‘สภาทนายความฯ’ เผย เอกชน ยื่นคำคัดค้าน ชี้ ชาวบ้านไม่มีอำนาจฟ้อง อ้างไม่ได้มีส่วนทำให้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาด เตรียมเดินหน้าช่วยเหลือชาวประมงใน 19 จังหวัดที่พบการระบาด ยื่นฟ้องคดีเพิ่ม
วันนี้ (4 พ.ย. 67) ตัวแทนชาวบ้าน จ.สมุทรสงคราม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เดินทางมาที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อเข้ารับฟังการไต่สวนว่าจะรับฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่ หลังจากตัวแทนชาวบ้านนำโดย ปัญญา โตกทอง กับพวกรวม 10 คน ฟ้อง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด มหาชน หรือ (CPF) จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 9 คน ด้วยข้อกล่าวหา การละเมิดสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ศาลได้เลื่อนนัดไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 21, 24 และ 31 มกราคม 2568 เนื่องจากจำเลยยื่นคัดค้าน
จรุงศักดิ์ ชะโกฏิ ประธานคณะทำงานคดีขอความช่วยเหลือกรณีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปลาหมอคางดำ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยกับ The Active ถึงประเด็น ที่จำเลยยื่นคัดค้าน คือ จำเลยอ้างชาวบ้านไม่มีอำนาจฟ้อง, จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนทำให้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาด และ ระบุว่า ชาวบ้านสามารถฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ ด้วยเหตุที่ว่าบางคนไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมง ซึ่งในประเด็นนี้ทนายยืนยันว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ทำอาชีพประมงพื้นบ้าน และมีสิทธิที่จะฟ้องร้องในคดีนี้
ขณะที่การดำเนินคดีแบบกลุ่มกรณีปลาหมอคางดำในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม เป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการ ขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยง ประมงพื้นบ้าน และจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติ และขอให้บริษัทเอกชนแก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับสู่สภาพเดิม ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ตามหลัก “ผู้ก่อ คือ ผู้จ่าย”
ปัญญา โตกทอง ตัวแทนผู้ร้อง บอกว่า ไม่รู้สึกกังวลใจเพราะจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏและจากที่สื่อมวลชนได้รายงาน เชื่อว่า ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ส่วนกรณีที่ทางหน่วยงานรัฐพยายามเข้าไปแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้น ปลาหมอคางดำยังมีจำนวนมากเช่นเดิม เพราะหากปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำไม่หมด ในบ่อของชาวบ้านก็ไม่มีวันหมด เพราะจุดเริ่มต้นมาจากในคลอง จากลำน้ำสาธารณะ ส่วนกรณีประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ทาง จ.สมุทรสงคราม ยังไม่ดำเนินการอะไร การเยียวยาก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น
สำหรับค่าสินไหมทดแทน ที่กลุ่มประมงฟ้องแพ่งครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มที่ 1 ประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจํานวนพื้นที่ที่เพาะเลี้ยงในอัตรา ไร่ละ 10,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560 – 2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ์การใช้ ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํามีจํานวนสมาชิกกว่า1,000 ราย มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ํารวมกันกว่า 27,000 ไร่ ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 1,982,000,000 บาท
- กลุ่มที่ 2 ประมงพื้นบ้าน เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ ตามจํานวนวันในอัตราวันละ 500 บาท (ปีละ 182,500 บาท) เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560 – 2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านมีจํานวนสมาชิกกว่า 380 ราย ค่าสินไหมทดแทนที่ เรียกร้องเป็นเงินกว่า 19,000,000 บาท
รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ําและกลุ่มประมงพื้นบ้านในเขต จ.สมุทรสงคราม เรียกร้องเป็นเงินกว่า 2,486,450,000 บาท
ฟ้องศาลปกครอง เอาผิด 18 เจ้าหน้าที่ – หน่วยงานรัฐ แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ
วิเชียร ชุบไธวง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า นอกจากคดีแพ่ง ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ 54 คน ยังมอบอำนาจให้สภาทนายความ ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ 18 หน่วยงาน ต่อศาลปกครองกลาง ฐานความผิดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย
- กรมประมง
- อธิบดีกรมประมง
- คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ
- คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความ ปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- อธิบดีกรม ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
- คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณะแห่งชาติ
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- กระทรวงมหาดไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- กระทรวงการคลัง
พร้อมทั้งเรียกร้องให้เร่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อนำเงินฉุกเฉินเยียวยาต่อผู้ฟ้องตามเวลาที่ศาลกำหนด นอกจากนี้ให้ผู้ถูกฟ้องติดตามเงิน จาก CPF ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าความเสียหาย ซึ่งคดีนี้เป็นการฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2560, รัฐธรรมนูญ 2550, รัฐธรรมนูญ 2549, พ.ร.ก.ประมง 2558. พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535, พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2558 และ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550