‘ภัยการเงิน-แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ แชมป์เรื่องร้องเรียน ปี 67 ทำเหยื่อสูญเงินเฉียดร้อยล้าน

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ เผยสารพัดกลเม็ดมิจฉาชีพ หลอกเยื่อ สะท้อนปัญหายุคดิจิทัล จี้ รัฐออกกฎหมายปกป้องสิทธิประชาชน ดึงค่ายมือถือ ธนาคาร ร่วมรับผิดชอบหากเกิดความเสียหาย

วันนี้ (7 ม.ค. 68) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2567 โดยได้รับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2567 จำนวน 1,361 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

ทั้งนี้หากคิดตามมูลค่าความเสียหายแล้ว ภัยการเงิน ถือเป็นต้นเหตุที่สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค มากเป็นอันดับ 1 ของปี 2567 มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 70 ล้านบาท นี่เป็นข้อมูลจากฐานระบบของฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งบันทึกสถิติการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย ประกอบด้วย

  1. ภัยทางการเงินและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (เสียหายกว่า 70 ล้านบาท)

  2. อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย (ความเสียหายกว่า 66 ล้านบาท)

  3. สินค้าและบริการทั่วไป (เสียหายกว่า 57 ล้านบาท)

  4. สื่อโทรคมนาคม  (เสียหายกว่า 20 ล้านบาท)

  5. บริการขนส่งและยานพาหนะ อาหาร ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ บริการสุขภาพ พลังงานและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ (เสียหายตั้งแต่หลักหมื่น-แสนบาท)
ปี 2567 “ภัยทางการเงิน” ถูกร้องเรียนและสร้างความเสียหายสูงที่สุดกว่า 100 ล้านบาท

‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ฆ่าไม่ตาย! ผู้เสียหายหมดตัว

ตลอดปี 2567 พบว่า แก๊งมิจฉาชีพใช้สารพัดกลเม็ดเพื่อล่อลวง ขู่กรรโชก ทำให้เหยื่อตกใจและติดกับดัก เช่น ปลอมตัวเป็นตำรวจด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ภาพขยับปากที่เรียกว่า “Deepfake” หรือ ที่ล้ำไปกว่านั้น คือการตั้งโปรแกรมควบคุมระยะไกล โดยส่งลิงก์ให้เหยื่อกดเพื่อดูดเงินจากบัญชีธนาคาร รวมไปถึงการยังสร้างเว็บไซต์ปลอมแอบอ้างเป็นตำรวจไซเบอร์ ทำให้ผู้เสียหายที่ต้องการดำเนินคดีหลงเชื่อ แต่สุดท้ายต้องสูญเงินซ้ำซ้อน

ธนัช ธรรมมิกสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า มีผู้เสียหายจำนวนมากที่เจอกับดัก ตำรวจปลอม โดยเป็นการสร้างเว็บไซต์หรือช่องทางร้องเรียนต่าง ๆ ที่มีทั้งรูปภาพ เนื้อหา และการตั้งชื่อที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเพจทางการของตำรวจ กรณีนี้เป็นการสะท้อนปัญหายุคดิจิทัล ที่ทางหน่วยงานรัฐและฝั่งผู้บริโภคเองควรมีการแจ้งเตือนเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและป้องกันไม่ให้ผู้อื่นตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเรื่องของ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ พูดถึง และตกเป็นข่าวมาโดยตลอด แต่จำนวนไม่ได้ลดลงเลย กลับยิ่งระบาดหนัก พร้อมด้วยกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่สร้างความเสียหายรุนแรงมากขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า ที่ผ่านมา ได้เสนอข้อเรียกร้องนี้ต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ตำรวจไซเบอร์ เพื่อขอให้หน่วยงานดังกล่าวทำงานแบบรวมศูนย์ มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างมาตรการกวาดล้างโจรออนไลน์ให้สิ้นซาก และไม่ปล่อยให้ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเองเหมือนในเวลานี้ 

ล่าสุด มีสัญญาณตอบรับที่ดี เมื่อรัฐบาลประกาศแก้กฎหมายปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เตรียมออก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์ และธนาคารต้องร่วมรับผิดชอบหากมีการเกิดความเสียหายกับประชาชน

โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 67 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ระบุว่า ขณะนี้อยู่ในขึ้นตอนเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง หากไม่พบว่าขัดต่อข้อกฎหมายอื่น ๆ จะส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและมีการบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศ ในเวลานี้ หลายประเทศได้ออกกฎหมายจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยการระบุ ให้ธนาคารและค่ายโทรศัพท์มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายด้วยเช่นกัน เช่น สิงค์โปร์, จีน, อินเดีย, สหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประชาชนและระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

แต่สำหรับไทยแล้วปัญหานี้ยังมีช่องโหว่ขนาดใหญ่ที่ยังไม่ถูกแก้ไข โดยเฉพาะการที่ค่ายมือถือไม่สามารถจัดการระบบการลงทะเบียนซิมการ์ดได้อย่างถูกต้อง กลายเป็นช่องว่างที่ทำให้มิจฉาชีพเข้ามากว้านซื้อซิมการ์ดหลายแสนซิม

แม้ว่าที่ผ่านมา กสทช. ออกคำสั่งปรับค่ายมือถือวันละ 1 ล้านบาท หากทางค่ายมือถือไม่สามารถจัดการระบบการลงทะเบียนซิมการ์ดให้ถูกต้องได้ใน 30 วัน นับจากเริ่มเข้าสู่กระบวนการ และคำสั่งนี้จะถูกประกาศใช้มาแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 65 แต่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของ กสทช. พบว่า ยังคงมีการลงทะเบียนซิมการ์ดผ่านตัวแทนจำหน่าย (ลูกตู้) หลายครั้ง และผู้ใช้บริการ 1 ราย ยังสามารถลงทะเบียนเปิดใช้ซิมการ์ดกับตัวแทนจำหน่ายได้มากกว่า 5 หมายเลข ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก สะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานรัฐที่มีบทบาทโดยตรงในการแก้ไขปัญหา กลับยังเป็นฝ่ายวิ่งไล่ตามปัญหามากกว่าจะป้องกันความเสียหายให้กับประชานแต่ต้นทาง

คงต้องจับตากันต่อไปว่า กฎหมายปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในรอบนี้ จะออกมาบังคับใช้และมีผลในทางปฏิบัติได้เท่าทันกับสถานการณ์หรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active