ยันไม่หนักใจ เดินหน้าเตรียมพยาน หลักฐานสู้คดี ตั้งข้อสังเกตหน่วยงานความมั่นคง ฟ้องคดียุยง ปลุกปั่น ไม่เป็นธรรม หวั่นคนรุ่นใหม่ชายแดนใต้ ไร้ความเชื่อมั่น หันสู่ความรุนแรง ทั้งที่พยายามหาทางไปสู่การแสดงออกผ่านกิจกรรมสันติวิธี
วันนี้ (23 ม.ค. 68) ที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี นักกิจกรรมชุดมลายู 9 คน ซึ่งถูกกอทัพภาคที่ 4 ฟ้องในคดียุยงปลุกปั่น อั้งยี่ ซ่องโจร จากการจัดงาน Melayu Raya การรวมตัวแต่งกายชุดมลายู ที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อปี 2565 ซึ่งอัยการจังหวัดปัตตานี นัดส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี โดยมีครอบครัว กลุ่มมวลชนมาร่วมให้กำลังใจ

ทั้งนี้ภายหลังการเข้าพบพนักงานอัยการ อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุว่า วันนี้อัยการได้ส่งฟ้องศาล ผู้ต้องหา 9 คน อยู่ในฐานะจำเลย อยู่ในอำนาจของศาล โดยศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง หลัก ๆ แล้วมีข้อหา ร่วมกันยุยง ปลุกปั่น ส่งเสริมให้มีการก่อความไม่สงบ อั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งจำเลยทั้ง 9 คนให้การปฏิเสธ ทั้งนี้จำเลยทั้ง 9 คน มีหลักทรัพย์ประกันตัว คนละ 70,000 บาท ยื่นขอประกันกัน ก่อนที่ศาลจะให้ประกันตัว จากนี้จะดูคำฟ้อง เพื่อเตรียมการสู้คดีในชั้นศาลต่อไป
ขณะที่ มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ 1 ใน 9 จำเลยคดีนี้ เปิดเผยกับ The Active ว่า จากนี้จะได้เตรียมพยานหลักฐานไว้ให้พร้อมสู้คดี ยืนยันว่า ไม่ได้หนักใจ เพราะมีแนวโน้มว่าจะถูกสั่งฟ้องอยู่แล้ว ตั้งแต่ กอ.รมน. และฝ่ายความมั่นคงออกมาให้ข่าว ที่ทำให้เห็นว่ามีการชี้นำ กดดัน ให้เข้าใจว่าถึงยังไงอัยการก็สั่งฟ้อง แต่สิ่งที่ผิดหวังคือ ก่อนหน้านี้เราพยายามยื่นขอให้อัยการสอบสวนพยานเพิ่มเติม เช่น นักวิชาการที่แปลเอกสารภาษามลายู แต่ไม่ได้รับการตอบรับ
ทั้งนี้ยืนยันว่ากิจกรรมที่จัดขึ้น ไม่ใช่การยุยง ปลุกปั่นตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ถ้าหากฝ่ายความมั่นคงบอกว่าที่ยื่นฟ้องเพราะการปราศรัยบนเวทีมีการปลุกระดม แต่พบว่า มีจำเลย 4 คนจาก 9 คน ที่ไม่ได้มีหน้าที่อยู่บนเวที ทำหน้าที่เป็นเพียงคนอำนวยความสะดวกการจราจรในงานเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปราศรับเหตุใดจึงถูกดำเนินคดีด้วย ขณะที่เนื้อหาในสัตยาบรรณที่อ่านบนเวที ก็ได้แปลเผยแพร่กันทุกปี และใช้อันเดิม ฉบับเดิมทุกปี ไม่มีข้อความตรงไหนที่ระบุ หรือกล่าวอ้างให้คนในงานต่อสู้กับรัฐไทย ในขณะที่สำนวนของอัยการก็บอกว่า พวกเราเข้าร่วมกลุ่มขบวนการกู้ชาติปัตตานี ซึ่งตรงนี้ยืนยันว่าไม่เคยได้ยืนมาก่อน


มูฮัมหมัด อาลาดี ย้ำว่า จากสิ่งที่เกิดขึ้นในคดีนี้ รู้สึกกังวลว่า กลุ่มเยาวชน หรือคนที่พยายามทำกิจกรรมการแสดงออกทางการเมืองแนวสันติวิธี จะไม่มีความเชื่อมั่น อาจทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด แสดงออกแนวสันติวิธีไม่ได้ จึงอาจยิ่งผลักให้กลุ่มคนเหล่านั้นหันเข้าไปสู่ความรุนแรง ทั้งที่เราพยายามดึงเยาวชนให้มาแสดงออกในแนวทางสันติวิธี
สำหรับคดีนี้ศาลจังหวัดปัตตานี ได้นัดตรวจพยานหลักฐาน อีกครั้งในวันที่ 26 ก.พ.นี้