Policy Forum ถกปัญหายุคดิจิทัล นักวิชาการ – ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ กระทบต่อสุขภาพจิต ย้ำแก้ด้วยนโยบายสาธารณะ ควบคุมเนื้อหาจากบิ๊กเทค สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นมิตรต่อสุขภาพจิต
วันนี้ (6 ก.ย. 67) ไทยพีบีเอส จัดเวที Policy Forum ครั้งที่ 18 : “ทวงคืนสมาธิ” แก้ปมคุกคามสุขภาวะทางจิตยุคดิจิทัล โดย ผศ. ปนันดา จันทร์สุกรี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผย สถิติการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลของคนไทย เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า 76% ไม่เคยหยุดใช้โซเชียลมีเดียแม้แต่วันเดียว ขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และสุขภาวะทางจิตอื่น ๆ มีแนวโน้มพบเห็นในสังคมมากขึ้น
จากการ สำรวจสุขภาวะดิจิทัล 2567 พบข้อมูลน่าห่วง ว่า จากกลุ่มตัวอย่างเกือบ 5,000 คน คนส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อทำงาน/เรียน 5-6 ชั่วโมงต่อวัน และเพื่อความบันเทิง 3-4 ชั่วโมงต่อวัน เรียกว่า แทบทั้งวันจะอยู่ติดกับสมาร์ทโฟนตลอดเวลา
อีกทั้งยังพบการใช้สมาร์ทโฟนขณะกินข้าว หรือพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว คิดเป็น 4 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่าง และ 62% ไม่จำกัดเวลาการใช้งาน
นอกจากนี้ ในแต่ละช่วงวัยยังมีพฤติกรรมที่ดูผิวเผินเหมือนเป็นปัญหาปัจเจกบุคคลล แต่ที่จริงแล้วกลับเป็น “โรคแห่งยุคสมัย” ที่ถือว่าเป็นปัญหาระดับสังคมที่ต้องแก้ด้วยนโยบาย
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาสังคม ที่ต้องแก้ทั้งระบบ โดยจากหนังสือ Stolen Focus ระบุตัวการ 12 ประการ ที่สมาธิถูกขโมยไป ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
- ความเปลี่ยนแปลงในสมองและจิตใจ การที่สนใจเร็ว จดจ่อนาน ๆ ไม่ได้ อ่านหนังสือทั้งเล่มไม่จบ ความลุ่มลึกหายไป แสงสีฟ้าทำให้มีปัญหาเรื่องการนอน
- มีตัวการภายนอกที่นอกจากแอปในโทรศัพท์ คือระบบทุนนิยมที่เป็นตัวเปลี่ยนพฤติกรรม
- ปัจจัยทางสังคม อาหาร สิ่งแวดล้อม และโรคสมาธิสั้นในเด็ก การออกไปเล่นอกบ้านถูกมองว่าอันตราย จึงใช้โทรทัศน์, โทรศัพท์เลี้ยงลูก ซึ่งผู้เขียนย้ำว่า นี่คือการขโมย ความจดจ่อจากเราไป ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้นผู้ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบ จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่ไปไกลถึงภาครัฐ และนโยบายจะช่วยอย่างไร
ผศ.ธีรพัฒน์ ยังกล่าวถึง “ลัทธิคิดบวกใจเหี้ยม” คือ การคิดบวกแต่ส่งผลร้ายต่อตัวเราเอง เช่น หากไม่สามารถควบคุมการใช้โซเชียล มีเดียได้นั้น ผิดที่เราเอง ทำให้เราอยู่ในจุดที่ “เราทำอะไรไม่ได้ แปลว่าเราอ่อนแอ“ ซึ่งในความจริง การที่จัดการตัวเองได้ก็ดี แต่การทำได้แบบนั้น ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ และต้องยอมรับว่าสังคมเปลี่ยนไปจากเมื่อ 10 ปีก่อน อยู่ในจุดที่จัดการตัวเองได้ยากยิ่งขึ้น กลายเป็นวัฒนธรรมโทษตัวเอง แต่จริงแล้วมาจากอย่างอื่น นั่นคือระบบสังคม ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเกี่ยวกับคนหลายคน
“การบอกให้เราคิดบวก แต่สังคมไม่เอื้อ มันเหี้ยม ขนาดไหน”
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกรมสุขภาพจิต บอกว่า โลกปัจจุบันอยู่ยากกว่าสมัยก่อน ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือมีความพยายามจากระบบเศรษฐกิจ มีผู้เล่น หรือ อุปสงค์เยอะมาก แต่อุปทาน หรือ ประชากรโลกมีจำกัด ระบบเศรษฐกิจนี้ ต้องแย่งความสนใจของมนุษนย์ ด้วยการสร้างคอนเทนต์ บวกกับอัลกอลิทึ่ม ดึงให้เราอยู่ในจุดนั้น ขังคุณไว้อยู่ในฟองสบู่ของข้อมูล ชอบอะไรก็เจอแบบนั้น ชอบแมว ก็ขึ้นแมวมาให้ดู ฟีดคอนเทนต์แบบนี้มาเรื่อย ๆ จึงยากที่จะโทษเด็กว่าชอบใช้โซเชียลฯ ต้องอย่าลืมว่าเด็กกำลังถูกขึงไว้
อิทธิพลบริษัทบิ๊กเทค ยากควบคุม
ขณะที่ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone กล่าวว่า วิธีคิดของบริษัทโซเซียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก ยิ่งมีจำนวนนาทีที่ผู้ใช้งานแอปมาก ๆ ถ้าผู้ใช้อยู่ในแอปได้นาน ก็ทำเงินได้เยอะ หน้าที่ของเขา คือทำยังไงให้คนใช้แอปฯ ให้นานที่สุด จึงยิงแจ้งเตือนให้คนกลับมา และเลือกฟีดข่าวให้ตรงใจผู้ใช้
อดีตพนักงานบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ เคยให้สัมภาษณ์ว่า การดักฟังเสียงพูดคุยของผู้ใช้งานอาจไม่จำเป็น เพราะเขารู้อยู่แล้ว ว่า เราชอบอะไร จากอัลกอลิทึ่ม ที่เก็บข้อมูลว่าเราเข้าไปเสริชอะไร ทุกอย่างที่โพสต์ลงโซเชียล รูปคน รูปอาหาร AI รู้ว่านี่คืออาหารอะไร คนนี้ไปกับใครบ่อย เอาข้อมูลมาวิเคราะห์ ซึ่งในมุมของการยิงโฆษณาจึงมีประสิทธิภาพ และเจาะจง กระตุ้นการซื้อได้ตรงจุด แต่ทำให้เกิดผลกระทบตามมา
อิสริยะ บอกด้วยว่า อิทธิพลของบริษัทเหล่านี้ หรือที่เรียกว่า “บิ๊กเทค” รวมกัน 5-10 บริษัท มีบทบาทในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ด้วย เพราะเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ยุโรปมีการควบคุมเยอะกว่า ถ้าจีนก็ควบคุมแยกไปเป็นของตัวเอง จึงบอกได้ว่า ตอนนี้มีความพยายามควบคุมบิ๊กเทคมากขึ้น ทั้งด้านการแข่งขันทางการค้า ที่ผ่านมา บิ๊กเทคอย่างแอปสโตร์ของแอปเปิ้ล จะได้ส่วนแบ่งจากแอปที่ถูกโหลด 30% ในภาพใหญ่เริ่มมีกรอบมาคุม ขณะที่ด้านสุขภาวะ เริ่มมีบางรัฐเริ่มใช้อัลกอลิทึ่ม ควบคุมเนื้อหา กับ เด็ก
“มันใหญ่เกินกว่าเราจะจัดการ ในไทยก็เริ่มมีองค์กรอย่าง ETDA ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ ก็ยังไม่เร็วเท่า แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี กฎหมายนี้คล้ายยุโรป ที่มีการควบคุม แต่ไทยอยู่ในระดับของการจดแจ้ง”
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone ยังเสนอว่า ควรมีระบบมาควบคุมคอนเทนต์ และมีกฎหมายมาควบคุมบิ๊กเทค แต่ในระหว่างนี้ ก็ควรมีเครืองมือ มาใช้ก่อน เช่น มีฟีเจอร์ให้พ่อแม่เข้าไปคุมการใช้โซเซียลฯ ของเด็ก เช่น ยูทูป ที่แยกแอปฯ เป็น ยูทูปคิดส์ หรือ ควรมีมีซอฟแวร์แชททำงานโดยเฉพาะ ไม่ปนกับแอปฯ คุยทั่วไป จึงมองว่าในระยะสั้น เครื่องมือเหล่านี้ช่วยทวงคืนสมาธิได้ ระดับหนึ่ง
สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นมิตรต่อสุขภาพจิต
นอกจากนั้น เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า งานที่เยอะมากขึ้น และเร่งด่วนมากขึ้นกว่าเดิม จากกรณีลดคนทำงาน และการแข่งขัน ทำให้คนทำงานต้องแบกรับมากขึ้น จึงต้องมีทักษะการทำงานมากกว่า 1 งานในเวลา เดียวกัน แต่ไม่มีใครทำอะไร หลาย ๆ พร้อมกันได้ดี ทำให้สูญเสียผลผลิตไป 40% เพราะการกระจายพลังงานออกไป 2-3 งาน ทำให้ประสิทธิภาพต่ำลงทุกงาน
หากทำให้เสร็จงานหนึ่ง แล้วไปทำอีกงาน แต่ก็ทำให้ผลผลิตต่ำลง เวลาสลับงาน สมองจะทำงานหนัก เมื่อทำไปนาน ๆ ประสิทธิภาพจะต่ำลง บางทีประชุมไปด้วย ทำงานอื่นไปด้วย สิ่งที่ตามมาคือถอนตัวออกจากงานไม่ได้ จนกลายเป็นนิสัย และส่งผลต่อสุขภาพจิต ส่งผลต่อผลผลิตในองค์กร และตัวบุคคล วนลูปเช่นนี้ ไปเรื่อย ๆ โดยผลสำรวจของ สถานบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขจิต หรือ TIMS พบว่าคนที่ทำงานนอกเวลางาน ทำให้สุขภาวะทางจิตต่ำลง ชัดเจน
“บริษัทต้องส่งเสริม สุขภาวะ ของคนทำงาน สร้างความดึงดูดองค์กร ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต แนวปฏิบัติตรงนี้ได้ประโยชน์ทั้งคน ทั้งองค์กร รักษาคนดีดีไว้ได้ด้วย”
เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช
เจนนิเฟอร์ ยังเสนอ 2 ประเด็นที่จะสร้างสุขภาวะทางจิตในที่ทำงาน ประกอบด้วย
- องค์กรควรเคารพเวลาส่วนตัวของคนทำงานมากขึ้น ที่ผ่านมามักพูดถึงการเคารพเพื่อนร่วมงาน แต่ไม่ได้พูดถึงการเคารพเรื่องเวลา โดยผู้บริหารไม่สามารถติดต่อพนักงานหลังเวลาที่ตกลงกัน
- การพักระหว่างวัน การเบรก ระยะสั้น ๆ คนทำงานจะมีความเพลินในงานที่ยาวยิ่งขึ้น แต่อย่าไปกำหนดว่าทุกสิบโมงต้องพัก พนักงานจะรู้สึกว่าโดนควบคุมอยู่ พนักงานควรมีอิสระว่าเขาจะเบรกช่วงไหนบ้าง เช่น ใน 1 วันพักได้ 3 ครั้งครั้งละ 15 นาที หรือจะรวมเป็น 1 ครั้ง 45 นาทีก็ได้
“ฝากถึงองค์กร 1.การสร้างวัฒนธรรม 2. เครืองมือ ต้องมีพร้อม และ 3 ต้นแบบคือหัวหน้า คือ3 องค์ประกอบให้พนักงานทำงานในเวลางาน กำหนดเป็นนโยบายองค์กร เพราะการเข้าใจคนในองค์กร จะสามารถตั้งวัฒนธรรมที่ตรงกับคนในองค์กรได้”
เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช
จากปัญหาสุขภาวะ สู่ นโยบายสุขภาพจิต
ถึงตรงนี้ โฆษกกรมสุขภาพจิต เห็นว่า รัฐเองพยายามเชื่อมต่อกับ เอกชน ภาคประชาชน มากขึ้น เกิดความร่วมมือ และเสนอนโยบายเข้าไปทางภาครัฐ ยกตัวอย่าง การแก้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่เครือข่ายฯ มีการเสนอความคิดเห็นเข้าไป รวมถึงงานต่าง ๆ เช่น Hack ใจ ด้านสุขภาพจิต ก็ทำต่อเนื่อง และเกิดการเชื่อมต่อกับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ
“พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่จะปรับเป็น สุขภาพจิตและยาเสพติด เกิดการปรับโครงสร้างกรมสุขภาพจิต มีการตั้งกองทุน ตรงนี้เห็นความพยายาม ดึงทรัพยากรมาเพื่อทำงานด้านสุขภาพจิตมากขึ้น”
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์
นพ.วรตม์ บอกอีกว่า เมื่อก่อนพูดถึงโรงพยาบาลจิตเวช แต่ตอนนี้เราพูดถึงการสร้างก่อนซ่อมสุขภาพจิต ช่วยลดความสูญเสียของคนทั้งชาติไปได้ มีเงินจาก สปสช. ที่จะดูแลก่อนป่วย ร่วมมือกับองค์กร มหาวิทยาลัย จึงจะไม่สูญเสียคนที่ควรจะขับเคลื่อนประเทศ ส่วนการควบคุมเทคโนโลยี ต้องสร้างสมดุลให้ชัด มีการทำฟังชั่นก์บางอย่างให้ พ่อแม่ ควบคุม การใช้งานแพลตฟอร์ม
สอดคล้องกับ ผศ.ธีรพัฒน์ บอกว่า โจทย์วันนี้คือการทวงคืนสมาธิ ปัจจัยที่ก่อเกิดปัญหาดังกล่าวคือเรื่อง เงิน งาน และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องส่วนรวม จึงต้องคุยไปถึงเรื่องนโนยบาย ทั้งกรณีโซเชียล และนโยบายสุขภาพจิตในที่ทำงาน โดยมีหลายตัวอย่างนโยบายสุขภาพจิตในต่างประเทศ
- สิงคโปร์ แถลงว่าจะสร้างแนวทางตอบโต้การใช้โทรศัพท์โซเชียลมีเดีย อย่างจริงจัง เป็นความพยายามจากเจตจำนงค์ทางการเมือง ของนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าา “สุขภาพจิตเป็นวาระชาติ” ต้องจำกัดการใช้มือถือ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะตามดูเด็กที่เกิดหลังปี 2009 พบว่าโซเชียลมีผลกระทบจริงทั้งต่ออารมณ์ ความสัมพันธ์ จึงต้องจำกัดเรื่อง การอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
- อังกฤษ และยุโรป เน้นการกำกับ การออกแบบความเหมาะสมของอายุผู้ใช้งาน โดยกำหนดให้บริษัทบิ๊กเทค ต้องคิดถึงผลกระทบต่อเด็ก การพิสูจน์อายุผู้ใช้งาน การควบคุมเนื้อหา แนวนโยบายแบบนี้มาอยู่ในหลายประเทศ ที่พบว่าการเติบโบของโซเชียล สัมพันธ์ และส่งผลต่อสุขภาพจิตให้แย่ลง
- ออสเตรเลีย ลูกจ้างสามารถปฏิเสธ การติดต่อของเจ้านายที่ทำงาน ได้ตามกฎหมาย แถมฟ้องร้องได้ มีนโยบายห้ามคุยงานในช่วงพักถือเป็นความผิด เป็นจุดเริ่มต้นของการทวงคืน สมาธิ และความจดจ่อของเรา
สำหรับประเทศไทย มี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งระบุว่า เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงาน ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธการติดต่อจากนายจ้าง คำถามคือมีสิทธิปฏิเสธ ไม่เท่ากับ การเพิกเฉย ทั้งนี้จากการติดตามพบว่าในความเป็นจริงลูกจ้างปฏิเสธนายจ้างได้น้อยมาก
“การทวงคืนสมาธิ ต้องทำในหลายระดับ ไม่ใช่แค่ความยิมยอมส่วนบุคคล แต่ต้องพูดถึงกลไกสังคม ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ไปไกลถึง บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งต้องดูแลผู้ใช้งานด้วย สุดท้ายรัฐต้องมีนโยบายสาธารณะ จึงจะสามารถทวงคืนสุขภาพจิตเรามาได้”
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล