เปิด 7 ข้อเสนอแก้ผูกขาด ยื้อ กสทช. เปิดประมูลคลื่นความถี่มือถือ

‘เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ’ ห่วง นโยบายรัฐบาลกระทบทรัพยากรสื่อสารของชาติ อำพรางแปรรูปรัฐวิสาหกิจรูปแบบใหม่ หลัง ‘การโทรคมนาคมแห่งชาติ’ หรือ NT ต้องเปิดเช่าคลื่นความถี่ให้เอกชนรายใหญ่ เสนอ “รัฐกันคลื่นความถี่ย่านกลางเพื่อจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน” และ “ออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้งานกลุ่มเปราะบาง”

ภายหลัง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทสช.) เตรียมจัดประมูลคลื่นความถี่ 4 คลื่น ในวันที่ 29 มิ.ย. 2568 นี้ โดยมีผู้แข่งขัน 2 ราย คือ ทรู คอร์ปอเรชั่น (True) และ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) นั้น และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ร้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2568 เพื่อขอให้ดำเนินการคุ้มครองชั่วคราว เพราะเห็นว่า กสทช. ยังไม่มีมาตรการป้องกันการผูกขาด

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2568 เวทีอภิปราย เรื่อง “กสทช. กับการประมูลคลื่นความถี่ และผลประโยชน์ประชาชน” จัดโดยเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ร่วมกับ สถาบันสังคมประชาธิปไตย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ระบุถึงข้อห่วงกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและความมั่นคงของชาติ อันเป็นผลมาจากปัญหาของการจัดสรรคลื่นความถี่ โดย กสทช.

ห่วง เอกชนผูกขาด – ขาดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า การเปิดประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รับรู้ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมในปัจจุบันมีผู้ใช้งานราว 116 ล้านเลขหมาย แต่กลับมีผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย คือทรู (True) ที่ครองตลาดถึง 54.29% และเอไอเอส (AIS) อีกประมาณ 43% ขณะที่ที่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที (NT) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการภาครัฐมีส่วนแบ่งเพียง 2.66% เท่านั้น สถานการณ์นี้ส่งผลให้ดัชนีความกระจุกตัวของตลาด (HHI) พุ่งสูงถึง 4,800 จุด ในขณะที่ระดับที่สะท้อนถึงการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพควรอยู่ที่ประมาณ 2,500 จุด

อิฐบูรณ์ ระบุอีกว่า การผลักดันให้เอ็นทีเปิดให้เช่าคลื่นความถี่ให้เอกชนรายใหญ่ ขณะที่ตัวเองไม่มีบทบาทในการประมูล ทั้งที่คลื่นเหล่านี้เป็นสมบัติสาธารณะของแผ่นดิน ยิ่งตอกย้ำถึงการขาดทางเลือกของผู้บริโภคและเปิดช่องให้เกิดการผูกขาด ขณะเดียวกันยังไม่มีหลักประกันใด ๆ ในการควบคุมราคาหรือคุณภาพบริการ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่ควรได้ใช้บริการในราคาที่ต่ำและเข้าถึงได้ แต่กลับต้องเผชิญกับค่าบริการที่สูงและคุณภาพไม่สม่ำเสมอ จนนำไปสู่การที่สภาผู้บริโภคยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในหลายกรณี

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค และอดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง กสทช. มีเป้าหมายเพื่อดึงคลื่นความถี่จากภาครัฐมาเข้าสู่ระบบใบอนุญาตแทนระบบสัมปทานและเปิดให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างโปร่งใส แต่ในความเป็นจริงกลับเกิดการกระจุกตัวของตลาดอย่างรวดเร็วจากที่เคยมีผู้เล่นหลากหลาย หลังการประมูล 3G กลับเหลือเพียงสองรายหลักที่ครอบครองคลื่นความถี่หลักของประเทศ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่คลื่นเพื่อกิจการสาธารณะและทำลายหลักการเพื่อประโยชน์สาธารณะที่เคยเป็นหัวใจของการจัดสรรคลื่น

“การที่คลื่นความถี่สำคัญอยู่ในมือของเอกชนเพียงสองราย ย่อมส่งให้เกิดอำนาจเหนือตลาดโดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลการทำธุรกรรมและการเรียนรู้พึ่งพาระบบสื่อสารอย่างเข้มข้นย่อมส่งผลให้กระทบกับความมั่นคงของชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

