เปิดใจ ‘มึนอ’ 11 ปี ‘คดีบิลลี่’ ถูกบังคับสูญหาย ความยุติธรรมยังไม่เกิด 

‘มูลนิธิผสานวัฒนธรรม’ ยืนยัน พาครอบครัว ‘บิลลี่’ พร้อมพยานมาให้ปากคำต่อศาลแพ่ง ตามนัดเดิม 21 ก.พ. นี้ แม้ถูกเลื่อนเพื่อรอคดีอาญาสิ้นสุด ชี้ กรณีนี้บ่งบอกถึงทิศทางของความยุติธรรมในสังคม ขณะที่ ‘มึนอ’ เผยกังวล หลังอัยการฝั่งจำเลย ส่งหนังสืออ้างเหตุหวังไม่ต้องเยียวยาทางแพ่ง  

วันนี้ (20 ก.พ. 68) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ มึนอ – พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยา บิลลี่ – พอละจี รักจงเจริญ ร่วมแถลงเปิดเผยแนวทางการสู้คดีทางแพ่ง ที่ครอบครัวยื่นฟ้อง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คดีหมายเลขดำที่ พ1459/2567 หลังทนายความของครอบครัวบิลลี่ ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ศาลแพ่งว่า การนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 21 ก.พ. นี้ ฝ่ายโจทก์ยังไม่ต้องนำพยานมาสืบ เนื่องจากศาลเห็นว่าอาจต้องรอผลคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา ซึ่งหมายถึงศาลแพ่งจะมีคำสั่งยกเลิกกำหนดนัดสืบพยานในคดีแพ่งของครอบครัวบิลลี่ทั้งหมดและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ชั่วคราว จนกว่าคดีอาญาจะถึงที่สุดจึงจะนำคดีแพ่งขึ้นมาพิจารณาต่อไป 

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า คดีของบิลลี่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แต่เกิดขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่วันที่สูญหาย กระทั่ง DSI เข้ามาทำ และพยายามค้นหา สิ่งที่เรียกว่าเป็นหลักฐานสำคัญ เพราะกฎหมายไทยต้องพบศพถึงจะสามารถดำเนินคดีอาญาที่ร้ายแรงได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งคดีการหายตัวไปของบิลลี่ ทั้งขั้นตอนการร้องเรียน ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีแพ่ง ทุกขั้นตอนเป็นการริเริ่มจากสิ่งที่ยังไม่มี หรือเรียกว่าคดียุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับคดีอื่นในอนาคต

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

แต่ดูเหมือนว่าความพยายามที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง กำลังจะถูกยุติลงอีกครั้งหนึ่ง โดยยอมรับว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลทางคดีส่งผลกระทบต่อจิตใจ ซึ่งการฟ้องร้องคดีแพ่งสำเร็จแล้วเมื่อ เม.ย. 67 โดยอาศัยการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอในคดีอาญา ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลแพ่งได้รับฟ้อง และกำหนดวันนัดสอบพยาน 21 ก.พ. นี้ ซึ่งเป็นการกำหนดมาตั้งแต่เมื่อ 7 เดือนก่อน

“ณ ตอนนั้น ข้อกฎหมายที่ว่าคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาจะต้องรอข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาของคดีอาญา มีปรากฏอยู่ 70 ปีแล้ว ซึ่งนานมาแล้ว ทำไมเหตุของการเลื่อนหรือแจ้งพวกเราในฐานะที่เป็นผู้แทนทางกฎหมาย และทนายความว่า ของดพิจารณาจะขอจำหน่ายคดีชั่วคราวไว้ก่อน รอคำพิพากษาและข้อเท็จจริง ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีนี้ ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบฯ และนี่คือผลของคดีที่เราต้องการจะสื่อสารกับสังคม และสื่อสารกับองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้ ซึ่งการบังคับให้สูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดในบริบทของงานด้านสิทธิมนุษยชน และเป็นคดีอาญาแล้วในประเทศไทย แม้ว่าบิลลี่จะถูกบังคับให้สูญหายไปก่อนกฎหมายประกาศใช้ แต่ระหว่างที่บิลลี่สูญหายก็ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายอื่นในประเทศ และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และมาตรฐานสากลในเรื่องการเคารพสิทธิในชีวิต”

