ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและครอบครัว ชี้ กฎหมายแก้ได้แค่ปลายเหตุ ความรุนแรงยังคงอยู่ หากผู้ใหญ่ยังไม่เข้าใจสิทธิเด็กมากพอ
วันนี้ (16 ธ.ค. 67) ที่ประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือที่เรียกกันว่า ‘ร่างกฎหมายห้ามตีเด็ก’ ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรใน 3 วาระ และล่าสุดได้ผ่านการเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา โดยชอบเป็นเอกฉันท์
สำหรับร่างกฎหมายฯ นี้แก้ไขเพียงมาตรา 1567 (2) ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม ที่ระบุให้ผู้ใช้อำนาจปกครอง เช่น พ่อแม่ มีสิทธิทำโทษบุตร “ตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน” โดยไม่มีกำหนดชัดเจนถึงการป้องกันการทารุณกรรม หรือความรุนแรง โดยการแก้ไขใหม่ได้เพิ่มเงื่อนไขว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองสามารถทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม แต่ต้องไม่กระทำการทารุณกรรม ใช้ความรุนแรงต่อร่างกายหรือจิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ
ในวาระหนึ่ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฯ โดยชี้ถึงความสำคัญของการปกป้องสุขภาพจิตเด็ก ที่ประชุมลงมติด้วยคะแนน เห็นด้วย 187 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย วุฒิสภาได้เดินหน้าตั้งกรรมาธิการเต็มสภาฯ เพื่อพิจารณารายมาตราในวาระสอง โดยไม่มีการแก้ไขถ้อยคำที่เป็นสาระสำคัญ ก่อนที่ที่ประชุมจะลงมติเห็นชอบในวาระสามด้วยคะแนน เห็นด้วย 181 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง
จากนี้ร่างกฎหมายฯ จะถูกส่งให้ นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะรอไว้ 5 วันก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศเป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันที่ประกาศทันที
แม้มีกฎหมาย แต่นี่อาจไม่ใช่จุดสิ้นสุดความรุนแรงในเด็ก เยาวชน
มิรา เวฬุภาค หรือ แม่บี ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Mappa ผู้ส่งเสริมพื้นที่การเรียนรู้ในครอบครัว ให้ความเห็นกับ The Active ถึงการผ่านร่าง ‘กฎหมายไม่ตีเด็ก’ โดยเปิดเผยว่า ตนเคยมีส่วนร่วมในการเป็นที่ปรึกษาการร่างแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ราว 1 – 2 ครั้ง ส่วนตัวเข้าใจว่า กฎหมายนี้มีเจตนาดีต่อการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเด็ก แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันไม่ต่างอะไรจากการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ
มิรา ยกตัวอย่างถึงกรณีไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าการยกเลิกทัศนศึกษาไม่ได้ทำให้เด็กไทยมีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะอันตรายก็ยังเข้าถึงพวกเขาได้ผ่านรูปแบบอื่น ในทำนองเดียวกัน การออกกฎหมายห้ามตีเด็ก ก็เป็นเหมือนการถอดเครื่องมือหนึ่งออกจากผู้ใหญ่ แต่ความรุนแรงก็ยังส่งต่อได้ทั้งทางวาจา หรือทางสังคม ฉะนั้น ถ้าผู้ใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ควรใช้ความรุนแรงกับเด็ก การออกกฎหมายก็เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ
“เราออกกฎหมายห้ามตีเด็ก เพื่อไปเฆี่ยนตีผู้ใหญ่ว่าห้ามตีเด็ก โดยที่พวกเขาส่วนหนึ่งก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องหยุดตีเด็ก ส่วนตัว เคยเห็นครูอนุบาลที่เขาไม่ตีเด็ก แต่เขาไปตีตุ๊กตาให้เด็กดูแทน หรือบางคนก็แอบหยิกเด็กแบบไม่ทิ้งรอย แล้วอย่างนี้เราจะไว้วางใจว่าเด็กทุกคนจะปลอดภัยได้อย่างไร”
มิรา เวฬุภาค
มิรา ยังเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเยาวชน ไม่อาจแก้ได้ด้วยพลังอำนาจของกฎหมายฉบับเดียว โดยกฎหมายนี้มีเจตนาที่ดี แต่สังคมจำเป็น ต้องถกเถียงถึงรากปัญหาอย่างจริงจังด้วย เช่น การที่พ่อแม่ตีเด็กเป็นบทลงโทษลูก อาจเป็นเพราะพวกเขามีความเครียดจากโลกการทำงาน หรือเป็นเพราะพวกเขาไม่มีเวลาคิดหาวิธีการอบรมลูก จนต้องลงเอยด้วยการใช้ไม้เรียวตี เพราะนี่เป็นวิธีคุมพฤติกรรมเด็กได้ชะงัดที่สุด
“สุขภาพจิตและความเครียดของผู้ปกครองที่ถ่ายทอดสู่ลูก ล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจ เราต้องมองกลับไปว่าแล้วภาครัฐช่วยพ่อแม่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้วหรือไม่ พวกเขามีรายได้หรือสวัสดิการที่เพียงพอให้พวกเขาสามารถแบ่งเวลา หรือแบ่งใจไปดูแลลูกของพวกเขาได้มากพอแล้วหรือยัง ทั้งหมดนี้คือใต้ภูเขาน้ำแข็งที่รัฐต้องมองให้เห็น และแก้ไขจากจุดนั้น ไม่ใช่แค่ออกกฎหมายห้ามตีเด็ก”
มิรา เวฬุภาค
มิรา ยืนยันว่า เห็นด้วยกับหลักการที่ผู้ใหญ่ในสังคมไม่ควรใช้ความรุนแรงใด ๆ ต่อเยาวชนเพื่อการอบรมหรือสั่งสอน กฎหมายนี้อาจจะช่วยเด็กมีหลักประกันความปลอดภัยได้บ้าง แต่กฎหมายไม่ใช่ทุกอย่าง ภาครัฐและฝ่ายการเมืองยังต้องมองหามาตรการส่งเสริมการตระหนักรู้เรื่องสิทธิเด็ก และส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้คนในสังคม เพื่อที่เราจะได้เลิกใช้ความรุนแรงเป็นทางออกของปัญหาเสียที