สุภิญญา ยังระบุอีกว่า แม้ปัจจุบันคณะกรรมการของบริษัทเหล่านี้จะเป็นคนไทย แต่หากมีการเปลี่ยนมือไปยังต่างชาติในอนาคตรัฐอาจสูญเสียอำนาจกำกับดูแลอย่างสิ้นเชิง หากระบบล่มหรือถูกโจมตีทางไซเบอร์ การควบคุมสถานการณ์อาจไม่สามารถทำได้ทันท่วงที ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรประมาท

หนุน NT รับบทผู้ให้บริการพื้นฐาน คานอำนาจทุนใหญ่

ด้าน สุพจน์ เธียรวุฒิ อนุกรรมการด้านการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กสทช. กล่าวว่า ภาพรวมโครงสร้างการถือครองคลื่นความถี่ในปัจจุบัน การแข่งขันในตลาดแทบจะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อผู้ให้บริการรายใหม่ถูกกันออกจากระบบด้วยเงื่อนไขที่สูงเกินจริง เช่น การกำหนดให้ครอบคลุมทุกตำบลถึง 50% ภายในสองปี ทำให้เกิดสภาพตลาดโทรคมนาคมที่เอื้อต่อผู้เล่นรายเดิมเป็นหลัก

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากตารางการถือครองคลื่นพบว่าเอไอเอสและทรูถือครองทั้งคลื่นย่านความถี่ต่ำ (700 – 900 เมกะเฮิรตซ์), คลื่นย่านความถี่กลาง (1800 – 2600 เมกะเฮิรตซ์) และคลื่นย่านความถี่สูง (26 กิกกะเฮิร์ทซ) อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่เอ็นทีที่แม้จะมีคลื่นบางส่วนในย่าน 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ แต่ยังขาดแคลนโครงข่ายและทุนสนับสนุนในการแข่งขัน นอกจากนี้การกำหนดราคาคลื่นความถี่ของ กสทช. ในหลายช่วงไม่สอดคล้องกับข้อมูลต้นทุนหรือความเป็นจริงของตลาด

“โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับราคาการประมูลในต่างประเทศหรือการพยากรณ์แนวโน้มการใช้ประโยชน์ในอนาคตที่ควรจะสูงขึ้นขณะที่ความล้มเหลวของเทคโนโลยี 5G ที่ยังไม่สามารถสร้างความแตกต่างชัดเจนจาก 4G ในชีวิตประจำวันยิ่งตอกย้ำว่าการประมูลที่ไม่มีการแข่งขันจะไม่สร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นได้จริง ตนเสนอให้เอ็นทีปรับบทบาทเป็นผู้ให้บริการพื้นฐานของรัฐเพื่อคานอำนาจเอกชนและรับผิดชอบโครงสร้างความมั่นคงทางดิจิทัล”

ในด้านนโยบาย กสทช. ควรจัดสรรคลื่นกลางบางส่วนเพื่อสาธารณะเป็นลักษณะเครือข่ายส่วนตัว (Private Network) หรือเครือข่ายเฉพาะที่ (Local Network) ให้ใช้ได้โดยไม่ต้องประมูลเช่นเดียวกับญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งกันคลื่นบางส่วนไว้ให้หน่วยงานรัฐโรงงานและชุมชนใช้โดยตรงโดยไม่ต้องพึ่งผู้ให้บริการเอกชนทั้งหมด และให้เพิ่มบทบาทการกำกับดูแลอย่างเข้มข้นทั้งในด้านราคาคุณภาพและการตรวจสอบระบบไอทีของผู้ให้บริการเช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำกับระบบการเงินเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดเชิงโครงสร้างที่ประชาชนไม่มีทางเลือกและรัฐไม่มีอำนาจควบคุม

เชิดชัย กัลยาวุฒิพงษ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) แสดงความกังวลต่อกระบวนการประมูลคลื่นความถี่ที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า หากปล่อยให้เอ็นทีหลุดออกจากตลาดจะส่งผลให้โครงสร้างผู้ให้บริการโทรคมนาคมเหลือเพียงสองรายหลัก ถือเป็นภาวะผูกขาดสมบูรณ์ที่กระทบต่อทั้งประชาชน ในฐานะผู้ใช้บริการและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

อย่างไรก็ตาม แม้เอ็นทีจะมีคลื่นความถี่ในครอบครอง แต่ขาดโครงข่ายหลักและการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารทำให้ไม่สามารถแข่งขันด้านคุณภาพและราคากับผู้ให้บริการรายใหญ่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดบรอดแบนด์ (อินเทอร์เน็ตบ้าน) และบริการเคลื่อนที่ ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันสะท้อนว่าความอยู่รอดของเอ็นทีอยู่ในภาวะวิกฤตหากเกิดการซื้อกิจการลูกค้าจากเอกชนจนหมด จะเท่ากับว่าเอ็นทีพ้นสถานะผู้ให้บริการโดยสมบูรณ์และประชาชนจะไม่มีทางเลือกอื่นในตลาดอีกต่อไป

สรุป 7 ข้อเสนอ มุ่งสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

เมธา มาสขาว ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กล่าวสรุปข้อเสนอภาคประชาชนว่า เวทีเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจมีข้อเสนอต่อ กสทช. และรัฐบาล 7 ข้อ

1. ปัจจุบันหลังการควบรวมกิจการ มีเอกชนรายใหญ่ 2 ราย มีอำนาจเหนือตลาดโทรคมนาคมจากเดิม 4 ราย จากผู้ใช้มือถือกว่า 116 ล้านเลขหมาย ขณะที่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ครอบครองเพียง 2 ล้านเลขหมายเท่านั้น ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะรวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย

2. การประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ของ กสทช. เหมือนการยกให้เอกชนรายใหญ่เพียง 2 รายเป็นเจ้าของคลื่นความถี่โดยตรง ภายหลังจากที่เป็นเพียงผู้เช่าคลื่นความถี่จากภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นการผูกขาดโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้ เอกชนรายใหญ่ยังพยายามขอเซ้งบริการ 2 ล้านเลขหมายจาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ขณะที่นโยบายรัฐบาลพยายามโยกย้ายถ่ายเททรัพยากรของชาติเพื่ออำพรางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในรูปแบบใหม่ ทั้งนี้ ยังมีทางเลือกการจัดสรรคลื่นความถี่ในรูปแบบใหม่

3. คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะและความมั่นคงของรัฐ การปล่อยให้เอกชนผูกขาดมากเกินไปเท่ากับยอมให้เอกชนผูกขาดควบคุมการสื่อสารของชาติ รัฐบาลควรมีการกันคลื่นความถี่ย่านกลางเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนและใช้ในยามแจ้งเตือนในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหมือนในต่างประเทศที่เรียกว่าการทำ Private Network

4. ประธาน กสทช. ไม่มีคุณสมบัติเป็นที่ประจักษ์ในการดำรงตำแหน่ง ภายหลังการตรวจสอบของกรรมาธิการไอซีที วุฒิสภา ดังนั้นไม่สามารถทำหน้าที่และจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้การประมูลเป็นโมฆะในอนาคต ซึ่งประธานควรยุติการปฏิบัติหน้าที่และคืนเงินเดือนตั้งแต่มีมติรับทราบผลการตรวจสอบจากกรรมาธิการวิป วุฒิสภา

5. สภาผู้บริโภคได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองต่อการประมูลคลื่นความถี่มือถือของ กสทช.ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ โดยปราศจากมาตรการป้องกันการผูกขาด ดังนั้น จึงขอให้ศาลปกครองเร่งดำเนินการคุ้มครองชั่วคราว หรือให้มีการไกล่เกลี่ยก่อนการจัดประมูลเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ

6. ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติแต่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่โดยมิชอบ ไม่เช่นนั้นแล้ว หากมีคนไปยื่น ป.ป.ช. นายกรัฐมนตรีอาจมีความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 เสียเอง

7. ภาคประชาชนจะผนึกกำลังกันเคลื่อนไหวและคัดค้านการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคเครือข่ายสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานภาคเอกชน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม สลัม 4 ภาค นักวิชาการและเครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจร่วมกัน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

AUTHOR

Orranee