ครูเฮ! ต.ค.นี้ ปลดภาระด้านเอกสาร ศธ. เปิดระบบ HR – ประเมินวิทยฐานะดิจิทัลเต็มรูปแบบ

‘เลขาธิการ ก.ค.ศ.’ เผยโจทย์พลิกโฉมการผลิตและพัฒนาครูล่าสุด เน้นจัดสรรอัตรากำลังเหมาะสม เพิ่มสายสนับสนุนคืนครูสู่ห้องเรียน เตรียมบริหารงานบุคคลด้วยเกณฑ์ประเมินใหม่ ใช้งานดิจิทัลเต็มสูบ

วันนี้ (21 เม.ย. 2565) รศ.ประวิต เอราวรรณ์ อนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เผยโจทย์การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า ขณะนี้มีนโยบายสำคัญได้แก่ 1.การจัดสรรอัตรากำลังครู เพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตครูให้มีคุณภาพและมีจำนวนที่เหมาะสม 2.การออกหลักเกณฑ์การประเมินครูใหม่ ลดภาระด้านเอกสารการประเมิน และ 3.การออกหลักเกณฑ์สำหรับสายสนับสนุนครู ส่งเสริมให้ครูได้ใช้เวลาอยู่ในห้องเรียนมากขึ้น

ล่าสุด คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดตัวระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และระบบการประเมินวิทยฐานะในรูปแบบดิจิทัล หรือระบบ HRMS (Human Resource Management System) และระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (Digital Performance Appraisal) หรือระบบ DPA เป็นกลไกสำคัญในการลดความซ้ำซ้อนของงานให้กับครู ซึ่งจะเข้าสู่ระบบใหม่อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 หวังตอบโจทย์โลกดิจิทัลและส่งเสริมครูยุคใหม่ที่พร้อมเปิดรับนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“สองระบบนี้จะเชื่อมโยงข้อมูลครูทั่วประเทศให้สามารถใช้งานได้ทั้งด้านการบริหารงานบุคคลและด้านการประเมินวิทยฐานะ ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการระบบบริหารงานบุคคลให้มีความสะดวก รวดเร็ว ลดความซ้ำซ้อนของงาน ลดงานเอกสาร รวมถึงลดงบประมาณ เพื่อให้ครูได้ใช้เวลาอยู่ในห้องเรียนและพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้ออกเกณฑ์อัตรากำลังในระยะ 10 ปี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานร่วมกับสถาบันผลิตครูทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการผลิตครูให้มีคุณภาพและมีจำนวนที่เหมาะสม สมดุลกับความต้องการครูในปัจจุบัน”

รศ.ประวิต กล่าวว่า อุปสรรคของการผลิตและพัฒนาครูในปัจจุบันเป็นผลที่เกิดจากวิกฤตสองระลอกคือ การปรับตัวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้ครูต้องปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ขณะเดียวกันเด็กยุคนี้ก็เติบโตมากับโลกเสมือนจริง ไม่ได้ออกมาเผชิญโลกกว้างเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อครูต้องปรับตัวด้วยการพัฒนาทักษะใหม่ จึงต้องมีการทบทวนการฝึกหัดครูใหม่ ส่งผลไปถึงเรื่องหลักสูตรและการประเมิน จากเดิมที่ผลิตครูเพื่อสอนในห้องเรียนมาเป็นการสอนรูปแบบออนไลน์ นอกจากนี้ยังพบปัญหาเชิงระบบ คือ ความต้องการครูและการผลิตครูในแต่ละปีมีจำนวนที่ไม่สมดุลกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งหากลไกเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยมีนโยบายที่เป็นคานงัดสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว ได้แก่


1.การจัดสรรอัตรากำลังของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะครูในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ด้วยการวัดจากทั้งมิติเชิงปริมาณและคุณภาพ คำนวณเกณฑ์การจัดสรรจากจำนวนเด็กนักเรียน จำนวนครูที่เกษียณในแต่ละปี รวมถึงอัตราส่วนของครูต่อเด็กในแต่ละโรงเรียน


2.การออกหลักเกณฑ์การประเมินครูใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดภาระด้านเอกสารการประเมิน

3.การออกหลักเกณฑ์สำหรับสายสนับสนุนครู ที่กำหนดให้ทุกโรงเรียนต้องมีเพื่อเป็นส่วนที่จะเข้ามาช่วยลดภาระนอกเหนือจากการสอนในห้องเรียน เช่น งานธุรการ เพื่อให้ครูได้มีเวลาจดจ่อกับการสอนและการดูแลเด็ก ๆ ในห้องเรียนมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เราได้ออกแบบกรอบนโยบายไว้และเตรียมส่งต่อให้หน่วยปฏิบัติได้ดำเนินงานต่อไป

“แม้เราจะพบว่ามีกลุ่มครูที่มีทักษะในการเรียนรู้สูง พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำไปพัฒนากระบวนการเรียนการสอน แต่กฎเกณฑ์เก่า ๆ ยังเป็นสิ่งที่ปิดกั้นและเหนี่ยวรั้งครูเอาไว้ เป็นโจทย์ที่เราต้องช่วยกันปลดออก ทั้งการลดภาระที่เกินจำเป็นเพื่อคืนครูสู่ห้องเรียน การปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้ยืดหยุ่นในสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้ครูมีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้น รวมถึงหน่วยปฏิบัติต้องมีผู้บริหารที่กล้าตัดสินใจและมีความรู้ความเชี่ยวชาญกับเรื่องที่กำลังดำเนินงาน เพื่อส่งต่อแรงขับเคลื่อนและสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทั้งครู ผู้ปกครอง และนักเรียนที่อาจเกิดความกังวลจากการปรับตัวสู่ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม