หลังมีรายงาน กรมพินิจฯ ตัดงบฯ 68 ประเมินผลงาน ‘ป้ามล – ทิชา ณ นคร’ หลุด ผอ.บ้านกาญจนาฯ ชี้ ช่วยลดเยาวชนหวนคืนคุกได้กว่า 95% ถามความคืบหน้ากฎกระทรวง รองรับ ม. 55 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ เปิดทาง ‘ศูนย์ฝึกเอกชน’ ด้านรมว.ยุติธรรม ยัน เป็นไปตามระเบียบ ก.พ.ร. รอลุ้น สิ้นเดือนนี้
วันนี้ (2 ก.ย. 67) ที่กระทรวงยุติธรรม แจ้งวัฒนะ เครือข่ายอดีตเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนา รวมตัวกันในนาม “กลุ่มผู้ถูกเจียระไน” ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายบางกอกดีจัง มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิขวัญชุมชน เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กลุ่มไม้ขีดไฟ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน เข้ายื่นหนังสือ กับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อแสดงจุดยืนและข้อเสนอกับกรณี การให้ยุติบทบาทผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษกคนนอก (ทิชา ณ นคร)
ชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า จากข่าวที่กองทรัพยากรบุคคลกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุว่า ในงบประมาณปี 2568 มีการตัดงบของตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็กและเยาวชนออก ซึ่งหมายความว่าต้องยุตติการทำหน้าที่ ของผู้อำนวยการศูนย์ฝึกด้านกาญจนาคนนอก คือ ทิชา ณ นคร ทำให้เกิดความกังวลต่อสังคมในการดำเนินงานของบ้านกาญจนาตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ว่าจะถูกดำเนินการต่อหรือไม่ และที่ผ่านมาได้เห็นเป็นประจักษ์อยู่แล้วว่ากลุ่มเยาวชนบ้านกาญจนา ในช่วงปี 2556-2559 พบ เยาวชนกระทำผิดซ้ำไม่ถึง 6% แต่จากการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งสะท้อนวิสัยทัศน์ที่น่าเป็นห่วง
“การเดินทางมารวมตัวกันครั้งนี้ ไม่ได้มาเพื่อปกป้องป้ามล แต่มาเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เพื่อที่จะให้เขาได้มีโอกาสได้กลับตัวกลับใจ โดยกระบวนการของบ้านกาญจนาฯ จากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมพินิจฯ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในกระบวนการแก้ไขพฤติกรรมคน”
ชูวิทย์ จันทรส
“กังวลที่สุดคือท่าทีของอธิบดีกรมพินิจฯ โดยเฉพาะมุมมองที่มองบ้านกาญจนาฯ เหมือนกับคุกเด็กอื่น ๆ ที่ผ่านประสบการณ์มา 20 กว่าปี และทำให้เด็กที่จะกระทำความผิดซ้ำมีเพียงไม่ถึง 6% ในขณะที่คุกเด็กอื่น ๆ เกือบครึ่งหรือ 40% กลับมาทำผิดซ้ำ เมื่อผู้ใหญ่มีมุมมองแบบนี้แสดงว่าไม่เข้าใจ ว่ากระบวนการที่ผ่านมา ที่ทำให้เด็กก่อคดีแล้วเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ กลายเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่เรื่องของการฝึกวิชาชีพเหมือนที่อธิบดีฯ กล่าว แต่เป็นเรื่องทักษะชีวิต เป็นเรื่องของทัศนคติคน ที่ทำให้เขาสำนึกต่อสิ่งที่กระทำ และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนดีของสังคม ถามว่าสถานพินิจอื่นทำได้เหมือนบ้านกาญจนาฯ หรือไม่”
ชูวิทย์ จันทรส
อัครพงษ์ บุญมี อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ ที่ปัจจุบันประกอบอาชีพธุรกิจรับเหมาก่อสร้างได้กว่า 10 ปี กล่าวว่า ในอดีตเคยกระทำความผิดแล้วผ่านเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ช่วงแรกไปอยู่ในศูนย์ฝึกอื่น ก่อนที่จะมาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ เป็นศูนย์ฝึกที่แตกต่างจากระบบอื่นของกรมพินิจฯ ช่วงเวลา 2-3 ปี ที่อยู่ในบ้านกาญจนาฯ ทำให้มีเวลาได้ทบทวนตัวเอง ได้ฝึกวิชาชีพ คิดวิเคราะห์ ทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และผลที่เกิดจากการกระทำ
“สำหรับตัวผมเองผมคิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปเยอะ เพราะป้ามลมีกระบวนการช่วยพาคิด พาทำ ชวนวิเคราะห์ ทำให้เราเห็นในสิ่งที่เราเคยทำผิดพลาดในอดีต และไม่คิดอยากจะกลับไปทำซ้ำ หลังจากได้กลับออกมาสู่โลกภายนอก คนอื่นอาจจะไม่ได้มองต่าง แต่สิ่งที่ต่างคือตัวเราเองรู้ดีว่า ตัวเราต่างจากเด็กที่มามาจากศูนย์ฝึกอื่นแน่นอน ตอนผมอยู่บ้านต้นทาง ผมคิดแค่ว่าจะต้องทำตัวให้มีอำนาจ เป็นขาใหญ่ เป็นนักเลง ในสังคมแบบนั้นต้องบอกว่าคิดได้แค่นั้นจริง ๆ ไม่มีเวลาที่จะทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง ถึงสิ่งที่เราทำผิดพลาด มันใช้ชีวิตแบบแก่งแย่ง”
อัครพงษ์ บุญมี
อัครพงษ์ บอกด้วยว่า หลังทราบข่าวจะมีการตัดงบฯ ผู้อำนวยการคนนอกก็รู้สึกกังวล จึงเดินทางมา พร้อมยืนยันอีกว่า
“ผมถูกปล่อยไปประมาณ 10 กว่าปี ก็ยังติดตามบ้านกาญจนามาตลอด เพราะเรารู้สึกว่ายังเป็นลูกเป็นหลาน หลายคนออกจากคุกไม่มีใครรู้สึกอยากเดินกลับไป แต่บ้านกาญจนา คือ บ้านที่ผมอยากกลับไปหา เพราะเรารู้สึกว่านี่คือบ้านหลังที่ 2 เค้าให้อะไรเรามาก ให้ชีวิตอีกมุมหนึ่งของเรากลับคืนมา”
“ผมไม่ติดว่าใครจะมาเป็น ผอ. แต่ด้วยความเป็นป้ามล ผมรู้สึกชื่นชมและรู้ซึ้งถึงการทำด้วยใจ และทำเต็มที่ แต่ใครจะมาเป็น ผอ. ก็แล้วแต่ แต่ระบบควรจะยังคงอยู่ สร้างมาเป็น 20 ปี ไม่ใช่ตัดงบฯ แล้วก็หายไป”
อัครพงษ์ บุญมี
อัครพงษ์ กล่าวถึงกรณีที่ก่อนหน้านี้เคยร่วมกับกลุ่มตัวแทนเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาฯ เข้ายื่นหนังสือที่กระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้พิจารณาพิจารณาออกกฎกระทรวงประกอบมาตรา 55 ตาม พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ที่สามารถให้เกิดสถานพินิจที่เป็นเอกชนหรือใครที่สามารถดูแล หรือสร้างสถานพินิจขึ้นมา โมเดลบ้านกาญจนาฯ ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
ขณะที่ นำโชค กระจ่างศรี อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ บอกว่า ตัวเองเป็นเยาวชนรุ่นที่ 2 ตั้งแต่เปิดบ้านกาญจนาฯ จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 19 ปี บ้านกาญจนาเปลี่ยนชีวิตของเขา หรือกล่าวได้ว่าถ้าไม่มีบ้านกาญจนาฯ ก็จะไม่มีเขาในวันนี้ เพราะในอดีตที่ผ่านมาตัวเขาเองเป็นเด็กที่ทำตัวไม่ดี ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด เพื่อนหลายคนที่คบกันอยู่ตอนนั้นทุกวันนี้ก็ยังคงยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แต่เขาหลุดพ้นมาได้เพราะบ้านกาญจนาฯ เพราะคำสอนของป้ามล ซึ่งหลังจากทราบข่าวว่าจะมีการตัดงบฯ ผู้อำนวยการคนนอก รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับเยาวชนรุ่นต่อไปที่เขาไม่ได้เลวตั้งแต่กำเนิด เขาเองก็พร้อมที่จะปรับปรุง
“เราเลวนะแต่เราเปลี่ยนตัวเองได้ รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับสังคม ที่มีเด็กกระทำผิดเยอะ แต่ไม่มีโอกาสได้รับรู้หรือได้รับการช่วยเหลือ เข้าบ้านกาญจนาฯ วันแรก แล้วป้ามลเข้ามากอด เป็นกอดแรกที่รู้สึกว่า… ตอนแรกเราคิดว่าป้าคนนี้เป็นใคร มากอดเราทำไม แต่นับจากนั้น เรารู้สึกว่านั่นเป็นกอดมหัศจรรย์ที่เปลี่ยนทุกอย่าง ทั้งความรู้สึกความคิด ตอนแรกที่เข้ามาเราอาจจะไม่ได้รับรู้เพราะเรามาจากที่ที่โหด แต่หลังจากนั้นเรารับรู้ถึงความรักความเอาใจใส่”
นำโชค กระจ่างศรี
สอดคล้องกับ อภิรัฐ สุดสาย อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ และผู้ประสานงานกลุ่มผู้ถูกเจียระไน ย้ำว่า บ้านกาญจนาฯ มีกระบวนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่ตรงจุดที่สุดแล้ว เพราะไม่ได้แก้ไขปัญหาแค่ที่ตัวเด็กแต่แก้ไขลงลึกไปถึงครอบครัว การเยียวยาความรู้สึก สอนให้เด็กเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ การละเมิดสิทของผู้คนอื่น สอนเป็นวิชาชีพมากกว่าสอนวิชาชีพ กระบวนการของป้ามล ดึงด้านสว่างของออกมา บางคนไม่รู้ตัวเองเป็นคนอย่างไร แต่ด้วยสิ่งแวดล้อมสังคมรอบข้าง ทำให้ด้านมืดของเขารถแล่น เด็ก ต้องดึงปีศาจออกมาปกป้องตัวเอง แต่พอมาอยู่ในบ้านกาญจนาฯ บ้านที่ไร้อำนาจ บ้านที่เคารพสิทธิ บ้านที่มีความเสมอภาค บ้านที่ใช้อำนาจร่วม มันเกิดความรู้สึกสบายใจปลอดภัยในช่วงเวลาที่อยู่ภายในรั้วบ้านกาญจนาฯ
อภิรัฐ ยังได้กล่าวประกาศจุดยืนในนามตัวแทนฯ พร้อมมีข้อเสนอดังนี้
- ขอให้อธิบดีกรมพินิจฯ ศึกษาทบทวนที่มาที่ไป เป้าหมายร่วมเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำของเยาวชน ของ บ้านกาญจนาฯ ที่รับนโยบายมาจากอธิบดีคนแรก โดยมีคุณหญิง จันทนี สันตะบุตร เป็นผู้ระดมทุนสร้างบ้านกาญจนาฯ ในโอกาสในหลวงรัชกาลที่ 9 ครองราชย์ครบ 50 ปี โดยมีป้ามล เป็นผู้ค้นหานวัตกรรมเพื่อเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว
- เนื่องจากนวัตกรรมที่ศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาค้นพบ ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในพื้นที่ระบบอำนาจนิยม จึงมีความพยายามในการค้นหาเส้นทางสายใหม่ โดยอาศัย มาตรามาตรา 55 ที่เขียนทางออกไว้ แต่ทั้งนี้ต้องมีกฎกระทรวงรองรับ ควรชี้แจงให้สังคมทราบความคืบหน้าเรื่องนี้
- ศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาภิเษกฯ ไม่ใช่ศูนย์ฝึกเอกชน ตามที่อธิบดีให้สัมภาษณ์ แต่กำลังอยู่ในขั้นขั้นตอนเป็นศูนย์ฝึก ตามมาตรา 55 ตามเจตนารมย์ที่ภาครัฐและสังคมร่วมมือกัน ซึ่ง ก.พ.ร. ต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง
- ในฐานะอดีตเยาวชนบ้านกาญฯ ที่ปัจจุบันเป็น ประชาชน นักศึกษา คนทำงาน ที่กำลังสร้างความเข้มแข็งจากต้นทุนชีวิตที่ได้รับจากบ้านกาญจนาฯ ทราบมาตลอดว่าที่นี่วางนโยบายและมี เป้าหมายร่วมกับภาครัฐ ในการสร้างเครื่องมือลดการกระทำผิดซ้ำของเยาวชนที่พลาดในสถานพินิจ ซึ่งไม่ใช่โจทย์ที่ง่าย แต่บ้านกาญจนาทำได้ และหลักฐานที่เห็นเชิงประจักษ์คือผู้รอดกว่า 95% ในสังคม กรมพินิจฯ จึงต้องหาทางขยายผลหรือสนับสนุนอย่างจริงจัง
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า บ้านกาญจนาฯ มีมานานกว่า 20 ปี หากเปรียบกับเด็กหนึ่งคนตอนนี้ก็เติบโตแล้ว และนี่ยังเป็นความคืบหน้าของกฎหมายกรมพินิจฯ ที่มีความก้าวหน้าทันสมัย คือ สถานพินิจสามารถมีศูนย์ฝึกเด็ก ตามมาตรา 55 ที่ไม่ใช่ระบบราชการได้ แต่เป็นหน่วยงานพิเศษหน่วยงานหนึ่ง ที่จะทำให้สถานพินิจและคุ้มครองเด็กไม่ใช่คุก ไม่ใช่สถานที่กักกัน แต่เป็นสถานที่แห่งโอกาสของผู้ก้าวพลาดได้กลับเข้ามา ซึ่งรูปแบบของบ้านกาญจนาฯ มีอีกหลายแห่งในอนาคต โดยยืนยันว่า มาตรา 55 ตอนนี้ยังอยู่ ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้กฎหมายจะไม่มีใครล้มไปได้ โดยใน มาตรา 55 จะต้องมีการทำเป็นกฎกระทรวง ความคืบหน้าตอนนี้ผ่าน ครม. แล้ว และได้ผ่านไปที่กฤษฎีกา กำลังอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น เพื่อให้กฎกระทรวงมีความปราดเปรื่อง รอบด้าน สามารถใช้กับการจัดตั้งสถานที่เปลี่ยนคนที่มีคุณภาพกลับไปสู่สังคม ซึ่งกฎกระทรวงที่ผ่านเข้าไปนั้นถูกร่างมาตั้งแต่ยุคก่อนจนถึงยุคยุคปัจจุบันไม่ได้มีการแก้ไขอะไร
“ระหว่างนี้ที่กฎกระทรวงยังไม่ออก ฝากทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้าไปดู ว่ามีอะไรที่ควรจะปรับปรุง เพราะเราผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนที่ดีที่สุดต้องให้กลุ่มเพื่อนกลุ่มวัยเดียวกันแก้ ไม่ใช่ให้คนอีกรุ่นหนึ่งมาแก้
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
ส่วนข้อสงสัยที่ว่างบประมาณมีหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่ามีงบประมาณ แต่ในระเบียบของราชการ คนที่ทำงานในศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาฯ ไม่ใช่ข้าราชการ แต่เป็นพนักงานราชการ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีกรอบการจัดสรรพนักงานราชการ กับสำนักงาน ก.พ. และ ก.พ.ร. ซึ่งจะต้องรอดูในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งการต่อสัญญาจ้างและประเมินแบบนี้จะทำทุก ๆ 4 ปี และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 แล้ว
“ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีผมยืนยันว่า รูปแบบกาญจนาฯ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เพราะสิ่งที่พูดคือเรื่องการกระทำผิดซ้ำน้อยมาก ตอนนี้ในทางราชทัณฑ์เอง คนที่พ้นโทษออกไปมีการกระทำผิดซ้ำ กว่า 30% แต่ที่นี่ไม่ถึง 5% อันนี้จึงเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด ของประเทศไทยในขณะนี้ ที่ควรจะขยายไปที่อื่น ๆ”
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง