ผิดหวังหนังสือไม่ถึงมือนายกฯ ในขบวนบางกอกไพรด์ 2024 รับสภาพ LGBTQIAN+ ยังเผชิญอคติ ถูกกีดกัน เชื่อร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ เป็นทางออกสำหรับทุกคน
บรรยากาศของขบวนไพรด์พาเหรด Bangkok Pride 2024 เมื่อ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา สร้างปรากฎการณ์รวมเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาครัฐ เอกชน และประชาชน นับแสนคน ร่วมแสดงพลังโอบรับควากหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงความเท่าเทียมในมิติต่าง ๆ เช่น คนพิการ, Sexworker, เยาวชน, ชนเผ่าพื้นเมือง, ยุติสงคราม, ภาวะโรคร้อน เป็นต้น
เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (มูฟดิ) คือหนึ่งในกลุ่มที่สมัครร่วมขบวนไพร์ดพาเหรดของขบวนที่ 3 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายประชาสังคม และกลุ่มประชากรต่าง ๆ เช่น คนตาบอด เยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่ม LBT (Lesbian, Bisexual และ Transgender) เครือข่ายสตรี คนทำงานแรงงานข้ามชาติ ผู้ใช้สารเสพติด ผู้ปฏิบัติงานวิชาการด้านสุขภาพ รวมทั้งเยาวชนที่ทำงานประเด็นนักเรียนในโรงเรียน และอาสาสมัคร จำนวนมากกว่า 50 คน
พวกเขายังแสดงออกผ่านแผ่นป้ายภาพหน้าของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมข้อความ เช่น
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตจาก มูฟดิ ว่า เป็นที่น่าเสียดายเมื่อหนังสือที่เครือข่ายฯ ตระเตรียมไว้เพื่อจะนำไปยื่นถึงมือนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่มาร่วมเดินขบวนในวันนั้น ไม่ได้อยู่ในความพึงพอใจให้ยื่นในวันดังกล่าว แม้จะยืนยันถึงรูปแบบการเดินขบวนชัดเจนว่า เป็นขบวนรณรงค์เพื่อให้นายกรัฐมนตรี พิจารณารับรอง ร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล(ฉบับประชาชน) เท่านั้น
“ในมิติชีวิตของ LGBTQIAN+ หนึ่งคน ไม่ได้มีแค่เรื่องแต่งงานกัน แต่ต้องเผชิญอคติ การกีดกัน และการเลือกปฏิบัติอย่างรอบด้าน เราจึงรอไม่ได้กับหลักประกันทางกฎหมายนี้ โดยเราพยายามจะร่วมเป็นหนึ่งในสีสันของการเฉลิมฉลอง ผ่านการแสดงออกให้เห็นตัวตน – อัตลักษณ์ทับซ้อน (Intersectionality) ของคนเพศหลากหลาย ในกลุ่มประชากรต่าง ๆ ซึ่งรูปแบบขบวนของเรานั้น ไม่ต่างจากขบวนของภาคธุรกิจ หรือพรรคการเมืองที่มาสื่อสารเรื่องตนกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ”
สำหรับหนังสือที่เครือข่าย มูฟดิ ต้องการยื่นถึงนายกฯ ใจความส่วนหนึ่งระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. … (ฉบับภาคประชาชน) ที่เคยเสนอต่อประธานรัฐสภา และได้รับการพิจารณาให้เป็นร่างฯ ที่เกี่ยวด้วยการเงินจึงจำเป็นต้องได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและจัดทำกฎหมายต่อไปนั้น ล่วงเลยมากว่า 3 ปี ที่ยังมีผู้ได้ผลกระทบจากการถูกเลือกปฏิบัติ โดยปราศจากหลักประกันและความคุ้มครองทางกฎหมาย ทั้งที่การพิจารณาให้การรับรองเพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดพ้นจากการถูกเลือกปฏิบัตินั้น ขึ้นอยู่กับบทบาทและอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีโดยตรงแต่เพียงผู้เดียว
ดังนั้น เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ จึงขอให้นายกฯ เร่งพิจารณาให้การรับรองร่างฯ ฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นเจตจำนงค์ของประชาชน และเพื่อเป็นการยกระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ประเทศไทยให้การรับรอง รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสมอภาค เท่าเทียม โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อไป
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ เครือข่ายมูฟดิ ได้มีความพยายามเสนอร่างฯ ผ่านกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ โดยมีผู้เข้าชื่อ 12,112 รายชื่อ เสนอให้ประเทศไทยมีกฎหมายนี้ เพื่อสร้างกลไกการรับเรื่องร้องเรียน และวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติ มีมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาคนที่ถูกเลือกปฏิบัติ และกำหนดโทษและให้ข้อเสนอแนะกับผู้ที่เลือกปฏิบัติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อเป็นการคุ้มครองปกป้องคนทุกคนจากการถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น ถิ่นกำเนิดเชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด มาเลือกปฏิบัติต่อบุคคล