ประเภทข่าวออนไลน์จากประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ โดย ‘สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์’ สะท้อนพัฒนาการสื่อ ส่งสารสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ
วันนี้ (27 พ.ย. 67) สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ร่วมกับ พันธมิตร จัดโครงการประกวด “รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2567” (Digital News Excellence Awards 2024) เพื่อส่งเสริมสื่อมวลชนออนไลน์ที่มีความทุ่มเทในการทำงาน สร้างสรรค์ และพัฒนาวงการข่าวออนไลน์ ด้วยการผลิต “ข่าวดิจิทัลคุณภาพ” ตรงกับมาตรฐานวิชาวารสารศาสตร์ จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ
โดยการประกาศผล “รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2567” มีผลงานส่งเข้าประกวดจำนวนทั้งสิ้น 176 ผลงาน จาก 52 องค์กร แบ่งเป็น 6 ประเภทข่าว ประกอบด้วย
- ข่าวหรือสารคดีออนไลน์เชิงข่าวสืบสวนยอดเยี่ยม (Investigative News & News Feature) (จำนวน 22 ผลงาน)
- ข่าวออนไลน์จากประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ยอดเยี่ยม (News Development from Social Media Agenda) ซึ่งเป็นการพัฒนาข่าวจากวาระข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ (จำนวน 28 ผลงาน)
- ข่าวออนไลน์ส่งเสริมสังคมยอดเยี่ยม (Social Development News) (จำนวน 31 ผลงาน)
- ข่าวออนไลน์ที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอยอดเยี่ยม (Video Clip News) (จำนวน 27 ผลงาน)
- ข่าวออนไลน์ที่นำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิกยอดเยี่ยม (Infographic News) (จำนวน 37 ผลงาน)
- ภาพข่าวออนไลน์ยอดเยี่ยม (Photojournalist) (จำนวน 31 ผลงาน)
ขนมไทย…ถูกไปป้ะ ? The Active
คว้ารางวัลข่าวจากประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ยอดเยี่ยม
ประเภทข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวออนไลน์เชิงสืบสวนยอดเยี่ยม (Investigative News & News Feature) (จำนวน 22 ผลงาน)
- รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล : น้ำตาแห่งเมียนมา โดยบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (PPTV HD36)
- รางวัลชมเชย 2 รางวัล : Scam City นรกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาชญากรรมที่เข้าถึงคนไทยได้ทุกหลังคาเรือน โดย บริษัท เดอะ สแตนดาร์ด จำกัด และ ลอกคราบ ‘ไอโอ’ ชายแดนใต้ โดย บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2024/11/Screenshot-2024-11-27-185549-1024x696.jpg)
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2024/11/S__1663002-768x1024.jpg)
ประเภทข่าวออนไลน์จากประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ยอดเยี่ยม (News Development from Social Media Agenda)
- รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล : ขนมไทย…ถูกไปป้ะ ? โดย The Active องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส
- รางวัลชมเชย 2 รางวัล : เหยียดนมโรงเรียน ทำไม? พฤติกรรม ที่ตอกย้ำความไม่เท่าเทียม โดย บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด และ ลิงโลกเก่าในเมืองใหม่: ลิงลพบุรี ปัญหา ‘ลิงแก้แห’ ที่ควรแก้ได้ โดย บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด
ประเภทข่าวออนไลน์ส่งเสริมสังคมยอดเยี่ยม (Social Development News)
- รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล : ชุดผลงาน Spotlight เรื่อง ‘เด็กนอกสายตา’ โดย บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์
- รางวัลชมเชย 2 รางวัล : ราตรีสีนีออน กับกฎหมายสีเทา ๆ : เปิดโลก Sex Workers สู่ความหวังที่จะได้รับการคุ้มครอง โดย บริษัท วิธิตา กรุ๊ป จำกัด (The Matter) และ รีไซเคิลบนดิน-ความสูญสิ้นของสายน้ำ: ‘โรงงานรีไซเคิลคลองกิ่ว’ ความผิดแทบทุกตารางนิ้วที่กฎหมายกลายเป็นเศษกระดาษ โดย บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์
ประเภทข่าวออนไลน์ที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอยอดเยี่ยม (Video Clip News)
- รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล : Scam City นรกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาชญากรรมที่เข้าถึงคนไทยได้ทุกหลังคา โดย บริษัท เดอะ สแตนดาร์ด จำกัด
- รางวัลชมเชย 2 รางวัล : สารคดี “น้ำตาเมียนมา” โดย บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (PPTV HD36) และ สรุปให้ จุดเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่าง อิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ ที่มีมานับพันปี โดย บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (Spring News)
ประเภทข่าวออนไลน์ที่นำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิกยอดเยี่ยม (Infographic News)
- รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล : เมื่อฉันดื่มชาเย็น 10 แบรนด์ 30 แก้วจนกลายเป็น Data โดย บริษัท วิธิตา กรุ๊ป จำกัด (The Matter)
- รางวัลชมเชย 2 รางวัล : คู่มือก่อนตาย: เพราะความตายไม่ใช่เรื่อง ‘น่ากลัว’ แต่เป็นเรื่อง ‘น่าเตรียม’ โดย บริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ หรือสาววายจะครองโลก? จิกหมอนฟินจนตาพร่ากับ DATA ซีรีส์วายในรอบ 10 ปี โดย บริษัท วิธิตา กรุ๊ป จำกัด (The Matter)
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2024/11/Screenshot-2024-11-27-185500-1024x564.jpg)
ประเภทภาพข่าวออนไลน์ยอดเยี่ยม (Photo Journalist)
- รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล : โซ่ข้อกลาง โดย บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (PPTV HD36)
- รางวัลชมเชย 2 รางวัล : เอเลี่ยนคางดำ โดย บริษัท เดอะ สแตนดาร์ด จำกัด และ สุดเอื้อม โดย บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด (เดลินิวส์ออนไลน์)
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษ “ผู้ผลิตข่าวดิจิทัลรุ่นเยาว์ยอดเยี่ยม” (Young Digital News Providers Award) สนับสนุนโดย บริษัท ที.เอช.นิค จำกัด เป็นการต่อยอดจากโครงการประกวดและอบรมเชิงปฏิบัติการผู้ผลิตข่าวดิจิทัลรุ่นเยาว์ ที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาร่วมโครงการได้นำความรู้ ประสบการณ์ กลับไปพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานสกู๊ปข่าวออนไลน์ ซึ่งผลรางวัลมีดังนี้
รางวัลประเภทผู้ผลิตข่าวดิจิทัลรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567
- รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล : เดิมพันชีวิตติดพนันออนไลน์ โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
- รางวัลชมเชย 2 รางวัล : Carbon Credit ช่วยวิกฤตโลกเดือด เปลี่ยนต้นไม้เป็นรายได้! โดย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ “วิกฤตบุหรี่ไฟฟ้า: เยาวชนไทยกำลังเผชิญอะไร” โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัล ได้ให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ ผลงานโดยรวมในปีนี้โดย เห็นถึงพัฒนาการของสื่อมากขึ้น และมีความหลากหลายในการนำเสนอหลายชิ้น ขณะเดียวกันเนื้อหาที่ส่งออกไปสู่สังคมยังมีคุณภาพ และเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้สังคมได้อย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์
วงการสื่อไทย กับการปรับตัว ความท้าทาย อนาคตห้องข่าวดิจิทัล
ในงานยังมีเวทีเสวนา หัวข้อ “Thailand Digital Newsroom 2025” การปรับตัว อนาคตห้องข่าวดิจิทัล ความท้าทาย ก้าวต่อไปของวงการสื่อไทย ได้กล่าวถึงการเข้ามาของ AI กับการทำงานของสื่อมวลชน โดยมีผู้อำนวยการฝ่ายข่าว เหล่าบรรณาธิการบริหาร และนักวิจัย ร่วมวงสนทนาในครั้งนี้ด้วย
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2024/11/Screenshot-2024-11-27-185433-1024x668.jpg)
คณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหารด้านข่าวสืบสวน Thai PBS กล่าวว่า ได้เห็นพัฒนาการของ AI ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งในฐานะสื่อมวลชน อาจไม่ได้ตั้งคำถามเช่นเดียวกับเจ้าของกิจการว่าจะมีผลกระทบต่อการจ้างงานของแรงงานหรือไม่ แต่คำถามของ คณิศ แตกต่างออกไปคือ จะวางแผนยืมมือ AI มาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์กับการทำข่าวที่มีคุณภาพ
เช่นเดียวกับ ฤทธิกร มหาคชาภรณ์ บรรณาธิการบริหาร เห็นตรงกันว่าจะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมว่าจะเรียนรู้และใช้ AI อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ
ขณะที่ ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว THE STANDARD พูดถึงสถานการณ์ของการนำเสนอข่าวสารในยุคที่สังคมอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับข่าวสารที่สะท้อนปัญหา อย่างไรก็ตามยังมีคนคาดหวังในนำเสนอประเด็นที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมไปในทางที่ดีด้วย จึงเป็นโจทย์ของสื่อมวลชนที่ต้องนำสิ่งเหล่านี้มานำเสนอให้ประชาชนรับรู้ในวงกว้าง ควบคู่ไปกับการหาวิธีนำเสนอให้เข้าถึงคนได้อย่างถูกต้อง
ด้าน รองศาสตราจารย์ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ปี 2568 อาจเป็นปีที่ไม่น่าสดใสของวงการสื่อ แต่เชื่อว่าพื้นที่สื่อออนไลน์ยังเป็นโอกาสที่สำคัญในการทำงาน และปัจจุบันคนต้องการสื่อที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
ขณะเดียวกัน สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact (ประเทศไทย) เชื่อว่า ท่ามกลางวิกฤตก็อาจจะมีโอกาส หากมีความคิดสร้างสรรค์และทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล อย่างไรก็ตามยังมีองค์กรที่ต้องการสนับสนุนให้สื่อทำงานที่มีคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์ขององค์กรสื่อที่ต้องออกแบบหน่วยงานให้รองรับทั้งการผลิตเพื่อธุรกิจ รวมถึงการรองรับหน่วยงานที่ยังทำหน้าที่สื่อสารมวลชนได้อย่างมีอิสระ