เดินหน้าคุ้มครองชาติพันธุ์ เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ในฐานะพลเมืองไทย
วันนี้ ( 18 ม.ค.66 ) เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), เชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และตัวแทนเครือข่ายชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง กว่า 40 กลุ่ม ร่วมงาน KICK OFF กฎหมายชาติพันธุ์ : เดินหน้าคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตทุกกลุ่มวัฒนธรรมบนความเสมอภาค ที่ ชุมชนบ้านผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง 13 กลุ่ม มีวิถีวัฒนธรรมหลากหลาย แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจเกื้อหนุนกัน ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม
ไฮไลท์สำคัญคือการร่วมกันดึง “ตุง” หรือ โมบายตาข่ายแมงมุม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมงคล และความหมายของการเป็นเครือข่ายยึดโยงกัน ร่วมประกาศความร่วมมือผลักดันร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ทุกฉบับร่วมกันทุกภาคส่วน
รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศนโยบาย ร่วมผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ทุกฉบับ ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทยอย่างเสมอภาคกัน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทุกฉบับ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาคในฐานะพลเมืองไทย และเชื่อมั่นว่าร่างกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ในรัฐบาลนี้อย่างแน่นอน
“ต้องบังคับใช้ได้ เพราะเราเองก็เป็นเสียงส่วนใหญ่ ตรงนี้เป็นนโยบายสำคัญ หลายคนหลายภาคส่วนข่วยกันร่าง 4-5 ฉบับมีลักษณะใกล้เคียงกันด้วย ก็ไปกันได้แน่นอน คาดจะนำร่างรัฐบาล พิจารณาในที่ประชุม ครม.ภายในเดือนนี้”
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช
รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ยังกล่าวถึงกรณีการผลักดันกฎหมาย ที่ต้องอาศัยหลายภาคส่วนรวมถึงเสียงจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวง ว่า เมื่อเป็นรัฐบาล แม้จะมีผู้รับผิดชอบหลายส่วนต่างพรรคก็ตาม เมื่อเป็นนโยบายที่ดีให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขก็จำเป็น เพราะวัฒนธรรมกว้างอยู่แล้ว จะเสริมเติมเต็มประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น เรื่องการศึกษา ไปดูอาชีพเขาด้วย จึงมีหลายกระทรวงมาเกี่ยวข้อง ร่วมมือขับเคลื่อนให้เขามีความสามารถ มีที่ทำมาหากิน จึงได้มีกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองส่งเสริมคุ้มครอง ทั้งหมดให้เท่าเทียมกัน เมื่อบังคับใช้กฎหมายนี้จะเกิดความรักหวงแหน ก็จะเป็นส่วนร่วมช่วยดูแลประเทศ ดูแลทรัพยากร รักษาใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม บ้านเมืองจะมีความเจริญรุ่งเรือง
ขณะที่ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ในฐานะหน่วยงานหลักที่จัดทำ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า การจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของสังคมไทย ที่จะให้การยอมรับตัวตนและการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 70 โดยได้จัดเวทีเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนถึง 36 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมให้ความเห็นมากกว่า 3,000 คน ถือเป็นการจัดทำร่างกฎหมายที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
ขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณารับหลักการ โดยมีหลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ที่คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ เน้นสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย สร้างพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม กฎหมายฉบันนี้ยังมีการกำหนดให้มีเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน มีความมั่นคงในชีวิต มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ ด้วยการดำรงชีวิตและวิถีการทำมาหากินบนฐานภูมิปัญญา ถือเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้าในการใช้มิติทางงวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกวัฒนธรรม
“การมีกฎหมายครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่เป็นได้ประโยชน์เฉพาะกับประชากรกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ สร้างความเข้มแข็งของชุมชนบนบนฐานเศรษฐกิจฐานเชิงวัฒนธรรม สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ ด้วยการยอมรับและเคารพความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ลดเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคม และสนับสนุนหลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างสังคมแห่งความเสมอภาคลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนา”
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
นอกจากร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีววิตกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ปัจจุบันมีหลายภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายลักษณะเดียวกันอีก 3 ฉบับ ซึ่งจะได้นำมาพิจารณาร่วมกัน ถือเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยที่กำลังจะมีกฎหมายที่สนับสนุนและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และให้การยอมรับสิทธิของคนทุกกลุ่มวัฒนธรรมอย่างเสมอภาค