ชี้เป็นโอกาสแจงความจริงให้ปรากฎต่อศาล มั่นใจโชว์สปิริตมาศาลแม้มีเอกสิทธิ์ สส. คุ้มกัน ขณะที่ ทีมทนายความ หวังได้ตัวจำเลยมาศาลครบ ก่อนคดีขาดอายุความ ตั้งข้อสังเกตจำเลยบางคนย้ายทะเบียนบ้าน เทคนิคหลบเลี่ยง ประวิงเวลาหรือไม่
วันนี้ (4 ก.ย. 67) พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะทีมทนายความฝ่ายโจทย์คดีตากใบ เปิดเผยกับ The Active ถึงข้อสังเกตกรณี ศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้องคดีที่ชาวบ้านยื่นฟ้องอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภอ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยคดีนี้ศาลรับฟ้อง จำเลย 7 คน ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา กักขังหน่วงเหนี่ยว และทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต โดยในช่วงที่ผ่านมาศาลได้ออกหมายเรียก จำเลยทั้ง 7 คน ให้มาศาลในวันที่ 12 กันยายนนี้ เพื่อสอบคำให้การนั้น จากนี้ก็ขอให้สังคมร่วมกันจับตาดูว่าจำเลยทั้ง 7 คน จะเดินทางมาตามที่ศาลนัดหรือไม่
ข้อสังเกตจำเลยย้ายทะเบียนบ้าน หวั่นประวิงเวลาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เพราะเบื้องต้นจากการตรวจสอบของทีมทนายความ มีข้อสังเหตที่อาจทำให้เชื่อได้ว่า จำเลยบางคนอาจใช้เทคนิคหลบเลี่ยงการมาศาล เมื่อพบว่า มีจำเลย 3 จาก 7 คน เปลี่ยนที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร ทั้งการย้ายที่อยู่ภายในจังหวัดเดียวกัน และย้ายข้ามจังหวัด ซึ่งเป็นการแจ้งเปลี่ยนที่อยู่หลังวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดี ก็อาจเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการประวิงเวลาการได้รับหมายเรียก เป็นเหตุผลของการไม่มาศาลหรือไม่ ซึ่งทางทีมทนายความ ก็ได้ไปขอให้ศาลออกหมายเรียกใหม่ ตามที่อยู่ใหม่แล้วเช่นกัน
พรเพ็ญ ยังระบุด้วยว่า จนถึงตอนนี้คิดว่าจำเลยทั้ง 7 คน น่าจะได้รับหมายเรียกแล้ว ก็ต้องรอลุ้นว่าจำเลยจะมาศาลในวันที่ 12 กันยายนนี้หรือไม่ ถ้าไม่มาอะไรคือเหตุผล หรือหนีออกนอกประเทศ แต่จากสภาพการณ์ตอนนี้ เชื่อว่า บุคคลที่เป็นจำเลยทั้ง 7 คน สามารถติดต่อได้ ไม่ได้มีใครหลบหนี ไม่ได้ออกนอกประเทศ ดังนั้นวันที่ 12 กันยายน จำเลยต้องมาศาลตามหมายเรียก ถ้าไม่มาก็อาจมีเหตุผลเพียงพอ หรือมีข้อพิรุธว่าอาจประวิงคดี หรือพยายามหลบหนี ก็อาจเป็นไปได้ที่ศาลอาจใช้ดุลยพินิจ ในการพิจารณาออกหมายจับจำเลยทั้ง 7 คน
“อยากให้จำเลยทั้ง 7 คน มาตามที่ศาลนัด เพราะเป็นสิ่งที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น เพราะเวลาของคดีนี้เหลือไม่ถึง 2 เดือนแล้ว หากจำเลยมาศาลก็จะทำให้คดีนี้เดินหน้าต่อได้ แม้ใกล้ขาดอายุความก็ตาม”
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
ย้ำอายุความ ‘คดีตากใบ’ สะดุดลง ก็ต่อเมื่อได้ตัวจำเลยมาศาล
ขณะที่ รศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุไว้ในเสวนาออนไลน์ “ตากใบ กระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่เปลี่ยนผ่าน” เน้นย้ำถึง ความชัดเจนเรื่องอายุความของคดีตากใบ ว่า หากพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ตีความได้ว่า ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทย์ยื่นฟ้อง และศาลได้รับฟ้องไว้แล้ว อายุความจะสุดดุดหยุดลงเมื่อได้ตัวจำเลยมาศาล มารับทราบข้อกล่าวหา ถ้าจำเลยปรากฎตัวต่อศาลแล้ว ภายหลังจำเลยหลบหนีหายไป หรือ วิกลจริตไป ศาลจะสั่งงดคดี กรณีแบบนี้อายุความจะเริ่มนับใหม่ทันที
“ถ้าตาม มาตรา 95 จำเลยต้องมาศาล สุดท้ายถ้าไม่มา ศาลเอาตัวมาไม่ได้ คดีในส่วนของเขาก็จะขาดอายุความไป ดังนั้นภายในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ต้องได้ตัวจำเลยมาปรากฎตัวต่อศาลให้ได้ จริง ๆ ก็หมิ่นเหม่เหมือนกันว่า ศาลจะหาตัวจำเลยได้ทัน 25 ตุลาคมนี้หรือไม่”
รศ.สาวตรี สุขศรี
หวั่นเอกสิทธิ์คุ้มกัน สส.
ในวงเสวนายังมีข้อสังเกตต่อการใช้เอกสิทธิ์คุ้มกันของ สส. จากกรณีของจำเลยที่ 1 คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 นั้น รศ. สาวตรี ระบุว่า ความคุ้มกันของ สส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 เป็นการที่กฎหมายต้องการการันตีให้ สส. สว. ทำหน้าที่ประชุมสภาฯ ได้ เลยคุ้มกัน สส. และ สว. การคุ้มกันมีระยะเวลาในช่วงสมัยประชุมเท่านั้น ซึ่งสมัยประชุมสามัญ หรือ วิสามัญ ถ้าอยู่ในช่วงของการประชุม มาตรา 125 จะห้ามไม่ให้จับ คุ้มขัง หมายเรียกต้ว สส. ไปทำการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา แต่ถ้าสิ้นสุดสมัยประชุมไปแล้ว ก็ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีได้ หากอยู่ในสมัยประชุมแล้วต้องการให้มาขึ้นศาลในฐานะจำเลย จริง ๆ ก็มีข้อยกเว้น 2 แบบ คือ ได้รับอนุญาตจากสภาฯ หรือ เป็นการจับกุมในขณะที่กระทำความผิดซึ่งหน้า การจับกุมในขณะทำความผิดเองก็ให้อำนาจประธานสภาฯ ให้ปล่อยตัว ซึ่งถือเป็นการการันตีการปฏิบัติหน้าที่ของ สส. ตามกฎหมาย
เชื่อ ‘พล.อ.พิศาล’ จำเลยที่ 1 โชว์สปิริตมาศาล
ขณะที่ รอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคประชาชน ระบุว่า ในทางรูปธรรมชัดเจนว่าขณะนี้อยู่ในสมัยประชุมสภาฯ จนถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์นี้มีประชุมสภาฯ ทั้งการอภิปรายงบฯ ในสัปดาห์หน้าก็อาจมีแถลงนโยบายรัฐบาล และ ประชุมร่วม 2 สภาฯ ถือว่าเป็นช่วงสัปดาห์ที่วุ่นวาย ปกติแล้ว สส. ประชุมสภาฯ วันพุธ และ พฤหัสบดี เพราะฉะนั้น กรณีที่ศาลนัด 12 กันยายนนี้ ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี หมายความว่า ตรงกับวันประชุมสภาฯ ก็เป็นเหตุผลที่ให้กับจำเลยที่ 1 ไม่สามารถไปร่วมได้ในทางรูปธรรม
รอมฎอน ยังเชื่อว่า ในการสื่อสารของ ญาติ ผู้ฟ้องคดี และความพยายามสื่อสารจากทีมทนายความ ทำให้เห็นว่ากรณีตากใบ ไม่ใช่แค่เรื่องของคู่ความ แต่คดีตากใบใหญ่กว่านั้น ผูกพันกับผู้คน และความขัดแย้งที่สลับซับซ้อน ที่สำคัญคือชี้ขาดทิศทางของสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ ดังนั้นการแสดงความรับผิดชอบ เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของจำเลย ถือเป็นประโยชน์ของทุกฝ่าย
“เท่าที่รู้จัก และทำงานกับ พล.อ.พิศาล กันมา ได้เคยฟังทัศนะของท่าน เชื่อว่า นี่คือโอกาสในการทำให้ความจริงได้ถูกนำมาถกเถียงกันในชั้นศาล จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายจริง ๆ เชื่อว่าไม่ยากที่ท่านจะแสดงสปิริต ก่อนคดีนี้หมดอายุความ เพราะหากตัดสินใจไม่ไปศาล เพื่อให้คดีขาดอายุความ ก็อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย ดังนั้นเชื่อว่า จำเลยทั้ง 7 คนจะแสดงสปิริตได้”
รอมฎอน ปันจอร์
สำหรับจำเลย 7 จาก 9 คน ที่ศาลรับฟ้องในคดีนี้ ประกอบด้วย
- จำเลยที่ 1 พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
- จำเลยที่ 3 พล.ต. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการพล. ร. 5
- จำเลยที่ 4 พล.ต.อ. วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
- จำเลยที่ 5 พล.ต.ท. มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
- จำเลยที่ 6 พล.ต.ต. ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับ สภอ.ตากใบ
- จำเลยที่ 8 ศิวะ แสงมณี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- จำเลยที่ 9 วิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส