ผู้เชี่ยวชาญ เผย OTT ตัวการใหญ่ กระทบอุตสาหกรรมสื่อ – ผู้บริโภค เร่งหาแนวทางกำกับดูแลให้เท่าทันโลก ขณะที่ กลไกการทำงาน กสทช. ต้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่ให้ปลอดภัย
วันนี้ (7 ก.พ. 68) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาหัวข้อ “พิรงรอง Effect” ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ จากกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน มีคำพิพากษาจำคุก ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นเวลา 2 ปี ในความผิดมาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีออกหนังสือเตือนเกี่ยวกับโฆษณาแทรกบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ทรูไอดี ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เข้าข่ายจงใจกลั่นแกล้ง
สำหรับแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้น ในมุมหนึ่งของ สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง Co-fact Thailand บอกว่าสังคมต้องร่วมกันให้กำลังใจ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ที่เสียสละทำเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค แต่อีกมุมหนึ่ง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ได้สร้างความตื่นตัวในสังคมไทยอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งจะเห็นว่ามีหลายประเด็นที่ชวนให้สังคมตั้งคำถามและถกเถียงกันอย่างมากมาย
ในส่วนแรก สังคมได้พูดถึงเรื่องการทำงานและธรรมาภิบาลของ กสทช. ที่เป็นวิกฤตมานาน แต่ที่ผ่านมาสังคมนิ่งเฉย ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่าง ศ.กิตติคุณ พิรงรอง นี้ สังคมก็ได้กลับมาจับตาการทำงานของ กสทช. อีกครั้ง จึงมองว่าเป็นเรื่องดีที่องค์กรนี้จะออกมาจากแดนสนธยาก่อนที่จะมืดมนไปมากกว่านี้
อีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องของอนาคตวงการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมของไทยที่อยู่ในจุดที่ลำบาก เพราะกิจการโทรคมนาคมถือเป็นกระดูกสันหลังของสังคมดิจิทัล แต่ขณะนี้เรากำลังเจอทางตัน ซึ่งหากไม่มีการเข้ามาแก้ไขหรือร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง เราอาจจะอยู่ในจุดที่สายเกินไป รวมไปถึงอุตสาหกรรมสื่อทีวีที่กำลังอยู่ในจุดร่อแร่ จากการแข่งขันในโลกดิจิทัลที่เราเรียกว่า OTT (Over-The-Top คือ การให้บริการใดใดผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบเปิด) ถ้าเราไม่มีการกำกับดูแลที่ชัดเจนจะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และการแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อที่ไม่เป็นธรรรม ท้ายที่สุดผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบจากการไม่กำกับดูแล
อย่างไรก็ตาม เรื่องการผลักดันให้มีการกำกับดูแล OTT เคยมีความพยายามที่ให้ กสทช. เข้ามาดูแลแล้วในช่วงที่ สุภิญญา อยู่ในฐานะกรรมการ กสทช. แต่สถานการณ์ในขณะนั้นยังไม่เอื้อให้การกำกับดูแลเกิดขึ้นจริง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปและสถานการณ์ต่างไปจากเดิม ในตอนนี้ กสทช. ก็ควรที่จะทำให้เรื่องการกำกับดูแล OTT ให้เท่าทันกับสถานการณ์ตอนนี้ได้แล้ว เพราะถ้าไม่เริ่มทำภายใน 1-2 ปี อุตสาหกรรมสื่อจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก รวมไปถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดท้ายวันหนึ่งก็ได้รับผลกระทบในท้ายที่สุด
“นี่คือวิกฤตของวิกฤต แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะหาแนวทางอย่างเป็นธรรมให้กับอุตสาหกรรมสื่อโดยรวมและการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะการมีข้อพิพาทกับเอกชนไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลาดในกระบวนการทำงานของหน่วยงานราชการ แต่กระบวนการที่จะออกจากปัญหาให้ได้ประโยชน์กันทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม ยังมีทางเลือกอื่น ๆ ที่ควรจะเป็นมากกว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง”
สุภิญญา กลางณรงค์
ไม่เพียงเท่านั้น ระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้ให้ความเห็นถึงกฎหมายที่ควบคุมของ กสทช. อีกว่า เมื่อย้อนกลับไป 4 ปีที่ผ่านมา กสทช. เคยมีมีแผนแม่บทเป็นแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ฉบับปรับปรุงและมีการตั้งคณะทำงานศึกษาเกี่ยวกับการกำกับดูแล OTT แล้ว แต่ร่างฉบับนี้ไม่ได้ถูกเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดของ กสทช. ขณะที่ OTT ยังดำเนินธุรกิจต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ซึ่งสิ่งนี้เองจึงเป็นช่องว่างที่กฎหมายไม่มีข้อกำกับ ทำให้ กสทช. ไม่สามารถกำกับในสิ่งที่จดทะเบียนไว้ได้
ขณะที่การดำเนินธุรกิจในการทำโฆษณาก็จะเปลี่ยนไป โดยเป็นไปได้ว่า เมื่อ OTT โตขึ้นกว่าเดิม ก็จะมีการย้ายเม็ดเงินโฆษณาจากทีวีไป OTT มากขึ้น ผลที่ตามมาคือธุรกิจทีวีจะไม่มีเงิน และเริ่มลดคนทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการผลิตเนื้อหาที่อาจมีเนื้อที่ลเป็นประโยชน์น้อยลง
“มันไม่ใช่เรื่องการส่งสัญญาณ แพร่ภาพ และการโฆษณา แต่มันรวมไปถึงเนื้อหาที่ลูกหลาน หรือพ่อแม่เราต้องเสพสื่ออย่างไร้การกำกับดูแล ดังนั้น เมื่อเราไม่มีสิ่งนี้ คำถามคือ กสทช. จะเริ่มกำกับดูแล OTT กี่โมง”
ระวี ตะวันธรงค์
ไม่ใช่ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงกับอุตสาหกรรมสื่อและผู้บริโภคเพียงเท่านั้น แต่มีผลกระทบไปถึงกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ รศ.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า การใช้กฎหมายฟ้องร้องการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต่างจากคำขู่ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่อยากจะคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ใช่แค่เรื่องสื่อเท่านั้น แต่อาจไปสู่เรื่องชีวิตประจำวันที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ เช่น ฝุ่น PM 2.5 หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่นกัน
“เรื่องไหนเสี่ยง อย่าทำ คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับความรู้สึกของเจ้าหน้าที่รัฐต่อนี้ เพราะนี่คือตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ”
รศ.ณรงค์เดช สรุโฆษิต
เพราะเมื่อมองในมุมของกฎหมาย จะมีช่องทางที่จะโต้แย้งการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของเรื่องนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าคิดว่าการใช้อำนาจโดยมิชอบ ก็อาจจะมีการอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองแล้วไปฟ้องศาลปกครอง ด้วยวัตถุประสงค์คือการเพิกถอนคำสั่งหรือกฎที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรืออีกกรณีคืออาจจะฟ้องศาลปกครองได้ ถ้ากฎหรือคำสั่งก่อให้เกิดความเสียหาย
แต่อีกทางหนึ่ง ถ้าเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐรุนแรงมาก และสร้างความไม่พอใจให้กับคู่กรณีก็จะมีการฟ้องในคดีอาญา โดยมีวัตถุประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวติดคุก ซึ่งในกรณี ศ.กิตติคุณ พิรงรอง สำหรับ รศ.ณรงค์เดช ถือว่า เป็นกรณีไม่เหมือนปกติ เพราะที่จริงคงต้องไปศาลปกครองหรือแค่ยื่นอุทธรณ์ภายใน กสทช. ไปก่อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น รศ.ณรงค์เดช ยังคงเชื่อในความสุจริต ว่า จะคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ทำเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ หากแต่องค์กรหรือหน่วยงาน จะต้องทำให้กลไกการทำงานมีประสิทธิภาพเพื่อให้เจ้าหน้าที่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกของปัญหาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะต้องรัดกุมไปถึงความปลอดภัยเมื่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงจากการแสดงความเห็น และการกำหนดขอบเขตหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันกับ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง
“ต้องร่วมกันวัฒนธรรมองค์กร เพราะจะไม่มีใครกล้าทำงาน”
รศ.ณรงค์เดช สรุโฆษิต
ขณะที่ สุภิญญา แนะให้มีการรื้อฟื้น NBTC Policy Watch (ติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม) เพื่อเป็นการช่วยกันจับตาการทำงานของ กสทช. ซึ่งในส่วนขององค์กรเองก็ต้องรู้จุดอ่อน-จุดแข็งของตัวเอง และนำมาพัฒนาสู่ผลประโยชน์ของทุกคน เพราะสังคมไทยต้องการองค์กร กสทช. มาช่วยหาทางออกให้กับอุตสาหกรรมไทย ซึ่งโจทย์ที่รออยู่เป็นสิ่งเดียวกันกับความตั้งใจของ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการกำกับดูแล OTT สู่การรักษาความเป็นประชาธิปไตยในระบบเศรษฐกิจ