ย้ำ สะท้อนอัตลักษณ์มลายู ไม่มีเจตนายุยง ปลุกปั่น สร้างความเกลียดชัง เชื่อฟ้องคดี ปิดกั้นสิทธิ เสรีภาพการแสดงออกในพื้นที่ กระทบเดินหน้าสันติภาพชายแดนใต้
วันนี้ (29 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าว Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้ รายงานว่า เยาวชน เเละชาวบ้านจำนวนมากร่วมสวดดุอาร์ที่มัสยิดกลางปัตตานี จ.ปัตตานี เพื่อให้กำลังใจนักกิจกรรม 9 คน ที่ไปรับทราบนัดใหม่จากสำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ซึ่งได้เลื่อนนัดการสั่งฟ้องนักกิจกรรมทั้ง 9 คน ในคดีการจัดกิจกรรมสวมชุดมลายู เมื่อปี 2565 ในข้อหายุยงปลุกปั่น อั้งยี่ ซ่องโจร โดยจากเดิมกำหนดวันนัดวันที่ 21 พฤศจิกายน แต่เนื่องจากนักกิจกรรมคนหนึ่งติดภารกิจ จึงเลื่อนนัดใหม่เป็นวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้
มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ หนึ่งในนักกิจกรรม ยืนยันว่า จะไม่หลบหนีเหมือนผู้ต้องหาในคดีอื่น และพร้อมจะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม
อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความศูนย์ทนายความมุสลิม บอกว่า การส่งพยานหลักฐานไม่ใช่เฉพาะการตีความคำพูดบนเวทีเท่านั้น แต่พยายามทำให้เห็นว่าเจตนาของการจัดงานไม่ได้ประสงค์ทำให้เกิดความเกลียดชัง แต่เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อคงอัตลักษณ์ในพื้นที่
ขณะที่ รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ย้ำว่า การไล่ฟ้องนักกิจกรรมจะเป็นอุปสรรคในการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ เพราะเป็นการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก
ก่อนหน้านี้ ตัวแทนทนายความ และตัวแทนนักกิจกรรมทั้ง 9 คน ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้มีการทบทวน คำสั่งของอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 ที่มีความเห็นเตรียมสั่งฟ้องคดีนักกิจกรรมทั้ง 9 คน เพราะการดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และการแก้ปัญหาในพื้นที่ ทำให้อัยการสูงสุดได้ส่งเรื่องนี้กลับมายังอัยการประจำจังหวัดปัตตานีจึงเป็นที่มาของการเลื่อนนัดวันนี้
คดีนี้เกิดขึ้นหลังนักกิจกรรมจัดกิจกรรมสวมชุดมาลายู Melayu Raya 2022 ที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี โดยในวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ตำรวจภูธร จ.ปัตตานี ออกหมายเรียกนักกิจกรรม 9 คน โดยได้ไปเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 มกราคม 2567 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา
โดยผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ให้การปฏิเสธ และในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนต่อพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี และมีความเห็นควรสั่งฟ้อง พนักงานอัยการจึงนัดให้ผู้ต้องหาไปรายงานตัวในวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ผู้ต้องหาติดภาระกิจ จึงเลื่อนนัดมาเป็นวันที่ 26 กันยายน และในวันนี้ที่อัยการได้ขอเลื่อนนัดอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ออกแถลงการณ์ว่า การดำเนินคดีกับนักกิจกรรมไม่ได้เกี่ยวข้องกันจัดกิจกรรมแต่งกายด้วยชุดมลายู แต่ในขณะจัดงานได้มีการกล่าวบนเวทีซึ่งมีเนื้อหาปลุกระดม รวมถึงภายในงานยังมีธงสัญลักษณ์ที่เข้าข่ายการปลุกระดมด้วย ซึ่งทางฝ่ายนักกิจกรรม เเย้งว่า เจตนารมณ์ของการจัดงาน คือ ต้องการเเสดงอัตลักษณ์ผ่าน การเเต่งกายชุดมลายูของคนในพื้นที่ เเละก่อนจัดงานก็ได้ขออนุญาตจากหน่วยงานความมั่นคงเเล้ว