ปิดเทอมนี้มีกิจกรรมฉ่ำ! สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย เปิดตัวแพลตฟอร์มรวมไอเดียพัฒนาทักษะ-ค้นหาตัวตน “ปิดเทอมสร้างสรรค์.com” พร้อมเปิดพื้นที่กว่า 1,000 แห่งทั่วไทย ให้เยาวชนเข้าถึงพื้นที่รู้-ลอง-เล่น ให้ทุกวันเป็นวันเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ด้าน กทม.เตรียมจัดเทศกาลการอ่านและการเรียนรู้ ฉลองการได้เป็นสมาชิก “Learning City”
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 ที่ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย เปิดตัวกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ประจำปี 2567 พร้อมระดมกิจกรรมพัฒนาทักษะและค้นหาตัวตน ให้เด็กไทยได้ลองใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์ เชื่อว่าการเรียนรู้ด้วยตนเองในช่วงปิดเทอม จะทำให้เด็กไทยค้นหาสิ่งที่ชอบและรักได้มากกว่าเรียนในห้องสี่เหลี่ยม
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ในแต่ละปี เด็กไทยมีวันว่างรวมปิดเทอมมากถึง 150 วัน วันว่างเหล่านี้สามารถต่อยอดทักษะและช่วยให้เด็กค้นหาตัวเองได้ สสส. จึงได้ร้วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภูมิภาค ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุตรดิตถ์ กรุงเทพฯ นครราชสีมา ยะลา พร้อมประสานงานและขับเคลื่อนกิจกรรมในอีก 25 จังหวัด รวมถึงภาคีภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า 500 องค์กร นำไปสู่แหล่งเรียนรู้รวมกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ หวังให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ในช่วงวันหยุดและปิดเทอม ผ่าน www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ที่รวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอพื้นที่และกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็กและผู้ปกครองเลือกเข้าร่วมกิจกรรมตามที่สนใจ
“วันว่างจะสร้างโอกาสมหาศาลที่เด็กจะได้เรียนรู้อย่างอิสระ สร้างสรรค์ สร้างฝัน สร้างทักษะชีวิต หาอาชีพเสริมสร้างรายได้ ซึ่งสำคัญไม่แพ้การเรียนในระบบการศึกษา และยังลดปัญหาเด็กติดหน้าจอมือถือ ลดความเสี่ยงที่จะไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรืออันตรายอื่น ๆ”
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม
นพ.ไพโรจน์ยังเสริมว่า จากการสำรวจในปีที่ผ่าน ๆ มา พบหนึ่งปัญหาที่สำคัญคือ สถานที่จัดงานไกลบ้าน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายการเดินทาง หรือกรณีเด็กเล็ก ผู้ใหญ่จะต้องพาไป ทำให้เด็กบางกลุ่มเข้าไม่ถึงพื้นที่กิจกรรม จึงมีเป้าหมายเปิดพื้นที่กิจกรรมในแหล่งเรียนรู้ ในชุมชนให้เด็ก ๆ เข้าถึงพื้นที่กิจกรรมที่ปลอดภัยได้ภายใน 15 นาที หวังลดอุปสรรคด้านค่าใช้จ่าย สร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนต่าง ๆ ให้เด็กเข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ได้มากกว่าปีที่แล้ว
ด้านณัฐยา บุญภักดี ผู้อํานวยการสํานักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ระบุว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต เริ่มต้นได้จากการสอนให้เด็กรู้จักที่จะค้นหาและสร้างตัวเองจากช่วงเวลาว่างในวันปิดเทอม ที่ผ่านมาเรามักจะคิดโจทย์ให้เด็กว่า “ช่วงเปิดเทอมเด็กควรเรียนรู้อะไรบ้าง” แต่กลับกัน ช่วงเวลาปิดเทอมที่เด็กว่างจากการเรียนหนังสือในชั้นเรียน พวกเขาจะได้ออกมาทำในสิ่งที่ชอบและสนใจจริง ๆ หากสังคมมีพื้นที่ต่อยอดพวกเขา ให้โอกาสเขาลองผิดลองถูก เมื่อเขามีเวลาว่างและได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มันก็จะกลายเป็นทักษะและอาจเป็นวิชาชีพหล่อเลี้ยงชีวิตเขาได้ ซึ่งเป็นทักษะที่ไม่ได้กำหนดอยู่ในกรอบของหนังสือเรียน
ทั้งนี้ ณัฐยา ชี้ประเด็นว่า ยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่นึกไม่ออกว่า เวลาว่างพวกเขาควรทำอะไร เพราะพวกเขามีหน้าที่เรียนมาตลอด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ใกล้ตัว มีคุณภาพ และไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้พวกเขาเคยชินต่อการเดินเข้าห้องสมุด คุ้นชินกับการเข้าไปวิ่งเล่นในสวนสาธารณะ ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมสร้างทักษะต่าง ๆ อย่างศิลปะหรือดนตรี ที่ผ่านมาเราอาจจะมีห้องสมุดหรือมีสนามเด็กเล่นใกล้บ้านแต่สิ่งที่ขาดหายไปคือเรายังไม่มีกิจกรรมเข้ามาเสริมทัพในตรงนี้ สสส. จึงพยายามสานกับเครือข่ายเพื่อหาทุกความเป็นไปได้ที่เด็กต้องการ
หลังจากที่กรุงเทพมหานครได้รับการเลือกเป็นสมาชิกของเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ทาง กทม.ได้เตรียมจัดกิจกรรมและพื้นที่ โดยเฉพาะ “เทศกาลการอ่านและการเรียนรู้” ที่จะกระตุ้นให้ทุกคนในเมืองได้ใกล้ชิดกับหนังสือมากยิ่งขึ้น โดยกิจกรรมจะจัดกระจายตามพื้นที่ เช่น ในสวนสาธารณะ ห้องสมุดชุมชน ตลอดจนร้านหนังสือ ฯลฯ ทั้งนี้ กทม. ยังพบกับปัญหาและความต้องการด้านการเรียนรู้ของเด็กกรุงเทพฯ ได้แก่
- การเข้าถึงพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ หรือพื้นที่เรียนรู้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายยังมีจำกัด
- ความเหลื่อมล้ำ เมื่อพื้นที่เรียนรู้ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงมีบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงได้
กทม.จึงเชื่อว่าหากมีพื้นที่ให้เด็ก เยาวชนได้เข้าร่วม ได้แสดงศักยภาพที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เขาจะไม่เอาเวลาไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด กัญชา บุหรี่ไฟฟ้า ฯลฯ โดยหลายสำนักของ กทม.ร่วมกับภาคเอกชน จึงเปิดให้เด็กและเยาวชนฝึกอาชีพ ศึกษาดูงานในบริษัทตามความสนใจ เพิ่มจำนวนห้องสมุดให้เด็กเข้าถึงโอกาสเรียนรู้มากขึ้น
ศานนท์ ยังบอกว่า จะมีการนำโครงการห้องสมุดชุมชน (บ้านหนังสือ) ที่เคยริเริ่มมาตั้งแต่สมัยปี 2544 มาปัดฝุ่นใหม่ โดยในปัจจุบันบ้านหนังสือร้อยกว่าแห่งทั่วกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีสภาพอาคารที่เก่าและทรุดโทรมประกอบกับสถานการณ์โควิด ทำให้มีผู้ใช้งานค่อนข้างน้อย ดังนั้น กทม.จะมีการดูแล ปรับปรุงสภาพ รูปแบบของพื้นที่ให้มีความร่วมสมัย เป็นมิตร น่าใช้งาน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนพูดคุยแบบผ่อนคลาย และตอบสนองต่อวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้น
นอกจากนี้ในวันที่ 31 มี.ค. 2567 ทางกรุงเทพฯ จะมีงานหนังสือในสวน ที่รวมการเรียนรู้และนโยบายด้านการศึกษาของ กทม.ทั้งหมดให้ผู้สนใจเข้าร่วมที่สวนเบญจกิตติ เดือน พ.ค.นี้ ก่อนเปิดเทอม จัดเทศกาลกีฬาให้เด็กและครอบครัวได้ร่วมออกกำลังกายและใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน นอกจากนี้ กทม. ยังแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเพิ่มเติม เพื่อให้มีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก กทม. มากขึ้น จากปัจจุบัน 200 พื้นที่ เป็น 1,000 พื้นที่ โดยสามารถติดตามกิจกรรมได้ที่
- เพจ กรุงเทพมหานคร https://www.facebook.com/prbangkok/
- เพจ Bangkok Learning City https://www.facebook.com/BangkokLearningCity