อมย้ำว่า พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ยืนยัน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้สนับสนุน และส่งเสริมความงดงามของวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาษา อาหาร และการแต่งกาย ที่สะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการสืบสานวัฒนธรรม และถือเป็นอัตลักษณ์ที่งดงาม