สภา กทม. ประกาศ Kick off แก้เหลื่อมล้ำการศึกษา

เร่งผลักดันงบฯ และกลไกภาคสนาม ส่ง ส.ก. นำร่องสำรวจเก็บข้อมูลเด็กใน กทม. 50 เขต ร่วมกับ กสศ. ลุยช่วยเหลือ เด็กยากจนในระบบ -เด็กหลุดจากระบบเร่งด่วน พร้อมเข้าไปร่วมมือพัฒนานวัตกรรม

วันนี้ ​(2 ส.ค. ​2565) วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร ประกาศ Kick off แก้เหลื่อมล้ำการศึกษา กทม. พร้อมร่วมมือ กสศ. เก็บข้อมูลผลสำรวจเด็กใน กทม. อย่างจริงจังเริ่มใน โรงเรียนสังกัด กทม. ผ่านเวทีแถลงข่าว “ยุติปัญหา กทม. เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ชั้น 1 ฝั่งเหนือ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง

วิรัตน์ ระบุว่า เกือบ 12 ปีที่ สภากรุงเทพมหานคร ไม่ได้มีการเลือกตั้ง กระทั่ง วันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประชาชนกว่า 2 ล้าน 6 แสนคน ได้ออกมาใช้สิทธิเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ทั้ง 50 คน เข้ามาตัวแทนในการทำหน้าที่พิจารณาข้อบัญญัติต่าง ๆ การกำกับควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร และเข้ามาเป็นปากเป็นเสียงให้กับพี่น้องประชาชนตั้งแต่การหาเสียง จนถึงเวลานี้ที่ สภา กทม.กำลังพิจารณาร่างข้อบัญญัติ กทม.เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566

โดยหนึ่งในประเด็นที่ชาว กทม.สะท้อนผ่าน ส.ก.ทั้ง 50 เขต คือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รายได้ของแต่ละครัวเรือนลดลง หลายคนตกงานและยังไม่สามารถหางานทำที่มั่นคงได้ ขณะที่รายจ่ายในชีวิตประจำวัน ถีบตัวสูงขึ้น และที่น่ากังวล คือผลการสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนใน กทม.มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงกว่า ค่าเฉลี่ยครัวเรือนทั่วประเทศ ถึง 1.5 เท่า ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล และใน กทม. เองก็ยังไม่มีหน่วยงานใดที่ลงมาเก็บข้อมูลสำรวจเด็กใน กทม.อย่างจริงจัง

สถานการณ์โควิด-19 ปัญหาความเหลื่อมล้ำใน กทม. ส่งผลโดยตรงต่อเด็ก และเยาวชนของเรา โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะทางบ้านยากจนถึงยากจนพิเศษ พวกเขากำลังเผชิญกับความยากลำบาก และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเรียนต่อหรือหยุดการเรียนกลางคัน…

ปัญหานี้เป็นเรื่องเร่งด่วน และเป็นหน้าที่โดยตรงของ ส.ก.ทั้ง 50 เขต รวมถึงสภากรุงเทพมหานคร ที่จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษ

ที่ผ่านมา โรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง ยังไม่เคยมีการเก็บข้อมูลเด็ก แต่โชคดีที่เรามีสมาชิก สภาฯ กทม. เข้ามาช่วยแก้ปัญหา และเติมเต็มข้อมูลส่วนที่ขาดหายไป ร่วมกับ กสศ.”

วิรัตน์ มีนชัยนัน ประธานสภา กทม.

วิรัตน์ ย้ำว่า กองทุน กสศ. เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 แต่ กทม. และพัทยา ยังไม่เคยได้รับเงินจาก กองทุนนี้เลย เราเหลือแค่ 2 พื้นที่ที่จะมีกองทุนเข้ามาช่วยอุดช่องว่างเด็ก ๆ 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

เรื่องแรก คือ “เด็กในระบบ” หรือ นักเรียนกว่า 2.6 แสนคนที่กำลังศึกษาอยู่ใน โรงเรียน สังกัด กทม. 437 แห่งของเรา นักเรียนกลุ่มนี้มีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องช่วยผลักดันให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม คือการสนับสนุนให้ คุณครูและโรงเรียนในสังกัด กทม.ลงเยี่ยมบ้านและค้นหา คัดกรอง “นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ” ร่วมกับ กสศ. เพื่อทำให้เราสามารถรู้ถึงสถานการณ์ปัญหา และวางระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกมิติเป็นรายคน รวมถึงสามารถจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข จาก กสศ. เพื่อบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียนให้แก่เด็กและเยาวชนในครอบครัวยากจนระดับรุนแรงไม่ให้มีความเสี่ยงในการหลุดจากระบบการศึกษา

เรื่องที่สอง เป็นงานยากที่มีความท้าทายอย่างมาก เกี่ยวกับ “เด็กนอกระบบ” เพราะจนถึงเวลานี้ เรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า กทม. มีเด็กนอกระบบอยู่เท่าไหร่ แต่สำคัญกว่าจำนวนว่ามีเท่าไหร่ ก็คือ ปัญหาความเดือดร้อนที่พวกเขาเจออยู่

“ผมเชื่อว่า งานนี้จะไม่เกินกำลังความสามารถ หาก ส.ก.ทั้ง 50 เขต จับมือกับฝ่ายบริหารและสำนักงานเขต และ กสศ. เพื่อพัฒนากลไกการทำงาน ร่วมกับชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ ในการเข้าถึงและพัฒนาระบบรองรับที่เหมาะสมกับ เด็กและเยาวชน แต่ละคน”

เรื่องสุดท้าย คือ การพิจารณาว่า ยังมีปัญหาอะไร และเด็กกลุ่มไหน ที่ กทม.ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษ ควรจะเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนา “นวัตกรรม” การทำงานเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาร่วมกันได้

“วันนี้ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในทางประวัติศาสตร์ ที่ สภากรุงเทพมหานคร และ ส.ก.จากทุกพรรค ทุกกลุ่มการเมือง จะร่วมกันประกาศความพร้อมในการเป็น ‘กลไก’ ที่จะประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อเดินหน้ายุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้สำเร็จ เพราะนี่คือ สภา กทม.ยุคใหม่ สภาที่เป็นที่พึ่งของประชาชน”​

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน