กสม.ชี้ ‘คดีชุดมลายู’ จำกัดสิทธิ เกินควรแก่เหตุ

พบหลายกรณีข้อร้องเรียน สะท้อนภาพฝ่ายความมั่นคง ปิดกั้นเสรีภาพนักกิจกรรม คนรุ่นใหม่ชายแดนใต้ ชงข้อเสนอ เยียวยา ปกป้องสิทธิ สร้างบรรยากาศ เอื้อเปิดพื้นที่พูดคุย พร้อมประณามเหตุระเบิด ครู ตชด. จี้รัฐเพิ่มมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน

วันนี้ (17 ม.ค. 68) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 2/2568 โดยหนึ่งในวาระสำคัญ คือ การขอให้ กสม. ตรวจสอบกรณีนักกิจกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกฟ้องปิดปาก

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2567 จากนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทำกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดงานเสวนาวิชาการ, กิจกรรมชุมนุมเพื่อแสดงออกทางอัตลักษณ์, การทำสื่อทางเลือกเพื่อนำเสนอมุมมองของภาคประชาชน, การเข้าร่วมเจรจากรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำการขุดศพเพื่อชันสูตรพลิกศพ และการเปิดรับบริจาคระดมเงินช่วยเหลือญาติของผู้เสียชีวิต ซึ่งได้ถูกดำเนินคดีโดยหน่วยงานของรัฐฝ่ายความมั่นคง (ผู้ถูกร้อง) เพื่อบีบพื้นที่การมีส่วนร่วมให้แคบลง และปิดกั้นการแสดงออกต่อสาธารณะ รวมถึงปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันมีลักษณะเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuit Against Public Participation: SLAPPs) หรือ ฟ้องปิดปาก จึงขอให้ กสม. ตรวจสอบ


ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ฟ้องปิดปาก 9 นักกิจกรรม ‘คดีชุดมลายู’ จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินควรแก่เหตุ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง หน่วยงานของรัฐฝ่ายความมั่นคง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานภาคประชาสังคม เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ประกอบหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นต้องพิจารณาเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะเป็นการฟ้องปิดปาก (SLAPPs) เห็นว่า การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งสำคัญในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และก่อให้เกิดผลดีโดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาสาธารณะ เช่น การตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ ฝ่ายตุลาการ การดำเนินคดีเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะและบีบบังคับให้ยุติการแสดงข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นในกิจการสาธารณะ ย่อมเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกจนเกินสมควรแก่เหตุ

กรณีตามคำร้อง กสม. เห็นว่า มีการดำเนินคดีเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 2 กรณี ได้แก่

  1. การดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมกลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวมุสลิม ในกิจกรรมการชุมนุมเนื่องในวันเฉลิมฉลอง ฮารีรายอ บริเวณหาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่แสดงความเห็นต่อสาธารณะ มีการขออนุญาตจัดงานและไม่ปรากฏว่าการจัดกิจกรรมมีการใช้กำลังหรืออาวุธ ยุยงปลุกปั่น หรือมีลักษณะเป็นการปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด แต่หน่วยงานของรัฐกลับดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมจำนวน 9 คน ที่ร่วมการชุมนุม ซึ่งต่อมาไม่พบว่า มีการกระทำที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระในการต่อสู้คดีมากกว่า 2 ปี

  2. การดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาในการกำหนดอนาคตตนเอง “สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองกับสันติภาพปาตานี” จัดโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการเมืองมานำเสนอมุมมองและผลักดันแนวทางสันติภาพในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำที่เป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกเช่นกัน
กิจกรรมมลายูรายา ปี 2567 ณ หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

จึงเห็นว่า การดำเนินคดีกับนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 2 กรณีนี้ เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือยับยั้งการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่ 2 การดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพว่า เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานให้มีการชันสูตรพลิกศพ นอกจากนี้ ถ้าศพนั้นฝังไว้แล้ว ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพจัดให้ขุดศพเพื่อตรวจดู แต่ตามหลักศาสนาอิสลาม การชันสูตรพลิกศพมุสลิมที่เสียชีวิตแบบปกติย่อมกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อปี 2565 นักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าร่วมเป็นคนกลางเพื่อเจรจาระหว่างญาติของผู้เสียชีวิตกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีที่มีการพบศพนาย ย. โดยพนักงานสอบสวนได้อนุญาตให้ญาตินำศพผู้เสียชีวิตไปประกอบพิธีทางศาสนาแล้ว แต่ต่อมาเห็นว่าดีเอ็นเอของร่างผู้เสียชีวิตกับนาย ย. ไม่ตรงกัน จึงมีความจำเป็นต้องขอขุดศพเพื่อชันสูตรพลิกศพ แต่ญาติและประชาชนไม่ยินยอม พนักงานสอบสวนจึงได้กล่าวหาและดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องในข้อหายุยงปลุกปั่น และขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ส่วนนักกิจกรรมที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การขอรับศพก็ถูกกล่าวหาและดำเนินคดีในลักษณะเดียวกัน

กสม. เห็นว่ากรณีนี้เมื่อพนักงานสอบสวนได้มอบศพนาย ย. ให้แก่ญาติ ไปประกอบพิธีทางศาสนาแล้ว การที่เจ้าหน้าที่อ้างเหตุจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบหรือพิสูจน์อัตลักษณ์ของศพตามกฎหมายสมควรจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดตั้งแต่ต้นก่อนจะมอบศพให้แก่ญาติ เพราะเมื่อมีการประกอบพิธีทางศาสนาแล้ว การขุดศพย่อมกระทบต่อความเชื่อทางศาสนาของญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องคำนึงถึงการให้เกียรติและคุ้มครองคุณค่าอันสูงส่งของความเป็นมนุษย์ที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดจนแม้กระทั่งเสียชีวิตลงกลายเป็นศพ ประกอบกับเมื่อการตรวจสอบพบว่าศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำพิพากษา ยกฟ้องนักกิจกรรมในคดีดังกล่าวเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ จึงยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคงมุ่งหมายดำเนินคดีเพื่อหวังผลให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยุติบทบาทในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่ 3 การดำเนินคดีต่อนักกิจกรรม (กลุ่มชมรมพ่อบ้านใจกล้า Butler’s Club ) ที่จัดกิจกรรมเรี่ยไรเงินเพื่อรับบริจาคช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนสืบสวนข้อเท็จจริง ในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 โดยกล่าวอ้างความเชื่อเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตในลักษณะ “ชะฮีด” ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการฟัตวา (ชี้แจง) หลักการศาสนาอิสลาม เรื่องชะฮีด ของสำนักจุฬาราชมนตรีที่ระบุว่าการเสียชีวิตลักษณะนี้ไม่ได้หมายความเฉพาะการเสียชีวิตจากสงครามศาสนาตามที่หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงมีความเข้าใจเท่านั้น การดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนต่อนักกิจกรรมจึงเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับหลักการศาสนา อันส่งผลให้เกิดการปิดกั้นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะของนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

ชงข้อเสนอฝ่ายความมั่นคง หยุดปิดกั้นพื้นที่สาธารณะ-เสรีภาพ ประชาชนชายแดนใต้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการสรุปได้ ดังนี้

  1. ให้ตำรวจภูธรภาค 9 สำนักงานอัยการภาค 9 และกรมสอบสวนคดีพิเศษ นำรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินคดีในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมทั้งตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและการติดต่อสื่อสาร

  2. ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ตำรวจภูธรภาค 9 และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน แนวทางสันติวิธี แนวคิดด้านพหุวัฒนธรรม และการแสดงอัตลักษณ์ของชาวมุสลิม รวมถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

  3. ให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และตำรวจภูธรภาค 9 อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะเป็นสถานที่ชุมนุม รวมถึงกำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ว่าต้องไม่ขัดขวางหรือรบกวนการชุมนุมที่เป็นไปอย่างสงบโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร นอกจากนี้ให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ใช้แนวทางสันติวิธีในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้วิธีการชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นที่ถูกวิจารณ์หรือกล่าวหาเป็นวิธีการแรก และใช้มาตรการในการดำเนินคดีเป็นวิธีการสุดท้าย ตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562

  4. ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังเหตุการณ์ ประสานงานเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน อำนวยความสะดวกและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกได้อย่างสันติในที่สาธารณะและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ และติดตามให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกดำเนินคดี รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม

  5. ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเร่งลดจำนวนพื้นที่ความมั่นคงที่ไม่ปรากฏเหตุการณ์ความรุนแรง และควรใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบังคับแทนกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และให้กำหนดนโยบายระดับชาติในการกำกับการบริหารงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ กอ.รมน.ภาค 4 สน. โดยเน้นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุย และการปรึกษาสาธารณะของประชาชน

  6. ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพิจารณาเร่งรัดการตรากฎหมาย ระเบียบ หรือมาตรการเพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Anti-SLAPP Law) เพื่อใช้เป็นมาตรการหรือกลไกในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ขณะที่ วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังระบุถึง กรณีคนร้ายลอบวางระเบิดบริเวณถนนสายศรีสาคร–ลูโบ๊ะยือริง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส โดยมีเป้าหมายคือครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) บ้านตืองอช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 13 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 จำนวน 2 ราย ได้แก่ พ.ต.ท.สุวิทย์  ช่วยเทวฤทธิ์ อายุ 56 ปี ผู้เป็นบิดา และ ด.ต.โดม ช่วยเทวฤทธิ์ อายุ 35 ปี ผู้เป็นบุตร ซึ่งหลังเกิดเหตุระเบิดคนร้ายได้ยิงซ้ำจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 ที่ผ่านมานั้น กสม. ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังครอบครัวและญาติมิตรของครู ตชด. พ่อ-ลูกผู้เสียชีวิต และขอประณามการกระทำอันโหดร้ายของผู้ก่อเหตุที่มุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต เหตุการณ์นี้ไม่เพียงนำมาซึ่งการสูญเสียบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญในพื้นที่ แต่ยังทำให้เด็กนักเรียนในโรงเรียน ตชด. ต้องได้รับผลกระทบทางการศึกษาด้วย

เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน กสม. ขอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสืบสวนสอบสวนและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว พร้อมเพิ่มมาตรการคุ้มครอง ความปลอดภัยให้แก่ประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเด็กนักเรียนในพื้นที่ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของครู ตชด. ผู้เสียชีวิตอย่างเหมาะสม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active