ไทยให้ “กู้เพื่อการศึกษา” เกินค่าเฉลี่ยเอเชีย สวนทางติดอันดับเหลื่อมล้ำ

นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา ย้ำ กยศ. จำเป็น แต่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้ยืดหยุ่นไม่เกิน 8% ของรายได้ผู้กู้ฯ จี้ฝ่ายนโยบาย สร้างระบบผลิตคน สอดคล้อง ตลาดแรงงาน แก้เหลื่อมล้ำต้นเหตุ เพิ่มโอกาสการศึกษา

ดรามา #ล้างหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. หลังมีแคมเปญฯ ล่า 10,000 รายชื่อ ล้างหนี้ กยศ. ปรากฎการณ์นี้ สร้างข้อถกเถียงในสังคม เพราะมีทั้งคนที่เห็นด้วย-เห็นต่าง โดย กองทุน กยศ. เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2538 ด้วยทุนประเดิมจาก งบประมาณแผ่นดิน 3 พันล้านบาท จนวันนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาล เพราะมีทุนหมุนเวียน คนที่เรียนจบกลับมาชำระหนี้ได้ แต่ขณะเดียวก็มีบางส่วนที่ผิดนัดชำระหนี้ทั้งที่ตั้งใจและไม่มีงาน ไม่มีเงินจริงๆ โดย คุณชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. ออกมาเปิดเผยสถานการณ์ กยศ. ว่ามีผู้กู้กองทุนทั้งหมดราว 6.2 ล้านคน วงเงินกู้ 6.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น

  • คนที่ปิดบัญชีแล้ว 1.6 ล้านคน
  • อยู่ระหว่าง การเรียน 1 ล้านคน
  • ระหว่างชำระ 3.4 ล้านคน
  • โดยพบว่า มีผู้ผิดนัดชำระหนี้รวม​ 8.3 หมื่นล้านบาท

The Active สัมภาษณ์พิเศษ อ.เกียรติ์อนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา มธ. โดยมองว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ยังมีความจำเป็นในสังคมไทย ทำหน้าที่ได้ดี แต่ต้องไม่ลืมปรับเงื่อนไขกองทุนฯ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน โดยอ้างอิงข้อมูลจากธนาคารโลก ที่กำหนดให้ภาระผู้กู้เงินเพื่อการศึกษา ควรมีสัดส่วนไม่เกิน 8% ของรายได้ แต่ในความจริงพบว่า คนบางกลุ่มที่กู้ยืม กยศ. แบกรับภาระหนี้สูงแตะ 20-30% ของรายได้ หากต้องเผชิญกับภาวะตกงาน ดังนั้นการออกแบบกู้ยืมเงินที่ไม่เหมาะสมกับตลาดงาน ให้ยืดหยุ่นได้ตามรายได้ของผู้กู้ก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมในระยะยาวได้จริง

ธนาคารโลก กำหนดให้ผู้กู้เงินเพื่อการศึกษา ควรมี ภาระหนี้ไม่เกิน 8% ของรายได้ แต่ในความจริง ผู้กู้ กยศ. บางส่วนเผชิญภาวะตกงาน แบกรับภาระหนี้สูงแตะ 20-30% ของรายได้ การออกแบบการกู้ยืมเงินที่ไม่เหมาะสม หรือ ยืดหยุ่นได้ตามรายได้ของผู้กู้ อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมในระยะยาวได้จริง…”

อ.เกียรติ์อนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา มธ.

อ.เกียรติ์อนันต์ ยังได้เปิดเผยข้อมูล เปรียบเทียบสัดส่วนการให้เงินอุดหนุนด้านการศึกษา ผ่านโครงการเงินกู้ในเอเชีย โดยพบว่า กยศ. ของประเทศไทย ให้เงินอุดหนุนด้านการศึกษาแฝง หรือเงินอุดหนุนทางอ้อมมากกว่าหลายประเทศในเอเชีย คิดเป็น 72% ของยอดหนี้ผู้กู้แต่ละคน อธิบายได้ว่า หากผู้กู้ กู้เงิน 100 บาท รัฐจะช่วยอุดหนุน 72 และจ่ายหนี้เอง 28 บาท สาเหตุหนึ่งมาจากประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

สวัสดิการที่ดี ไม่เท่ากับ ฟรี แต่หมายถึง สวัสดิการที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าสถานะเศรษฐกิจเป็นอย่างไร

ความเห็นของ นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา มองว่า การศึกษาฟรีควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด-15 ปี ขึ้นไป ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม สร้างโอกาสในการพัฒนาคนของประเทศ แต่ต้องเพิ่มเติมงบประมาณอุดหนุนให้เพียงพอ ขณะที่อีกส่วนคือ การศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องฟรีทั้งหมด แต่ต้องมีหลักประกันทั้งเรื่องของตลาดแรงงาน และภาระการจ่ายหนี้ โดยอธิบายเหตุผลที่ต้องจ่ายเงินเพื่อการศึกษาว่า ระดับอุดมศึกษาขึ้นไป เป็นประโยชน์ที่ไม่ได้เกิดกับภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่คนที่ได้เรียนหนังสือจะมีประโยชน์ส่วนตัว (private benefit) ด้วย เกิดเป็นรายได้ส่วนบุคคล และครอบครัว หากให้กู้เรียนฟรี ถือว่าผิดหลังการทางการคลัง

ปรัชญาอุดมศึกษา-เรียนฟรีไม่มีจริง หากสังคมไทยจะเดินหน้าทำสวัสดิการฟรี จำเป็นต้องมาชวนกันทำประชาพิจารณ์อย่างจริงจังว่า สังคมยอมรับให้บัณฑิตเรียนฟรีได้แค่ไหน

ผมมองว่า การจัดการสวัสดิการที่ดี คือ การให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ตามที่ต้องการตามศักยภาพ และเข้าถึงได้โดยไม่ถูกกีดกัน โดยไม่สนใจว่าสถานะเศรษฐกิจการคลังเป็นอย่างไร”

อ.เกียรติ์อนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา มธ.

พร้อมย้ำ ปรัชญาอุดมศึกษา-เรียนฟรีไม่มีจริง หากสังคมไทยจะเดินหน้าทำสวัสดิการฟรี จำเป็นต้องมาชวนกันทำประชาพิจารณ์อย่างจริงจังว่า สังคมยอมรับให้บัณฑิตเรียนฟรีได้แค่ไหน การจัดการสวัสดิการที่ดี คือ การให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ตามที่ต้องการตามศักยภาพ และเข้าถึงได้โดยไม่ถูกกีดกัน โดยไม่สนใจว่าสถานะเศรษฐกิจการคลังเป็นอย่างไร โดย อ.เกียรติ์อนันต์ ยกตัวอย่างในต่างประเทศที่เปิดโอกาส ให้คนยากดี มีจน เข้าถึงเงินกู้ได้เหมือนกัน แต่ขณะเดียวกันในต่างประเทศก็ไม่ค่อยมี การกู้เรียนฟรี เพราะประโยชน์หลังการกู้ ตกถึงประโยชน์ส่วนบุคคลส่วนหนึ่งเช่นกัน… มีข้อเสนอสำคัญ คือ

  • นักเรียน นักศึกษา ต้องมีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินได้ว่าตนมีความสามารถในการชำระหนี้แค่ไหน ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยยังไม่มี
  • ตราบใดที่ กยศ. ยังเน้นปริมาณ มากกว่าคุณภาพของแรงงานที่ผลิตออกมาจะไม่สามาถแก้ปัญหาระยะยาวได้ จำเป็นต้องให้ฝ่ายนโยบายช่วยแก้ปัญหาภาพรวมของตลาดแรงงาน เพราะอาชีพปัจจุบันหลายอาชีพไม่สามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานได้

สรุปว่า กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ยังมีความจำเป็น และทำหน้าที่ได้ดี แต่ควรปรับให้มีความยืดหยุ่นตามการอ้างอิงธนาคารโลก คือ ผู้กู้ยืมเงินการศึกษาจะต้องจ่ายหนี้ไม่เกิน 8% ของรายได้ละการระบบให้ผู้กู้มีงานตรงตามความต้องการของตัวเอง และตลาดด้วยจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันเพื่อให้ กองทุนกู้ยืม เป็นเครื่องมือเพิ่มโอกาสทางการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน