The Active ชวนย้อนดูเนื้อหาการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ภายหลัง สว. มีมติผ่านวาระ 2 และ 3 ไปแล้วก่อนหน้านี้ สาระสำคัญส่วนไหนถูกปรับเปลี่ยน เนื้อหา ถ้อยคำอะไร ที่ไม่เหมือนเดิม เรารวบรวมข้อสรุปจากที่ประชุม สว. เอาไว้ให้แล้ว
ธวัช สุระบาล ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ…กล่าวสรุปรายงานการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ดังกล่าว มีทั้งหมด 47 มาตรา กรรมาธิการฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด 22 มาตรา และมีกรรมาธิการฯ สงวนความเห็นจำนวน 2 มาตรา มี สมาชิกวุฒิสภา สงวนคำแปรญัตติ 10 คน สงวนคำแปรญัตติ 18 มาตรา ทั้งนี้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินงานตามร่างกฎหมายฯ ดังกล่าว 6 ประเด็น เสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นิยามชาติพันธุ์ จาก ‘กลุ่มคน’ เป็น ‘ชาวไทย’ = ชาวไทยชาติพันธุ์
ประเด็นที่เริ่มพิจารณาในบทนิยาม โดยกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากได้แก้ไข และเพิ่มขึ้นใหม่ ขณะเดียวกันมีการสงวนความเห็น สงวนคำแปรญัตติหลายคำ
กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย เช่น อังคณา นีละไพจิตร, นิตยา เอียการนา และ ชูพินิจ เกษมณี ได้ขอสงวนความเห็นไว้ ว่า นิยามกลุ่มชาติพันธุ์ ให้หมายรวมคนที่นิยามว่าเป็น ชนเผ่าพื้นเมือง ด้วย 3 เหตุผล
- เหตุผลที่ 1 ตั้งแต่สหประชาชาติเดินหน้าเรื่องเกี่ยวกับพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในหลายประเทศ มีการมอบหมายให้มีการศึกษาเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ในหลายประเทศ จนกระทั่งมีการเสนอนิยามใหม่โดยสหประชาชาติ พูดถึงคนที่เกี่ยวพันกับทรัพยากรในพื้นที่ มีประวัติศาสตร์ผูกพันธุ์กับประเทศนั้นมาต่อเนื่อง การรักษาวัฒนธรรมอัตลักษณ์ภาษาของตนเองไว้ และกลุ่มคนที่ระบุตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ใช่กลุ่มกรณีที่รัฐระบุให้
- เหตุผลที่ 2 ตามคณะกรรมการพันธกรณี 2 ชุด ที่ให้ความเห็นต่อรัฐไทยในฐานะรัฐภาคี เป็นกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ให้ความเห็นไว้ และคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ ซึ่งทั้ง 2 ชุดเรียกร้องให้รัฐไทยยอมรับความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยเสียที
- เหตุผลที่ 3 เนื่องจากกรรมาธิการฯ ในสภาผู้แทนราษฎรได้ขอความเห็นไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และมีความเห็นเสนอให้รัฐไทย บรรจุคำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง ในกฎหมายนี้
“สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ย้ำว่า คำว่า กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีพื้นที่อยู่ในสหประชาชาติเลย ผมจึงจำเป็นต้องขอเพิ่มนิยามคำว่า ชนเผ่าพื้นเมืองเข้ามาต่อท้ายคำว่า กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้มีความหมายชัดเจนมากขึ้น”
ชูพินิจ เกษมณี


นรเศรษฐ์ ปรัชญากร สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ผู้สงวนคำแปรญัติ อภิปรายประเด็นนี้ โดยย้ำว่า ประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 60 กลุ่ม ประมาณกว่า 6 ล้านคน แต่ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์กลับเป็นประเด็นที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมามนานหลายสิบปี ทั้ง ๆ ที่อยู่ในประเทศไทยมาหลายชั่วอายุคน กลับถูกเลือกปฏิบัติจำกัดสิทธิมากมาย จึงฝากความหวังไว้ที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่จะเป็นใบเบิกทางในการยอมรับความหลากหลาย หันมามองเห็นและฟังเสียงกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น ให้กลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบ้านที่ชื่อว่าประเทศไทยได้อย่างภาคภูมิใจ
“หลังจากที่ได้อ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผมก็มีความกังวลอย่างยิ่ง ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต ในการที่เราไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่โอบรับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยอย่างแท้จริง การไม่โอบรับ อย่างแรกที่เห็น คือ การที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ยกเลิกคำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งที่ในการพิจารณาของฝั่ง สส. มีกรรมาธิการฯ อภิปรายไปมากมายว่าคำนี้ ประเทศทั่วโลกก็ได้ใช้กัน ปฏิญญา สนธิสัญญา องค์กรระดับโลกมากมายได้พูดถึง ที่ท่านสมาชิก กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยได้อภิปรายไปแล้ว มิหนำซ้ำประเทศไทยเรา ก็เคยร่วมลงนามปฏิญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมืองไปแล้วด้วย เรายิ่งต้องยอมรับคำนี้ ไม่ใช่เหรอครับ”
นรเศรษฐ์ ปรัชญากร


ขณะที่ พรชัย วิทยเลิศพันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายในประเด็น ที่กรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก แก้ไขมาตรา 3 เปลี่ยนคำว่า กลุ่มคน มาเป็นคำว่า ชาวไทย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับกรณีนี้ และเห็นว่าควรกลับไปใช้คำว่า กลุ่มคน เพราะหากใช้คำว่า ชาวไทย จะทำให้เกิดปัญหา
ดูตั้งแต่รัฐธรรมนูญ นิยามคำว่า ชาวไทย หมายถึง พลเมืองไทย ซึ่งหมายถึงประชาชนที่เป็นคนไทย ถ้าหากจะดูว่าประชาชนที่เป็นคนไทย มีนิยามว่าอย่างไร ก็ต้องไปดูที่ พ.ร.บ.สัญชาติ 2508 หมวด 1 กำหนดบุคคลที่มีสัญชาติ จะต้องกำเนิดโดย บิดา-มารดา ที่มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดใน หรือนอกราชอาณาจักรก็ตาม ถ้าพ่อกับแม่เป็นคนต่างด้าว จะไม่มีสิทธิได้สัญชาติ แม้ว่าจะเกิดในประเทศไทย หรือหญิงต่างด้าวที่สมรสกับผู้มีสัญชาติไทย ต้องยื่นขอสัญชาติถึงจะได้ และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐมนตรี ตลอดจนก็มีคนต่างด้าวที่ขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ จะต้องบรรลุนิติภาวะ มีความประพฤติดี มีอาชีพเป็นหลักเป็นฐาน มีภูมิลำเนาในไทยไม่ต่ำกว่า 5 ปี รู้ภาษาไทย แล้วบุตรไม่บรรลุนิติภาวะด้วย
ตรงนี้จะเป็นปัญหา เพราะว่า หลายครั้งที่กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งพ่อและแม่ของเขาไม่ได้มีสัญชาติไทย ทีนี้พอเกิดปัญหานี้ขึ้นเท่ากับว่า เขาไม่ได้เข้าคุณสมบัติของผู้จะได้รับสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ เขาก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติไทย และเขาก็จะหลุดออกจากการคุ้มครอง ภายใต้ พ.ร.บ.นี้ไปเลย ที่เป็นปัญหาใหญ่มาก ๆ
“ทั้ง ๆ ที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ หัวใจสำคัญ คือ การคืนสิทธิให้ผู้ถูกพรากสิทธิไป แล้วถ้าเขาถูกพรากสิทธิไปโดยที่พ่อแม่ของเขา อาจจะเป็น ผู้ไม่ได้มีสัญชาติไทย แต่เขาอยู่ในเมืองไทยมานานแล้ว มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เราจะให้ พ.ร.บ.นี้ คุ้มครองเขาได้อย่างไร การเปลี่ยนคำ ว่า กลุ่มคน มาเป็นคำว่า ชาวไทย ดูเหมือนเปลี่ยนแค่คำคำเดียว แต่ว่าตัดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้มีสัญชาติไทย ที่ควรจะได้รับภายใต้ พ.ร.บ.นี้ ออกไปถึง 480,000 กว่าคนเลย และยังจะทำให้ไทยผิดข้อกำหนดปฏิญญาสากล หรือกติการะหว่างประเทศที่เราลงนามไปหรือไม่”
พรชัย วิทยเลิศพันธุ์

ประธานกรรมาธิการฯ จึงชี้แจง ถึงการเปลี่ยนคำว่า ชาวไทย แทนคำว่า กลุ่มคน เพื่อให้ใช้บังคับได้จริงโดยทั่วไป ให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาให้ได้เพื่อคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม เพราะฉะนั้นกฎหมายมาตรา 70 รัฐธรรมนูญไม่เขียนไว้หรอกว่า “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตตามสังคมวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจ ได้อย่างสงบสุข และไม่ถูกรบกวน”
“อย่าตีตนไปก่อนไข้ ว่า จะลิดรอนสิทธิ์ ถ้าลิดรอนสิทธิ์จะออกมาทำไม แต่ถ้าเกินสิทธิ์ และยกเว้นกฎหมายอื่น ผมว่านี่ยอมรับไม่ได้ จึงขอให้เข้าใจในเนื้อแท้ เจตนารมณ์ที่ออกกฎหมายนี้ขึ้นมา”
ธวัช สุระบาล
ข้อสรุปการพิจารณาในเรื่องนี้ ที่ประชุม สว.มีมติ เห็นชอบตามการแก้ไขของกรรมาธิการฯ คือ ใช้คำว่า ชาวไทย แทนคำว่า กลุ่มคน และเพิ่มคำว่า “ซึ่งกำเนิดและมีถิ่นฐานในประเทศไทย” ข้อความว่า “กลุ่มชาติพันธุ์” หมายความว่า ชาวไทยที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเดียวกันหรือหลายกลุ่ม ซึ่งกำเนิดและมีถิ่นฐานในประเทศไทย มีอัตลักษณ์และสั่งสมวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเชื่อตามจารีตประเพณีร่วมกัน หรือมีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับสังคมไทย
‘พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’ ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ในหมวดนี้ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ร่างกฎหมายฯ ของวุฒิสภา ยังคงหลักการเดียวกับร่างกฎหมายฯ ของ สส.คือ การใช้ประโยชน์ หรือการกำหนดข้อกำหนด หรือธรรมนูญในเขตพื้นที่เขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เช่นเดิม เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ, พ.ร.บ.ป่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
ประเด็นนี้ มี สว.ที่ขอแปรญัตติ หลายคน เช่น เทวฤทธิ์ มณีฉาย, วีระยุทธ สร้อยทอง, ประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล, นรเศรษฐ์ ปรัชญากร, พรชัย วิทยเลิศพันธุ์, นันทนา นันทวโรภาส และ มณีรัฐ เขมะวงศ์
ประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล สว.กลุ่มภาคประชาสังคม จ.เชียงใหม่ อภิปรายประเด็นนี้ว่า การยกเว้นไม่ต้องนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ในการจัดทำแผนแม่บทและแผนที่แสดงขอบเขตที่จะเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และรวมไปถึงให้คณะกรรมการสามารถเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้มีการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใดที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกหรือล่าช้า มีความซ้ำซ้อนหรือเพิ่มภาระในการดำเนินงานโดยไม่จำเป็น หรือมีปัญหาอุปสรรค หรือเป็นอุปสรรคอื่นใดในการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ทั้งนี้ มีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าโดยเฉพาะในเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ กฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีพี่น้อง 4,042 ชุมชน ที่ถูกลิดรอนสิทธิ์ในการเข้าถึงการจัดการและใช้ประโยชน์ในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีวัฒนธรรม ทำให้เกิดความเดือดร้อนในหลาย ๆ ด้านจากกฎหมายที่ตราขึ้นมาภายหลังและไปทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชนที่อยู่มาก่อน ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งและการโต้แย้งในเรื่องสิทธิในที่ดิน
โดยกรณีที่ขอยกตัวอย่างคือ การใช้ที่ดินทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ที่ชาวบ้านมีแปลงที่ดินใช้หมุนเวียนในการเพาะปลูกแต่ละปีและหมุนเวียนปล่อยให้ฟื้นตัวเป็นไร่เหล่าและกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งเป็นลักษณะการหมุนเวียนเช่นนี้ ที่ผ่านมาถูกหน่วยงานป่าไม้ กล่าวหาว่าเป็นการเกษตรที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการสร้างวาทกรรมบิดเบือนให้ผู้คนในสังคมเข้าใจว่าไร่หมุนเวียนเป็นไร่เลื่อนลอย
“หากยังต้องนำกฎหมายป่าไม้ดังกล่าวมาบังคับใช้ก็จะเกิดปัญหาขึ้นในทางปฏิบัติและจะไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 5 และตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 70”
ประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล
และเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับไร่หมุนเวียนที่ได้ขึ้นเป็นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติไทยแล้ว รวมทั้งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประกาศให้ไร่หมุนเวียนเป็นระบบวนเกษตรระบบหนึ่งที่มีความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศและเป็นระบบที่ไม่ได้ทำลายป่า ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียนไม่น้อยกว่า 500 ล้านคน มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 3,000 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30%
ประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล ชีวะภาพ ชีวะธรรม
ด้าน ชีวะภาพ ชีวะธรรม สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายเห็นต่าง โดยยกการทำงานของตนเมื่อครั้งเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นคนเดียวที่เคยไปเป็นพยานในศาลในคดีที่ แสงเดือน ติณยอด ถูกดำเนินคดีบุกรุกแผ้วถางป่า ซึ่งไม่มีข้าราชการคนไหนไปเป็นพยานให้พี่น้องประชาชนที่ถูกดำเนินคดี ที่ยกเรื่องนี้ตนอยากบอกว่า มือซ้ายคือประชาชนตนไม่ทิ้ง และมือขวาเช่นเดียวกัน คือ ป่าไม้ ภูเขา ตนก็พยายามถ่วงสมดุลซ้ายขวาให้ได้ ตนไม่เคยบอกว่าพี่น้องม้ง หรืออะไรทำลาย ตนเข้าใจ อย่าพึ่งคิดว่าดูถูกดูแคลน และไม่เคยปฏิเสธไร่เลื่อนลอย ยังเห็นวิถีชีวิตตรงนี้ได้ เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ในบางส่วน
“แต่มาตรา 37, 38 ผมเป็นกังวลอย่างมาก ถ้าไปเขียนไว้ว่า ห้ามนำกฎหายอื่นไปใช้บังคับ ซึ่งสมาชิกพูดถึงความเท่าเทียม ท่านบอก 4,000 กว่าหมู่บ้านที่ต้องดูแลพี่น้องชาติพันธุ์ แต่ในประเทศนี้มันมีอยู่ 70,000 กว่าหมู่บ้าน ที่เขาไม่ได้มีที่ดินที่ได้รับการดูแลแบบนี้ พี่น้องที่ได้รับการดูแล ครอบครัว 20-25 ไร่ ตามมติ ครม.มันเท่าเทียมตรงไหน ทีนี้พอไปขีดวง แล้ว พ.ร.บ. อีก 20-30 ฉบับ เอาไปบังคับใช้ไม่ได้ ความเท่าเทียมอยู่ตรงไหนใครการันตีว่าเขาจะไม่ทำผิดกฎหมาย”
ชีวะภาพ ชีวะธรรม
