เครือข่ายการศึกษา ระดมความคิดสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาคนให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ แนะรัฐหนุนท้องถิ่นออกแบบการเรียนรู้เพื่อตอบโจทย์พื้นที่ ร่วมเสนอกรณีต่างประเทศเป็นแนวทาง
วันนี้ (21 ส.ค. 2566) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา และเทศบาลนครยะลา จัดเสวนาหัวข้อ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้ : บทเรียนจากต่างเมือง’ ร่วมถอดบทเรียนแนวคิดการศึกษาจากต่างประเทศ ผลักดันให้รัฐออกนโยบายหนุนการกระจายอำนาจทางการศึกษา ให้ท้องถิ่นออกแบบหลักสูตร-การเรียนรู้ด้วยตัวเอง สร้างคนคุณภาพคืนสู่บ้านเกิด ชี้ การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะช่วยพัฒนาคนให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่
วงเสวนาได้ร่วมกันถอดบทเรียนและศึกษาเครื่องมือที่ใช้ขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ผ่านประสบการณ์จากเวที Bali Manifesto โดย UNESCO รวมถึงกรณีศึกษาจากประเทศเกาหลีใต้และประเทศญี่ปุ่น โดยเป้าหมายของ Learning City คือ การลดความเหลื่อมล้ำให้คนในพื้นที่ทั้งเด็กด้อยโอกาสและคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา ตลอดจนผู้สูงวัยที่กำลังกลายเป็นกลุ่มประชากรหลักในอนาคต เมืองแห่งการเรียนรู้จะทำให้เกิดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based) เชื่อมโยงไปสู่กลไกระดับจังหวัด ทำให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น และช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้
ชเว อึน ชิล ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการ UNESCO Learning City จากประเทศเกาหลีใต้ ได้บรรยายถึงการเรียนรู้ของผู้ใหญ่และการศึกษาในระดับท้องถิ่น ในช่วงต้น ชเว ได้กล่าวสรุปถึงแนวโน้มของการเรียนรู้ตลอดชีวิตในเกาหลีใต้ไว้ 4 แนวโน้มด้วยกันคือ
- สร้างการเรียนรู้โดยไม่มีเส้นแบ่ง โดยเน้นการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม โดยประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และศูนย์จัดบริการการศึกษาผู้ทุพพลภาพ เพื่อทำให้การศึกษาเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง
- พัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์การเรียนรู้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคน เช่น การยกระดับให้ร้านหนังสือไม่ใช่แค่ที่ขายหนังสือ แต่มีกิจกรรมฝึกอบรมเขียนหนังสือ, ทำหนังสือ ตลอดจนการฝึกทักษะต่าง ๆ เพื่อกระจายพื้นที่ของการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา นอกจากนี้ยังมีการจัดทัศนศึกษาเพื่อเชื่อมโยงไปยังแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ
- ส่งเสริมการเรียนรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิตอลในกลุ่มผู้เปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ โดยศูนย์การเรียนรู้ได้ออกแบบการเรียนรู้ดังกล่าวให้กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลด้วย
- จัดห้องเรียนสอนทักษะชีวิตแก่ผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตเมืองหลวง ซึ่งพบว่าหลังจากมีโครงการดังกล่าวทำให้หลายคนค้นพบเส้นทางการประกอบอาชีพใหม่ ๆ มากขึ้น
นอกจากนี้ ชเว ยังระบุอีกว่า การจะทำให้เมืองแห่งการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ต้องใช้ปัจจัยหลายข้อร่วมกัน เริ่มตั้งแต่การมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง สาธารณูปโภคที่ดีจะทำให้ผู้คนเข้าถึงศูนย์การเรียนรู้ง่ายขึ้น การสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับจังหวัด และที่สำคัญคือทางเกาหลีใต้พยายามที่จะผลักดัน พ.ร.บ. การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ความตั้งใจในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อยู่ในแผนแม่บทกฎหมายอีกด้วย
“เมืองที่ดีสร้างผู้คนที่ดี และผู้คนที่ดีก็มาจากการเรียนรู้ที่ยั่งยืน และถ้าคุณอยากเดินไปให้ไวก็จงเดินไปด้วยตัวคุณเอง แต่ถ้าคุณอยากเดินไปได้ไกล เราเดินไปด้วยกัน”
ชเว อึน ชิล
ซาจิเอะ คุมาโนะ ฝ่ายส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และ การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD) เมืองโอคายาม่า ร่วมแชร์ประสบการณ์ผ่านช่องทางออนไลน์ ระบุว่า เมืองโอคายาม่าตามแบบแผน SDGs และ ESD เกิดขึ้นได้จากการร่วมมือจากกลุ่มคนหลายฝ่าย โดยเฉพาะในเทศบาลมีการตั้งฝ่ายส่งเสริมเป็นการเฉพาะ โดยเน้นการเรียนรู้ที่มีชุมชนเป็นฐาน ยึดแนวปฏิบัติให้ศูนย์การเรียนรู้สนับสนุนเงินให้กับกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ในโอคายาม่ากว่า 30 กิจกรรม และนำไปสู่การสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ต่อปัญหารอบตัวในเมือง โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ คนทุกวัยพร้อมรับมือกับโจทย์ท้าทายใหม่ ๆ ของสังคมผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า กรณีศึกษาของเกาหลีใต้และเมืองโอกายาม่ามีความแตกต่างหลายอย่าง เช่น ขนาดของพื้นที่นโยบาย เกาหลีใต้เป็นการมองภาพรวมระดับประเทศขณะที่โอกายาม่ามองนโยบายเจาะจงไปที่พื้นที่เมือง นอกจากนี้แนวนโยบายของเกาหลีใต้เน้นไปที่กลุ่มเปราะบาง ผู้พิการและผู้สูงอายุ ในขณะที่ญี่ปุ่นพยายามสร้างพลเมืองให้เป็นนักเรียนรู้สิ่งแวดล้อม หวังให้การศึกษาเพื่อความยั่งยืนผลิตคนที่มีคุณภาพในทุกช่วงวัย
เมื่อถอดบทเรียนจากเมืองแห่งการเรียนรู้ในแต่ละประเทศ พบว่า สังคมไม่ควรตีความการศึกษาจำกัดแค่เด็กและเยาวชน แต่ควรมองถึงการจัดการศึกษาของคนทุกช่วงวัย โดย ธันว์ธิดาชี้ว่า ทุกช่วงวัยมีความสำคัญและจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการเรียนรู้ หากรอเด็กและเยาวชนจบการศึกษาจะไม่ทันการ เพราะฉะนั้นเราควรเพิ่มทักษะในวัยแรงงานให้เขาสามารถตอบโจทย์โลกของงานที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนอาชีพจำนวนมากจะเกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว
ธันว์ธิดา เสนอว่า เพื่อตอบโจทย์การศึกษาที่เปลี่ยนไป การเรียนรู้ควรกว้างกว่าเขตรั้วโรงเรียนเพื่อให้คนทุกวัยสามารถพัฒนาได้ โดยยกเอากรณีนโยบาย Kartu Prakerja (โปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้ของคนวัยทำงาน) ในอินโดนีเซียเป็นกรณีศึกษา ซึ่งมีข้อค้นพบว่า ประชากรผู้ใหญ่ในประเทศ 86% ไม่เคยได้รับการฝึกอบรม จึงได้มีการส่งเสริมทักษะให้แก่ประชากรผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่อยู่นอกระบบการศึกษาจำนวน 17 ล้านคน แนวทางการจัดนโยบายเน้นไปที่การเสริมทักษะผู้ประกอบการ ผู้เข้าอบรมได้ค่าตอบแทนหลังฝึกอบรมและมีการจับคู่งานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนจัดหน่วยการเรียนรู้ 183 แห่งทั่วประเทศ ผลประเมินพบว่า อัตราการมีงานทำเพิ่มขึ้น 18% ทักษะประกอบการเพิ่มขึ้น 49% และรายได้เพิ่มขึ้น 20%
รศ.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร บพท. กล่าวว่า ทั่วโลกเห็นตรงกันว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ใหญ่กว่าการศึกษาคือการเรียนรู้ และใหญ่ที่สุดคือการพัฒนามนุษย์ โดยระบบนิเวศของเมืองแห่งการเรียนรู้ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบสำคัญคือ 1) การร่วมมือระหว่างหน่วยงาน 2) แผนนโยบาย 3) นักจัดการเรียนรู้ในเมือง 4) กองทุน 5) กลยุทธ์การจัดการศึกษา และ 6) เทคโนโลยี นวัตกรรม โดยเฉพาะข้อสุดท้ายมีความสำคัญมากต่อการปรับตัวในโลกยุคสมัยใหม่
รศ.ปุ่น ชี้ว่าเราจะฝากหน้าที่จัดการศึกษาไปที่หน่วยกลางอย่างกระทรวงศึกษาธิการเพียงลำพังไม่ได้ นโยบายการศึกษาเฉพาะพื้นที่จะเกิดขึ้นได้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานท้องถิ่นต้องร่วมมือกัน ชี้ อย่าติดกับดักการศึกษาที่ยึดโยงอยู่แค่โรงเรียน คนที่เข้าใจท้องถิ่นมากที่สุดคือคนท้องถิ่น ฉะนั้น อย่าทิ้งให้โรงเรียนมีใครเป็นเจ้าของอยู่ฝ่ายเดียว เพราะโรงเรียนเป็นเครื่องมือของการสร้าง Lifelong Learning ซึ่งชุมชนต้องเข้าไปเป็นเจ้าของเอง และนี่เป็นพื้นที่ฐานของ Learning City ที่ยั่งยืน
“อย่าไปติดกับดัก School-based อย่างเดียว [การศึกษาเน้นโรงเรียน] เราพยายามบอกว่าโอกาสของพวกเรา มันเป็น Non-school ด้วย [การศึกษานอกโรงเรียน] แล้วบทบาทคนที่จะริเริ่มคือต้องเป็นท้องถิ่น เพราะคนที่เข้าใจท้องถิ่นไม่ใช่ส่วนกลาง แต่เป็นคนในพื้นที่ที่เข้าใจโจทย์ของบ้านเกิดมากที่สุด”
รศ.ดร. ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม
อิษฏ์ ปักกันต์ธร นักวิชาการอาวุโส กสศ. ระบุว่า ในเมืองที่จะพัฒนาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ นักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ต้องระบุให้ได้ว่าใครเป็นผู้เรียน โดยผู้เรียนรู้จะสอดคล้องกับโจทย์ปัญหาของเมือง เช่น หากเมืองมีปัญหาผู้สูงอายุจำนวนมาก อาจจะสร้างการเรียนรู้ที่เน้นไปที่ผู้สูงวัย เป็นต้น นอกจากนี้ อิษฏ์ยังได้ฝากโจทย์เรื่องของภัยพิบัติว่าเป็นเรื่องที่เพิกเฉยไม่ได้ หลายประเทศอย่างญี่ปุ่นได้สร้างให้พลเมืองของเขาสร้างบทเรียนจากภัยพิบัติเหล่านี้ องค์ความเหล่านี้นำไปสู่การต่อยอดพัฒนาเมืองให้รับมือกับภัยต่าง ๆ ได้ โดยการสร้างการเรียนรู้ให้คนกว่า 70 ล้านคน ไม่อาจทำได้ลำพังโดย กสศ. หรือหน่วยงานไม่กี่กลุ่ม แต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน
“ประเทศนี้ ไม่มีองค์กรไหนมีทรัพยากรมากพอที่จะจัดการให้ 70 ล้านคนเป็น learner ที่ดีได้หมด ทุกคนต้องจับมือกัน ไม่งั้นไม่สามารถเดินต่อไปได้เลย …ในอนาคต กสศ. กับ บพท. น่าจะขยายภาคี เพราะว่าแค่ 2 หน่วยงานก็ไม่อาจทำให้ 70 ล้านคนขับเคลื่อนได้ได้ดีเท่าที่ควร”
อิษฏ์ ปักกันต์ธร
ท้ายที่สุด ศุภวิชญ์ สุวรรณมณี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา เทศบาลนครยะลา ในฐานะตัวแทนจากผู้ริเริ่มการพัฒนาเมืองยะลา เมืองแห่งการเรียนรู้ เน้นย้ำว่า พื้นฐานของการจัดการเรียนรู้ในท้องถิ่นคือการมองจากความต้องการของผู้อาศัยในเมือง โดยนำจุดแข็งในเมืองมาสานต่อ ยกตัวอย่างเช่น ผ้าปากายัน มลายู วัฒนธรรมเหล่านี้จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น และนำไปสู่การจ้างงานในพื้นที่ต่อไป แรงงานที่พัฒนาในท้องถิ่นไม่ต้องออกจากบ้านเกิดเพื่อเข้าเมืองหลวงหางานทำเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ดี เมืองยะลาอยู่ในพื้นที่เหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียบุคคลในครอบครัวจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 2,000 คน ซึ่งทาง ศุภวิชญ์ชี้ว่าทางเทศบาลได้ติดตามและช่วยเหลือ ตลอดจนให้การสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อให้เขามีโอกาสในการพัฒนาชีวิตตัวเองต่อไปได้ ซึ่งทุนนี้ก็จะย้อนกลับมาเป็นแรงงานคุณภาพคืนสู่บ้านเกิด ซึ่งตัวงบประมาณด้านการศึกษาก็พยายามหาเครือข่ายร่วมมือจากทั้งในและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมให้ทุกคนในเมืองได้มีโอกาสในการศึกษาถ้วนหน้า
ศุภวิชญ์ ให้สัมภาษณ์กับทาง The Active ว่าหากนโยบายกระจายอำนาจทางการศึกษาของบางพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้จริงจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เพราะจะเป็นการช่วยเหลือให้ท้องถิ่นสามารถมีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณได้อย่างคล่องตัวและตรงจุดมากยิ่งขึ้น และตอนนี้ก็มีหลาย ๆ เมืองที่มีศักยภาพในท้องถิ่น รอวันได้ปลดล็อกและต่อยอดทรัพยากรมนุษย์ให้เก่งมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น งบประมาณเหล่านี้จะแปรเป็นนโยบายหรือทุนการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือเด็ก-ผู้คนในท้องถิ่น ให้เขาได้มีโอกาสทางการศึกษาและมีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองได้
ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้มีพื้นที่ที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จำนวน 4 เมืองหลักได้แก่ เทศบาลนครยะลา, เทศบาลนครตรัง, เทศบาลนครอุดรธานี และเทศบาลเมืองลำพูน มาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นการกระตุ้นจุดประกายแนวคิดนำไปสู่การออกแบบเชิงปฏิบัติการพัฒนาเมืองตัวแบบตามบริบทพื้นที่ต่อไป