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

สำหรับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็น หมายเลขดำที่ อท 166/2565 ที่อัยการโจทก์ยื่นฟ้อง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ และข้อหาร่วมกันฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อหาอื่น ๆ กรณีการหายตัวไปของ บิลลี่ พอละจี  โดยเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 66 ศาลอ่านคำพิพากษา พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ชัยวัฒน์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยระบุว่าในการจับกุม ชัยวัฒน์ไม่ได้นำตัวบิลลี่ ส่งพนักงานสอบสวน มีโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนข้อหาอื่น ๆ ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ, ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย, ร่วมกันโดยทุจริตหรืออำพรางคดีกระทำการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลยกฟ้อง และจำเลยที่ 2, 3 และ 4 ศาลพิพากษายกฟ้อง 

พรพิมล มุกขุนทด ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า จากคำพิพากษาข้างต้น นำมาสู่การยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากต้องการให้มีการดำเนินคดีในเรื่องของประเด็น “ฆ่า” แต่ศาลมองว่ากระดูกที่พบจากการที่ DSI นำสืบ โดยมีพยานผู้เชี่ยวชาญมาตรวจพิสูจน์ มองว่าผลกระดูกยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็น บิลลี่ ทีมทนายจึงดำเนินการยื่นอุทธรณ์ เพราะเชื่อว่าถ้าปล่อยแล้วทำไมเขายังไม่กลับบ้าน ? จึงดำเนินการยื่นอุทธรณ์ และเชื่อว่ากระดูกที่พบเป็นกระดูกของบิลลี่จริง และยื่นในประเด็นเรื่องโทษจำคุก 3 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่าในฐานะหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น หรือในฐานะของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายทั้งเรื่องการจับกุม การแจ้งว่าปล่อยไม่ปล่อย โดยไม่มีเอกสารที่ปรากฏ เขาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง จึงยื่นอุทธรณ์ให้เพิ่มโทษหนักขึ้น

“อันที่จริงภรรยาและลูกสามารถเรียกค่าเสียหายในส่วนของคดีอาญาได้ แต่เห็นว่าถ้าเรียกค่าเสียหายในส่วนนั้นไปจะทำให้ความผิดเกิดแค่จำเลย 4 คนเท่านั้น ซึ่งเราไม่เห็นด้วย แต่เนื่องจากขณะนั้นอายุความจะครบ 10 ปี ในปี 2567 ได้มีการหารือกันและตัดสินใจฟ้องกรมอุทยานฯ เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมองว่าในฐานะกรมอุทยานฯ ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการกระทำละเมิดต่อประชาชนด้วย จึงเรียกค่าเสียหายไป 26 ล้าน ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับลูก 5 คน จากการสูญเสียข้อซึ่ง เป็นเรื่องยากที่จะประเมินออกมาเป็นมูลค่า ต้องใช้เกณฑ์คำพิพากษามาพิจารณาความเสียหาย”

พรพิมล มุกขุนทด

พรพิมล ยังบอกด้วยว่า ได้เตรียมพยานไว้ 9 ปาก ประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แพทย์ พยานผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งประสานไว้หมดแล้ว เพื่อจะนำมาสืบพยานในวันที่ 21,25,26 ก.พ. นี้ ซึ่งโดยปกติคดีแพ่งต้องส่งบันทึกถ้อยคำสืบพยาน ซึ่งต้องคุยกับพยานว่าเขาสามารถยืนยันข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้หรือไม่ แต่กลับมีการแจ้งจากทางศาลแพ่ง ว่า ไม่ต้องเตรียมพยานมาในวันที่ 21 ก.พ.นี้ อย่างไรก็ตามทนายความได้ยืนยันกับศาลแพ่งไปแล้วว่า พยานเตรียมเดินทางมาสำหรับการมาเบิกความเรียบร้อยแล้ว และยืนยันว่าจะพาพยานไปเบิกความให้ได้ เพราะทุกคนได้รับหมายเรียกเป็นพยานจำเป็นต้องมาตามนัด

มึนอ – พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่

ขณะที่ มึนอ ภรรยาบิลลี่ เปิดใจว่า สิ่งที่ได้รับรู้ไม่ยุติธรรมกับครอบครัวผู้สูญหาย ก่อนหน้านี้ ทั้งเธอ แม่ของบิลลี่ และลูกอีก 5 คน ได้รับหนังสือชุดเดียวกัน 7 ฉบับจากอัยการฝั่งจำเลย ซึ่งมี 2 เรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ คือ จากเอกสารที่บอกว่าลูกคนโต กับ มึนอ เลขบัตรไม่ตรงกัน แสดงว่าไม่ได้เป็นแม่ลูกกันไม่สามารถฟ้องแทนได้ และ มึนอไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิลลี่แสดงว่าไม่ได้เป็นภรรยาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหนังสือลงวันที 11 ก.พ. 68 แต่ส่งถึงบ้านเมื่อวานนี้ (19 ก.พ. 68) 

“มันคือความรู้สึกว่ารัฐไทยอ้างแต่กฎหมายอย่างเดียว มันไม่ให้ความยุติธรรมกับชาวบ้านเลย คือ ถ้าพูดถึงการเยียวยา มันสามารถทำได้หลายอย่าง ไม่เฉพาะเงิน เยียวยาเป็นสิ่งของ เป็นอย่างอื่นก็ได้ อย่างครอบครัวผู้เสียหาย ถ้าจะเยียวยาเป็นการให้ความสุข การให้เด็กที่อยู่ข้างหลังได้รับทุนการศึกษา ให้ที่ดินทำกิน ให้อยู่ดีมีสุขก็ได้ หรือจะไปเยียวยาพี่น้องในหมู่บ้านที่เป็นพี่น้องของบิลลี่ที่เดือดร้อนกับที่ดินทำกิน ช่วยคนเหล่านั้นก็ได้”

พิณนภา พฤกษาพรรณ

มึนอ ยังบอกอีกว่า การให้เงินไปในมุมชาวบ้านมันก็เท่านั้น เป็นการให้แบบชั่วคราว หากให้เป็นสิ่งของ เป็นที่ดินทำกิน ให้ทุนการศึกษา จะช่วยเยียวยาไปทั้งชีวิต เพื่อให้ได้เล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา จะได้มีอนาคตที่ดี และเป็นผู้ใหญ่ที่ดีเป็นอนาคตของชาติ ซึ่งตอนที่บิลลี่มีชีวิตอยู่ เขาทำงานช่วยเหลือหมู่บ้านไว้ ทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหา ถ้ารับเยียวยาสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้

ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวเสริมว่า สิ่งที่มึนอ เล่า เป็นสิ่งที่เขียนไว้ในหลักสากล เรื่องการเยียวยาผู้เสียหายในกรณีการทรมาน อุ้มหาย หรือ การละเมิดของรัฐ  คือ เยียวยาให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และเพียงพอ เป็นผลครอบคลุม และสอดคล้องกับความต้องการของผู้เสียหาย ซึ่งประเทศไทยลงนามในอนุสัญญานี้ไว้ ซึ่งมีการระบุเอาไว้ในระเบียบตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ด้วย

ดังนั้นในวันที่ 21 ก.พ.นี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และพยานจะเดินทางไปที่ศาลแพ่ง และชวนร่วมจับตาผลการพิจารณาของศาลแพ่ง ว่าจะเลื่อนการสืบพยานหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ไม่เพียงแต่ชี้ชะตาความยุติธรรมในคดีของบิลลี่เท่านั้น แต่ยังอาจบ่งบอกถึงทิศทางของความยุติธรรมในสังคมด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active