จี้ สธ. แก้นิยาม “สันทนาการ” ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา ก่อน ชง ครม.

เปิดรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.กัญชา ครั้งแรก “เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย” ขอแก้นิยามการใช้แบบสันทนาการ ชี้กระทบผู้บริโภค แนะเขียนมาตรการคุ้มครองผู้ไม่ใช้กัญชาออกมาให้ชัด 

วันนี้ (13 ม.ค. 2567) ประสิทธิชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย เปิดเผยกับ The Active ถึงการรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… ของกรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมาว่า ประเด็นสำคัญคือเป้าหมายของกฎหมายรัฐบาลระบุว่า ห้ามใช้กัญชาในทางสันทนาการ ปัญหาที่เขียนเรื่องสันทนาการมีอยู่หลายมาตราแต่จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือนิยาม

นิยามคำว่าสันทนาการระบุในกฎหมายว่า ‘การกระทำเพื่อความบันเทิง รื่นรมย์ไม่ว่ากระทำคนเดียวหรือหลายคน’ นิยามนี้มีปัญหาอย่างยิ่งเพราะว่าการนำสารกัญชาเข้าร่างกายประกอบด้วย การหยดน้ำมัน การกิน การสูบ และยังมีวิธีอื่นๆ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคือว่า ถ้าหากผมสูบกัญชาอยู่มวนหนึ่ง ใครจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า มวนนั้นคือยารักษาท้องอืดที่ผมใช้เป็นประจำ หรือเวลาเกิดความเครียดมากก็คือยาผ่อนคลาย มีเพื่อนบางคนเป็นไบโพล่า หากเขาสูบอยู่ ใครจะรู้ว่านี่คือการรักษาหรือบันเทิง

เวลากำหนดนิยามแบบนี้เขาเรียกว่า นิยามเพื่อก่อปัญหาเพิ่ม และปัญหานี้นำมาสู่การขูดรีดประชาชนได้ เพราะในมาตรา 45 ระบุว่า ห้ามผู้ใดบริโภคกัญชา กัญชง เพื่อสันทนาการ โทษข้อนี้ปรับ 60,000 บาท หากสูบอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่มาบอกว่าผมสูบเพื่อบันเทิง ผมจะโดนปรับ 60,000 บาท แต่ประเทศนี้พกยาบ้าได้ 5 เม็ด นี่คือตัวอย่างการเขียนกฎหมายที่ไม่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง

โทษยังไม่หมด ร้านใดก็ตามจำหน่ายกัญชาแล้วคนซื้อใช้ในร้าน ในแปลงปลูก ในสถานที่นำเข้า ส่งออก ไม่ว่าจะหยดน้ำมัน กิน สูบ ก็จะถูกปรับ 100,000 บาทและจำคุก 1 ปี  ยังมีอีกหลายมาตราที่มีบทลงโทษจากนิยามคำว่าสันทนาการ กัญชากลายเป็นผู้ก่อการร้ายไปแล้วทั้งที่ช่วยชีวิตคนตั้งแต่ยุคโบราณจนปัจจุบันกี่ล้านคน ปัจจุบันนี้มีคนรอดตายจากการที่หมอแผนปัจจุบันรักษาไม่หายมากมายมหาศาล

นี่คือตัวอย่างของการเขียนกฎหมายแบบมีอคติ ใช้ความกลัวในการเขียน เพียงแค่อยากสร้างภาพลักษณ์ว่า กฎหมายนี้ไม่สนับสนุนสันทนาการ แต่พอถามหามาตรการปกป้องผู้บริโภคกลับไม่มีอยู่เลย 

แตกต่างจาก พ.ร.บ.กัญชารอบที่แล้ว ที่ระบุชัดเจนว่า การสูบนั้นมีควันอันเป็นเหตุก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น จึงห้ามสูบในสถานที่สาธารณะ ส่วนกฎหมายของรัฐบาลตอนนี้สูบที่ไหนก็ได้ สูบกลางผู้คนก็ได้เพียงแค่บอกว่าสูบเพื่อสุขภาพ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่บอกว่านี่คือสูบสันทนาการจะโดน 60,000 บาท สุดท้ายมาตรการนี้คุ้มครองผู้ไม่ใช้กัญชาไม่ได้ แถมคนใช้ยังมีโอกาสถูกเจ้าหน้าที่ขูดรีด

“อย่านิยามเอาไว้ทำเท่ห์ หรือนิยามไว้ให้เจ้าหน้าที่จับและขูดรีดประชาชน ถ้าอยากปกป้องผู้ไม่ใช้กัญชาต้องเขียนมาตรการออกมาให้ชัดเจน ไม่ใช่ประกาศลอยๆ แล้วระบุโทษออกมาเต็มหมดเลย  ยิ่งกว่าตอนเป็นยาเสพติดมากมายหลายมาตรา ด้วยกติกานี้งานฟูลมูนปาร์ตี้ที่เกาะพงันซึ่งใช้กัญชากันเป็นปกติ หลังจากกฎหมายนี้บังคับใช้นักท่องเที่ยวจะถูกจับหลายพันคนต่อเดือน“ 

ประสิทธิชัย ยังบอกอีกว่า หลังครบระยะเวลารับฟังความคิดเห็นช่วงสิ้นเดือน ม.ค. หาก ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ยังไม่ถูกแก้ไขตามที่ได้เสนอความคิดเห็นไป ก่อนจะเสนอร่างกฎหมายนี้เข้า ครม. เครือข่ายฯ ต้องออกมาเคลื่อนไหวอย่างแน่นนอน

ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  กระทรวงได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์ทางการแพทย์ การร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นำพืช กัญชามาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนให้ความสนใจ และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพได้อย่างปลอดภัย และสามารถต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข 

โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. เพื่อเป็นมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมาย และจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าว โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 300 – 500 คน เข้ามามีส่วนร่วมในกฎหมายฉบับนี้

นายแพทย์ทวีศิลป์  วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ แตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติที่ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวบรวมรายชื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้มาจากร่างของกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา ดังนี้ 

1) จำนวนมาตรา จาก 94 มาตราเหลือเพียง 76 มาตรา 

2) เปลี่ยนผู้อนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็น อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 

3) การเพาะปลูกกัญชากัญชง ต้องขอใบอนุญาตเท่านั้น ไม่มีการขอจดแจ้งการเพาะปลูก 

4) ห้ามบริโภคกัญชาเพื่อการสันทนาการแม้กระทำเพียงคนเดียวก็มีโทษอาญา 

5) ไม่มีบทกำหนดเขตสูบกัญชาไว้เป็นการเฉพาะ และที่สำคัญ 

6) ใบอนุญาตจำหน่ายและแปรรูป ส่งออก และศึกษาวิจัย สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยจะยังสามารถใช้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาต 

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. ฉบับนี้ขึ้น โดยให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในมาตรา 26 มาตรา 28 มาตรา 33 มาตรา 37 และมาตรา 40 เพื่อการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ 

การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวทั้งในรูปแบบ On site และ On Line ซึ่งจะมีการแสดงความคิดเห็นตามรายมาตราเพื่อสรุปเป็นประเด็น และเมื่อพ้นจากวันนี้แล้ว ยังสามารถเข้าแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.dtam.moph.go.th ไปจนถึงวันที่ 23 มกราคม 2567 เมื่อผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น 15 วัน ตามกฎหมายแล้ว จะทำสรุปผลการรับฟังความเห็นและรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ให้สอดคล้อง เหมาะสม ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความคิดเห็นต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active