ขณะที่ พรชัย วิทยเลิศพันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายโดยตั้งคำถามและข้อสงสัยว่า การที่มาตรา 37 เรื่องพื้นที่คุ้มครองกลายเป็นประเด็นคำถาม ทั้งฝั่ง สส. และสว. เพราะอะไร ? จึงพยายามแก้ไขมาตรานี้กันอย่างเอิกเกริก เป็นเพราะความกลัวหรือไม่ จึงได้รวมความกลัวเหล่านั้นขึ้นมา และชวนทำความเข้าใจว่ามีเหตุมีผลหรือไม่ ใน 5 ความกลัวที่ไม่เป็นความจริง
- กลัวว่าจะเอาพื้นที่คุ้มครองฯ จากมาตรา 37 ไปขาย อันนี้ต้องบอกว่าไม่เป็นความจริงเลย เพราะว่า มาตรา 37 ไม่ได้ให้โฉนด แต่ให้สิทธิร่วมในการใช้ประโยชน์ที่ดินเท่านั้น
- กลัวว่ากลุ่มชาติพันธุ์ จะกำหนดธรรมนูญ ที่ตอนนี้เป็นเป็นข้อกำหนด มาใช้เอง ซึ่งจริง ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถกำหนดธรรมนูญเองได้ และจริง ๆ แล้ว รัฐต้องเห็นด้วยกับข้อกำหนดดังกล่าวถึงจะประกาศใช้ได้
- กลัวว่าร่างกฎหมายนี้ จะไปอยู่เหนือกฎหมายอื่น ซึ่งจริง ๆ อันนี้ไม่ต้องกลัวเพราะว่า ไม่ว่าจะดำเนินการในขั้นตอนไหน กลุ่มชาติพันธุ์ก็ต้องกำหนดร่วมกับรัฐอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะไปลบล้างกฎหมายอื่นได้
- กลัวว่าจะทำให้อยู่ดี ๆ ชาติพันธุ์จะได้ที่ดินเป็นหมื่นไร่ อันนี้ก็ไม่จริง เพราะว่า มาตรานี้ไม่ได้ยกที่ดินให้ แต่อนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐเป็นนที่อยู่อาศัยและทำกินเท่านั้น
- กลัวว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะเอาที่ดินไปทำให้เป็นไร่เลื่อนลอย อันนี้ก็ไม่ต้องกลัวเช่นเดียวกัน เพราะการออกเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ทำให้พื้นที่ของประชาชนกับรัฐชัดเจน ถ้าประชาชนบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยไม่ได้รับอนุญาต ก็เอาผิดประชาชนได้อย่างชัดเจน
“นี่คือ 5 ความกลัว ที่เหตุผลรองรับดูจะไม่สอดคล้องและไม่เป็นความจริง”

ปรับเปลี่ยนถ้อยคำ ‘ธรรมนูญ’ เป็น ‘ข้อกำหนด’
ในหมวดนี้ยังมีการเสนอปรับแก้ไข คำว่า ธรรมนูญ เป็น ข้อกำหนด โดยให้เหตุผล การใช้คำว่าธรรมนูญกว้าง และอาจหมายถึงธรรมนูญการปกครอง ที่สุดแล้วจึงมีการลงมติ ซึ่งที่ประชุม สว. มีมติเห็นชอบตามการแก้ไขของกรรมาธิการฯ มีการเปลี่ยนถ้อยคำบางคำอย่าง เช่น ธรรมนูญ เปลี่ยนเป็นคำว่า ข้อกำหนด และร่างของวุฒิสภายังคงหลักการเดียวกับร่างของ สส. คือ การใช้ประโยชน์ หรือการกำหนดข้อกำหนดหรือธรรมนูญในเขตพื้นที่เขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เช่นเดิม
อีกทั้งที่ประชุม สว.ยังมีมติเห็นตามกรรมาธิการฯ ปรับเพิ่มสัดส่วน คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จาก 35 คน เป็น 39 คน
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาครบทั้ง 47 มาตรา สมาชิกวุฒิสภา ได้ลงมติวาระ 3 ผลลงมติปรากฏว่า สว.ส่วนใหญ่เห็นด้วย กับ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … ด้วยคะแนน 122 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 133 เสียง
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ เนื่องด้วย ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ พ.ศ… เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติม จะต้องส่งร่างฯ ที่ สว. เห็นชอบ ให้ สส. พิจารณาอีกครั้ง หาก สส. มีมติเห็นชอบก็จะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อตราเป็นกฎหมายได้ แต่หาก สส. ไม่เห็นชอบ จะต้องตั้ง กรรมาธิการร่วมฯ โดยมีสัดส่วน สส. และ สว. เท่ากัน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฯ หาข้อสรุปร่วมกันอีกครั้ง